งามหน้าอีกแล้ว! สภาล่ม ‘ชวน’ กรีดยับ สะพัดพรรคใหญ่เล่มเกมล้มกระดานหาร 500

Home » งามหน้าอีกแล้ว! สภาล่ม ‘ชวน’ กรีดยับ สะพัดพรรคใหญ่เล่มเกมล้มกระดานหาร 500


งามหน้าอีกแล้ว! สภาล่ม ‘ชวน’ กรีดยับ สะพัดพรรคใหญ่เล่มเกมล้มกระดานหาร 500

สภาล่ม เล่นเกมลาก กม.เลือกตั้งส.ส.ล้มกระดาน 500 หาร ‘ชวน’สุดยื้อ รอโหวตมาตราละเกือบชั่วโมง หวั่นภาพลักษณ์สภาเสียหาย กรีดรับใช้อะไรก็ไม่รู้

วันที่ 3 ส.ค.2565 ที่รัฐสภา มีการประชุมร่วมรัฐสภา ที่มีนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานที่ประชุม ซึ่งเริ่มขึ้นเมื่อเวลา 10.00 น. โดยพิจารณา ร่างพ.ร.บ.กำหนดระยะเวลาดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรม พ.ศ… ที่กรรมาธิการ(กมธ.) พิจารณาเสร็จแล้วซึ่งมี 12 มาตรา

โดยบรรยากาศการประชุม เป็นอย่างทุลักทุเล ใช้เวลาพิจารณากว่า 3 ชั่วโมงผ่านไปได้เพียง 5 มาตรา และยังเจอปัญหาเรื่องรอองค์ประชุม จนทำให้ นายคำพอง เทพาคำ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) ลุกสอบถามนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุมว่า เมื่อปี 2512 ต้องใช้เวลารอองค์ประชุมนานแบบปัจจุบันหรือไม่

ทำให้ นายชวน ตอบว่า ตอนนั้นมีสมาชิก 219 คน ประชุมที่ตึกอนันตสมาคม การลงมติคือยกมือ มีเจ้าหน้าที่นับจำนวน ไม่มีการกดบัตร ส่วนการอภิปรายต้องยกมือ แล้วเดินออกไปที่ไมโครโฟน ไม่ได้สะดวกแบบนี้ สมัยนั้นมีส.ส.น้อย ที่นั่งจำกัด

“ผมชื่นชมพวกเราทำหน้าที่ของตัวเองอย่างดีเท่าที่ทำได้ ข้อที่ไม่ควรละเลย คือหน้าที่ ที่ต้องประชุมและลงมติ ผมไม่หวังว่าจะได้ 100 ทั้ง 100 แต่เกินกึ่งหนึ่ง 2 คน หรือ 5 คน ก็ชื่นชม ที่บางคนให้ประกาศชื่อคนกดบัตรแสดงตนนั้น ผมขอบอกว่าไม่มีความลับ มีเอกสารในสภา ผมเตือนด้วยความหวังดี เพราะมีประสบการณ์ คือ ชื่อของเราจะปรากฏตอนหาเสียงเขตเลือกตั้ง ที่คู่ต่อสู้เอาไปประจาน ความไม่รับผิดชอบไม่เข้าประชุม ผมเตือนด้วยความหวังดี ให้ระวัง วันนี้ไม่เกิด วันหน้าเกิด ประชาธิปไตย ที่ทุกคนมีสทธิเปิดเผยข้อมูล ทั้งคำพูดและการลงมติในสภา ไม่เป็นความลับ” นายชวน กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การพิจารณาเป็นไปอย่างล่าช้า แต่ละมาตรา ต้องรอเวลาองค์ประชุมเกือบ 30 นาที บางมาตราเกือบชั่วโมง ขณะที่เสียงองค์ประชุมเกินกึ่งหนึ่งมาเพียง 1-3 เสียงเท่านั้น

กระทั่งถึงมาตรา 8 นายชวน ได้รอสมาชิกมาเป็นองค์ประชุมนานกว่า 20 นาทีที่ยังขาด 20 กว่าคน ทำให้ส.ว.กล่าวเสนอว่าถ้าเป็นเช่นนี้ ก็ให้ยุบสภาไปเลย

นางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวย้อนว่า “ขอให้ยุบส.ว. ไปก่อนเลย และเวลาที่องค์ประชุมขาด 4-5 คน ก็ขอไปเชิญผู้นำเหล่าทัพมาร่วมประชุมด้วย”

