“สภาล่ม” การประชุมร่วมรัฐสภาเมื่อวันพุธไม่ครบองค์ประชุม เพราะ ส.ส. 2 พรรคใหญ่อ้าง “วันกำนันผู้ใหญ่บ้าน” ไม่เข้าร่วมพิจารณาร่าง พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. เพื่อให้ผ่านสภาไม่ทัน 180 วัน เพื่อทำให้ร่าง “หาร 500” ตกไปโดยอัตโนมัติ ต้องหวนกลับไปใช้ร่าง “หาร 100” ของ กกต.
เพื่อไทยพลังประชารัฐเกี้ยเซี้ยใช่ไหม โดยพฤติกรรมก็ใช่ แต่อ้างไปถึง “ดีลลับ” ช่างเพ้อเจ้อ สองพรรคใหญ่จับมือกันบนผลประโยชน์ร่วม “หาร 100” พรรคใหญ่ได้เปรียบ แล้วลงเลือกตั้งแข่งกันว่าใครจะได้ที่ 1 ซึ่งได้เปรียบกว่า แต่ยังไม่ได้หมายความว่าจะจับมือกันตั้งรัฐบาล ตามทฤษฎี conspiracy ดีลลับถีบประยุทธ์ตกเก้าอี้พาพ่อแม้วกลับบ้าน (บ้าไปแล้ว ง่ายปานนั้น)
ว่าที่จริง การจงใจทำสภาล่มของ 2 พรรคมี “ความชอบธรรม” แตกต่างกัน เพราะพรรคพลังประชารัฐชักเข้าชักออก เดี๋ยวเอาหาร 100 เดี๋ยวเอาหาร 500 แล้วก็พลิกมาคว่ำเองด้วยวิธีการน่ารังเกียจ ขณะที่พรรคเพื่อไทย ยืนหยัดหาร 100 มาตั้งแต่ต้น จนมีใบสั่งพลิกหลักการเป็นหาร 500 อย่างหน้าด้านๆ พรรคเพื่อไทยจึงอ้างว่าไม่มีหนทางอื่นแล้ว ต้องทำสภาล่มเพื่อให้กลับไปสู่หลักการหาร 100 ตามที่แก้ไขรัฐธรรมนูญกันมา
กระนั้นในสายตาสาธารณชน ก็เป็นวิธีการที่ชวนกระอักกระอ่วน แม้คนในฝ่ายประชาธิปไตยส่วนใหญ่สงวนความเห็นต่าง เก็บปากเก็บคำ รวมทั้งเห็นใจ แต่ลึกๆ ก็รู้สึกอยู่ว่า เป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม ไม่สมควร เหมือนเล่นเกมเอาชนะโดย ไม่คำนึงถึงวิธีการ แม้เป็นการย้อนศรใบสั่งสามานย์พลิกเป็น “หาร 500” ซึ่งน่าเกลียดกว่า
เรื่องนี้ถ้าให้เห็นภาพชัดต้องย้อนว่า พรรคพลังประชารัฐเป็นผู้ริเริ่มแก้ไขรัฐธรรมนูญระบบเลือกตั้ง ให้เป็นแบบรัฐธรรมนูญ 2540 บัตรสองใบ ส.ส.เขต 400 คน ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 100 คน ซึ่งโดยหลักการก็ย่อมนำไปสู่ “หาร 100” คำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์
พรรคพลังประชารัฐริเริ่ม พรรคร่วมรัฐบาล 250 ส.ว.เอาด้วย ขณะที่พรรคเพื่อไทยก็เรียกร้องระบบนี้มาตลอดเพราะพรรคไทยรักไทยเคยชนะถล่มทลาย การแก้ไขรัฐธรรมนูญจึงสำเร็จ แต่ ส.ว.ไพล่ไปรับร่างประชาธิปัตย์ที่แก้ไขไม่สะเด็ดน้ำ ยังค้างปม “ส.ส.พึงมี”
หลังรัฐธรรมนูญประกาศใช้ ก็แก้ไข พ.ร.ป.เลือกตั้ง โดยทั้ง ร่างของ กกต. พรรคร่วมรัฐบาล พรรคเพื่อไทย ต่างมุ่งไปสู่ “หาร 100” ทั้งสิ้น สภารับหลักการ ตั้งกรรมาธิการ เสียงข้างมากก็ยังยืนยัน “หาร 100” แต่ที่ไหนได้ พอเข้าสภาวาระสอง ทั้งพรรคพลังประชารัฐ พรรคร่วมรัฐบาล ส.ว. กลับพลิกให้ใช้ “หาร 500” ตามกรรมาธิการเสียงข้างน้อย
