การแยกและแตกตัวของ “คน” แห่งพรรคประชาธิปัตย์ในห้วง 8 ปีหลังน่าจับตามอง
เริ่มจาก นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ลาออกจากตำแหน่งเลขาธิการพรรค เดินหน้าลงถนนจัดตั้งมวลมหาประชาชน “กปปส.” ในเดือนมกราคม 2557
ดำเนินมาตรการ “ชัตดาวน์” กรุงเทพมหานคร
ดำเนินการเคลื่อนไหวร่วมกับ นายถาวร เสนเนียม นายวิทยา แก้วภราดัย นายณัฐพล ทีปสุวรรณ นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์
กระทั่ง เกิดรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557
หลังรัฐประหาร 2557 และเข้าสู่การเลือกตั้งในเดือนมีนาคม 2562
นายสุเทพ เทือกสุบรรณ มีบทบาทเป็นอย่างสูงในการก่อตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทย โดยมีส่วนหนึ่งของตระกูล “จุลใส” เข้าร่วม
นายถาวร เสนเนียม นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ยังอยู่พรรคประชาธิปัตย์
หลังการเลือกตั้งพรรคประชาธิปัตย์มีมติเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ลาออกจากส.ส. ลาออกจากหัวหน้าพรรค
มีการเลือกตั้งได้ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ เป็นหัวหน้า
สภาพกายในพรรคประชาธิปัตย์ในยุค นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ โลดโผนตื่นเต้น
นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ลาออกและได้รับแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
นายกรณ์ จาติกวณิช ลาออกไปจัดตั้งพรรคกล้า
นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ลาออกแล้วไปปักหลักอยู่กับพรรครวมพลังประชาชาติไทยอยู่ระยะหนึ่งก่อนไปลงหลักปักฐานที่พรรคไทยภักดี
โดยมี นายถาวร เสนเนียม เป็นที่ปรึกษาอยู่เงียบๆ
เด่นชัดว่าคนที่แข่งตำแหน่งหัวหน้าพรรคกับ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ลาออกเรียบ
ไม่ว่า นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ไม่ว่า นายกรณ์ จาติกวณิช ไม่ว่า นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม รวมถึง นายวิทยา แก้วภราดัย ก็จากไปอย่างเงียบๆ
คาดกันว่ายังจะมี “บิ๊กเนม” อีกหลายคนตามไปอีก