หากเป็นเกมฟุตบอลในเครื่องเล่นเพลย์สเตชั่น ค่าพลังของนักเตะแต่ละคนจะพอบอกได้ว่าพวกเขาเล่นตำแหน่งไหน ทำหน้าที่อะไรเป็นหลัก ด้วยค่าพลังที่แบ่งกันชัดเจนว่าใครสายรุก คนไหนสายรับ
แต่ถ้าย้อนกลับไปสัก 30 ปีก่อน หากเกมฟุตบอลแบบยุคสมัยนี้มีตั้งแต่ตอนนั้น โลธ่าร์ มัทเธอุส ตำนานนักเตะทีมชาติเยอรมันคงมีค่าพลังที่ลึกลับซับซ้อนที่สุดคนหนึ่ง ยากที่ใครจะบอกได้ว่าเขาเล่นตำแหน่งไหนกันแน่หากไม่ใช่คนที่ติดตามฟุตบอลมาก่อน
นี่คือเรื่องราวความแตกต่างหนึ่งเดียวของยุคสมัย ชายผู้ได้ฉายาว่า “ลิเบโร่คนสุดท้าย” ติดตามเรื่องราวของเขาได้ที่นี่
เยอรมัน 2 ฝั่ง
โลธาร์ มัทเธอุส ลืมตาดูโลกเมื่อปี 1961 และตอนนั้นมีหลายสิ่งหลายอย่างเกิดในประเทศของเขา “เยอรมัน”
ณ เวลานั้น เยอรมันยังคงแบ่งเป็น 2 ฝั่ง สหภาพโซเวียตคุมเยอรมันและเบอร์ลินฝั่งตะวันออก ปกครองระบอบคอมมิวนิสต์ สหรัฐอเมริกาดูแลเยอรมันและเบอร์ลินฝั่งตะวันตก ปกครองในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งฝั่ง มัทเธอุส เกิดฝั่งตะวันตก และนั่นทำให้เขาได้เจอกับเส้นทางในอาชีพนักฟุตบอลที่สดใส และง่ายกว่าชีวิตของอีกฝั่งกำแพง
Photo : New York Times
เพราะหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลงเมื่อปี 1945 อันนำมาซึ่งการแยกเยอรมันเป็น 2 ประเทศ รัฐบาลเยอรมันตะวันตก เริ่มทำการบูรณะประเทศขึ้นมาใหม่ ฟื้นฟูวิทยาการและศาสตร์แขนงต่าง ๆ อย่างจริงจัง รวมถึงฟุตบอลด้วย … ฟุตบอลของเยอรมันตะวันตกกลายเป็นมหาอำนาจที่ทั่วโลกต้องหวั่นเกรงเมื่อเผชิญหน้า พวกเขามีรูปแบบการเล่นเฉพาะตัว มีระเบียบวินัยสุดขีด และมีความสมดุลทั้งในด้านความเข้าใจและสภาพร่างกายที่ตอบโจทย์กับสไตล์การเล่นของตัวเอง และทุกอย่างก็เริ่มผลิบานตั้งแต่เยอรมันตะวันตก คว้าแชมป์ฟุตบอลโลกปี 1954 เป็นต้นมา
ต้องยอมรับว่าการถูกแบ่งประเทศเป็น 2 ฝั่ง และอยู่ในสถานะผู้แพ้สงคราม เยอรมันตะวันตก จำเป็นจะต้องทำตามธรรมเนียมโลกที่ตกลงไว้ก่อนสงครามจะเริ่ม นั่นคือผู้แพ้ต้องชดใช้ความเสียหายทั้งหมดจากที่ผู้ชนะเสียไปในสงครามครั้งนั้น และเยอรมันตะวันตกต้องทำตามกฎ พวกเขาต้องเสียสิ่งที่เรียกว่า “ค่าปฏิกรรมสงครามโลก” ให้ อังกฤษ, ฝรั่งเศส และ สหรัฐอเมริกา ชาติผู้นำแห่งกลุ่มสัมพันธมิตร นั่นจึงทำให้ เยอรมันตะวันตก ต้องดิ้นรนอย่างมาก รีดขุมกำลังทุกอย่างที่มี เพื่อให้ประเทศตัวเองสามารถชดใช้ค่าปฏิกรรมสงครามโลก ไปพร้อม ๆ กับการสร้างตัวเองให้กลับมาเป็นมหาอำนาจในด้านต่าง ๆ อีกครั้ง
ซึ่งจุดนี้เอง ฟุตบอลเป็นสิ่งหนึ่งที่ได้ผลประโยชน์จากแนวคิดของประชาชนในประเทศ ที่ต้องการถีบตัวเอง ยกระดับ และกลับมาสู่ความยิ่งใหญ่ให้ได้ แม้ว่าจะโดนกดแค่ไหนก็ห้ามยอมแพ้ ซึ่งเรื่องนี้ โลธาร์ มัทเธอุส ที่เกิดมาในยุคหลังแพ้สงครามก็ยอมรับว่ามันมีผลกับเขามากจริง ๆ
Photo : Bild