ทั้งนี้ นายสมชาย แสวงการ ส.ว. ในฐานะกมธ.กฎหมายลูก ได้ลุกขึ้นสอบถามนายชวน ว่าจะมีการพิจารณากฎหมายลูกในวันนี้เลยหรือไม่ เพราะกมธ.มาคอยอยู่หน้าห้องแล้ว หรือจะไปพิจารณาวันที่ 9-10 ส.ค.ตามที่หารือกับวิป 3 ฝ่ายไว้

ด้านนายชวน กล่าวว่า ตนตั้งใจว่าเมื่อจบร่างกฎหมายนี้แล้วจะนำกฎหมายลูกเข้าทันที ส่วนการนัดประชุมรัฐสภาในวันที่ 9-10 ส.ค. เป็นการคาดการณ์ ยังไม่ตกลงอะไร เนื่องจาก ส.ว.แจ้งว่าจะมีการประชุมนัดพิเศษ ในวันที่ 9 ส.ค. โดยจะหารือกับวิป 3 ฝ่ายอีกครั้งว่าจะทำอย่างไร

นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังธรรมใหม่ หารือว่า ขอให้ประธานส่งสัญญาณให้กมธ.งบประมาณ ที่ประชุมอยู่มาร่วมเป็นองค์ประชุมรัฐสภา เพราะกังวลว่าร่างพ.ร.ป.เลือกตั้งส.ส. ที่อยู่ในวาระ 3 จะตกไป ถ้าญัตตินี้ตกไป แต่จะทำให้สภานี้เสียชื่อแน่นอน

ทำให้นายชวน ชี้แจงว่า ตนได้คุยนอกรอบกับนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ในฐานรองประธานรัฐสภาแล้วเมื่อสักครู่ว่า วุฒิสภา จะประชุมวันที่ 8 ส.ค.และประชุมนัดพิเศษในวันที่ 9 ส.ค. แต่นายพรเพชร บอกว่าวันที่ 9 ส.ค. อนุญาตให้ประชุมร่วมรัฐสภาได้ ดังนั้น วันที่ 4 ส.ค.จะหารือกับวิป 3 ฝ่าย เพราะสภาต้องรับผิดชอบ

“หากสภาเสื่อม ถ้าไปทำอะไรก็ตามที่ไม่รับใช้สภา แล้วไปรับใช้อะไรก็ไม่รู้ แล้วทำให้สภาเสียหาย และเสื่อมเสีย ซึ่งผมไม่ต้องการให้สภาเสื่อมเสีย ผมถึงขอร้องให้อดทน และพวกเราก็ไม่บ่นกัน เพราะปกติหากองค์ประชุมไม่ครบ ก็จะขอเลิกประชุมกัน” นายชวน กล่าว

กระทั่งเวลา 17.00 น. นายชวน ได้แจ้งจำนวนองค์ประชุมว่า ขณะนี้มี 357 เสียง หรือขาดอีก 7 เสียงจึงจะครบองค์ประชุม ซึ่งในมาตรา 8 นี้ใช้เวลารอเพื่อโหวตถึง 53 นาที จากนั้น นายชวนจึงสั่งปิดประชุมในเวลา 17.01 น.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มส.ส.ที่เล่นเกมไม่ยอมเข้าแสดงตนเป็นองค์ประชุม ประกอบด้วย พรรคเพื่อไทย (พท.) และพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะการโหวตมาตรา 8 ส.ส.อยู่ในห้องประชุมพรรคละ 3-4 คนเท่านั้น รวมถึงพรรคเศรษฐกิจ (ศท.) ของร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า หัวหน้าพรรค เพราะไม่ต้องการใช้สูตรคำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อ ด้วยการหาร 500 จึงพยายามไม่ยอมให้ร่างพ.ร.ป.การเลือกตั้งส.ส. ผ่านวาระ 3 ทันวันที่ 15 ส.ค. ซึ่งจะครบกรอบเวลา 180 วัน เพราะขณะนี้พรรคส่วนใหญ่ โดยเฉพาะพรรคขนาดใหญ่ต้องการกลับไปใช้การคำนวณหาร 100

ทั้งนี้ถือว่าประชุมร่วมรัฐสภาล่มเป็นครั้งที่ 3 โดยครั้งแรก เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 5 ก.ค. ระหว่างพิจารณาร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. วาระสอง, ครั้งสอง วันที่ 27 ก.ค. ระหว่างพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการปรับเป็นพินัย วาระสอง และครั้งที่สาม วันนี้ (3 ส.ค.) ระหว่างพิจารณาร่างพ.ร.บ. กำหนดระยะเวลาดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรม พ.ศ…

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