นครราชสีมา ชาวบ้าน อำเภอบัวใหญ่ สืบสานประเพณีความเชื่อ ส่อนขวัญ ริมถนน หลังญาติเกิดอุบัติเหตุได้รับบาดเจ็บ จึงต้องเชิญขวัญกลับบ้าน ทำให้อาการเจ็บไข้หายป่วย
14 ส.ค. 65 – ชาวบ้านกำลังส่อนขวัญ ที่ริมถนนในอำเภอบัวใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา เนื่องจากเป็นความเชื่อโดยเฉพาะสำหรับผู้คนในแถบภาคอีสาน
นับเป็นหนึ่งในพิธีสำคัญที่แทบจะอยู่ในทุกๆ ช่วงชีวิตเลยทีเดียว ก่อนจะเข้าสู่พิธี ตามความเชื่อของชาวไทยท้องถิ่นแล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดมาพร้อมกับสิ่งที่เรียกว่า ขวัญ
ไม่ว่าจะเพราะเจออุบัติเหตุ เจอเหตุการณ์ผิดหวังรุนแรงในชีวิต หรือเสียใจจากอะไรก็ตาม ขวัญก็สามารถหลุดหายไปได้เช่นกัน อันเป็นสาเหตุให้เกิดอาการกินไม่ได้นอนไม่หลับ กระสับกระส่าย หายจากอาการเจ็บป่วยช้า ใจเหม่อลอยไม่มีสติ เหล่านี้เป็นสิ่งที่เรียกว่าอาการ ขวัญหาย และจำเป็นที่จะต้องจัดพิธีเรียกขวัญกลับมา
นางทองคูณ อบมาลี อายุ 68 ปี ชาวบ้าน หมู่ที่ 4 บ้านสระไผ่ ตำบลด่านช้าง อำเภอบัวใหญ่ บอกว่า จะมีการทำพิธีส่อนขวัญ โดย ส่อน แปลว่า ตักขึ้น ช้อนขึ้น เรียกอีกอย่างว่า ซ้อนขวัญ ก็ได้
ซึ่งจัดเป็นธรรมเนียมท้องถิ่นที่สำคัญอย่างหนึ่งของชาวล้านนา จะทำขึ้นในกรณีที่มีคนในครอบครัวหรือญาติพี่น้องเกิดอุบัติเหตุ หรือเรื่องสะเทือนใจบางอย่าง
โดยต้องไปทำพิธี ที่บริเวณจุดเกิดเหตุ หรือที่คิดว่าขวัญเราไปตกอยู่ แล้วเชิญขวัญกลับไปอยู่กับเจ้าของร่างที่บ้าน ถึงจะทำให้อาการเจ็บไข้ได้ป่วยดีขึ้น หรือหายเป็นปกติ
จากนั้น ผู้ทำพิธีจะนำกรวยดอกไม้ เทียน และกรวยใส่อาหารไปวางไว้ นำสวิงไปเดินช้อนขวัญบริเวณนั้น พร้อมกับพูดเชิญขวัญให้กลับมาที่บ้าน โดยที่มาประกอบพิธีส่อนขวัญในครั้งนี้ เนื่องจากญาติตัวเองประสบอุบัติเหตุได้รับบาดเจ็บจึงได้มาประกอบพิธีส่อนขวัญดังกล่าว