มันเป็นกระบวนการสามานย์เพราะไม่ใช่แค่เสียงข้างมากลากไป แต่ ส.ว. พรรคร่วมรัฐบาล พลิกลิ้นพลิกหลักการที่ตัวเองโหวตมาตั้งแต่ต้น เหลือแค่ ส.ส.บางคนที่ยืนยันมาตลอดแล้วพลิก ไม่ได้ เช่น ไพบูลย์ นิติตะวัน
หาร 500 ไม่ได้เลวร้าย อันที่จริงเอาหลักการมาจาก MMP ซึ่งเป็นธรรมกว่า แต่เอามาตัดตีนใส่เกือก 400-100 ตัดต่อพันธุกรรมมาร ไม่มีเกณฑ์ขั้นต่ำ จะทำให้คำนวณไม่ลงตัว วุ่นวาย ขัดแย้งรุนแรง
ชัดเจนว่า การเปลี่ยนกลับพลิกหลักการ เกิดจากผู้มีอำนาจหวาดกลัวเพื่อไทย “แลนด์สไลด์” เพราะหาร 100 ทำให้ได้ปาร์ตี้ลิสต์เพิ่ม แต่หลังผ่านวาระสอง หลังอภิปรายไม่ไว้วางใจ พรรคพลังประชารัฐก็ตรัสรู้ด้วยตนเอง สมศักดิ์ เทพสุทิน เพิ่งดีดลูกคิดเป็น Eureka! เพิ่งรู้ว่าหาร 100 ทำให้พลังประชารัฐได้ประโยชน์เหมือนกัน
เพื่อประโยชน์ตัวเอง พลิกหลักการไปหาร 500 เพื่อประโยชน์ตัวเอง ทำสภาล่มเพื่อกลับไปหาร 100 อยากถามพรรคประชาธิปัตย์ ที่ประกาศไม่สังฆกรรมพวกทำสภาล่ม ว่ายังร่วมรัฐบาลอยู่ทำไม
การกระทำอย่างนี้น่ารังเกียจสุดบรรยาย เหมือนประเทศ ไร้กติกา เหลือแต่กติโกงพลิกไปพลิกมา เขียนกติกาเองแท้ๆ ยังลบด้วยเท้า
แต่แน่ละ บนการกระทำอย่างหนาของพลังประชารัฐเพื่อไทยกลับร่วมมือด้วย แม้อ้างได้ว่า เพื่อไทยยืนหยัดหาร 100 ตั้งแต่ต้น ไม่มีทางเลือกอื่นต้องทำสภาล่ม เพื่อกลับผิดเป็นถูก เพื่อให้ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ
แต่มันก็มีราคาที่ต้องจ่าย จากก่อนหน้านี้ที่ประชาชนก็เบื่อหน่ายเอือมระอาการเล่นเกมการเมืองพลิกไปพลิกมาของพรรคร่วมรัฐบาลอยู่แล้ว ประชาชนย่อมหวังว่า พรรคฝ่ายประชาธิปไตยจะยืนหยัดในกระบวนการ สู้ด้วยสปิริต แม้พ่ายแพ้ ก็แพ้อย่างชอบธรรมดีกว่าชนะโดยไม่เลือกวิธีการ
สมมติเช่น สง่างามกว่าไหมถ้าพรรคฝ่ายค้านร่วมกันยืนหยัดหาร 100 เพื่อปกป้องหลักการ ชนะหรือแพ้ก็ช่างมัน ถ้ากฎหมายผ่านก็วัดใจ กกต. ศาลรัฐธรรมนูญ ว่าจะวีโต้ไหม ตีตกไหม หรือจะยอมให้เสียงข้างมากในสภาลากถูไปอย่างด้านๆ
ชนะเลือกตั้งกับชนะใจประชาชนบนความชอบธรรม มีเส้นแบ่งบางเบา สถานการณ์วันนี้ คนเลือกพรรคเพื่อไทยอาจต้องการทำอย่างไรก็ได้ให้ชนะ เพื่อไทยอาจเลือกแล้วว่า ทำอย่างไรก็ได้ให้ได้สูตรหาร 100 เพื่อแลนด์สไลด์
แต่ถ้าไม่เป็นเช่นนั้น “ราคาที่ต้องจ่าย” อาจยิ่งขาดทุนไปกันใหญ่