“วิริยะ ความสมบูรณ์แบบ แรงผลักดัน ประสิทธิภาพ และความสำเร็จที่ไม่ต้องการข้ออ้างกับการประนีประนอม นั่นคือสิ่งที่ผมเรียนรู้จากฟุตบอลของเราในเวลานั้น” มัทเธอุส เล่าถึงฟุตบอลในยุคเยอรมันตะวันตก
“สำหรับผมแล้ว เราใช้ชีวิตอยู่กับความกระหายตลอดเวลา ความหมายของชีวิตไม่ได้หมายถึงการแค่มีลมหายใจ แต่มันคือการดิ้นสู้ เอาตัวรอด และก้าวไปข้างหน้า และพิชิตความสำเร็จให้ได้”
คาแรคเตอร์ ของความเป็นคนที่ไม่เคยลดละความพยายาม และหิวกระหาย ทำให้ มัทเธอุส ก้าวหน้าในด้านฟุตบอลอย่างรวดเร็ว ประกอบกับเขาเป็นคนแคว้นบาวาเรีย ที่มีความหยิ่งยะโส และจองหองในศักดิ์ศรี ยิ่งทำให้เรื่องราว มัทเธอุส ในวัยเด็ก ทุกอย่างที่หลอมให้เขากลายเป็นนักเตะที่ถูกเรียกว่า “สมบูรณ์แบบที่สุด” ได้เป็นอย่างดี
“ตอนเด็ก ๆ นั้น เด็กทุกคนย่อมจินตนาการเกี่ยวกับการได้ของเล่นชิ้นใหม่เหมือนกันหมด แต่พ่อกับแม่ของผมค่อนข้างยากจน ท่านไม่มีกำลังซื้อของอะไรให้ผมมากนัก ดังนั้นวันต่อวันของผมจึงผ่านไปกับการเตะฟุตบอล”
Photo : NerdMunchen
“จากนั้นไม่นานผมก็ไปเล่นให้สโมสรท้องถิ่นที่ชื่อว่า 1. FC Herzogenaurach ผมเล่นให้กับนักเตะรุ่นอายุ 14 ปีตั้งแต่ที่ตัวเองอายุ 10 ขวบ ผมเป็นกองหน้ามาตลอด ผมยิงกระจายเลย ทุกคนเลยผลักดันผมในตำแหน่งนี้ไปจนถึงถึงอายุ 17 ปี ซึ่งในวันแรกที่ผมไปลงเล่นกับทีมชุดนั้นแค่ช่วงเช้า พอตกช่วงบ่ายโค้ชก็เรียกผมขึ้นสู่ทีมชุดใหญ่ทันที” มัทเธอุส เล่าเรื่องฝีเท้าของตัวเองในครั้งอดีต
สมบูรณ์แบบเกินไป
ความเก่งกาจในวัยเด็กผลักดันเขาให้ไปไกลกว่าเดิม ในปี 1979 โบรุสเซีย มึนเชนกลัดบัค ติดต่อเข้ามาและเขาก็ย้ายทีมตอนอายุ 18 ปี การได้เล่นให้กับทีมระดับแถวหน้าของประเทศทำให้เขาเห็นเส้นทางชัดขึ้น จากที่เคยเล่นฟุตบอลเพื่อจะได้แข่งขันในลีกสูงสุด กลับกลายเป็นความหวังที่จะกลายเป็นหนึ่งในนักเตะที่ดีที่สุดของโลก
“ความฝันของคนเราเปลี่ยนผันได้ตามกาลเวลา ตอนเด็ก ๆ ผมอยากจะเตะฟุตบอลอาชีพ ตอนวัยรุ่น ผมอยากติดทีมชาติเยอรมัน และตอนที่ผมอายุ 18 ปี ผมฝันถึงการเป็นนักเตะระดับโลก แล้วผมก็ทำมัน” มัทเธอุส กล่าว
Photo : BBC
ช่วงที่ได้เล่นกับ กลัดบัค เขาไม่ได้ประสบความสำเร็จอะไรในฐานะทีมมากมายนัก แต่ในแง่บุคคลแล้วต้องบอกว่าเจิดจรัสสุด ๆ ภายใต้การทำงานกับตำนานกุนซือที่ได้ชื่อว่ามีความเป็น “Leader” มากที่สุดอย่าง อูโด ลัทเท็ก ซึ่งเป็นคนที่เห็นความสามารถของ มัทเธอุส ที่แท้จริง เขาเชื่อว่า นักเตะที่มีพลัง, ความกระหาย, ไหวพริบ, เทคนิค และสามารถเล่นได้ 2 เท้าอย่าง มัทเธอุส จะมีประโยชน์กว่าการยืนเป็นกองหน้าโด่เด่ หากถอยเขาลงมาเป็นคนที่อ่านเกมและมีส่วนร่วมกับเกมยิ่งกว่านั้น
ดังนั้น ลัทเท็ก จึงจับเอา มัทเธอุส มาเล่นในตำแหน่งที่ว่ากันว่าเป็น “เยอรมันจ๋า” มากที่สุด นั่นคือตำแหน่ง ลิเบโร (ภาษา อิตาลี แปลว่า “อิสระ”) ซึ่งเป็นตำแหน่งที่เคยได้รับบทบาทโดยนักเตะเยอรมันที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาล ฟรานซ์ เบ็คเคนบาวเออร์ นั่นเอง
ตำแหน่ง ลิเบโร คือตำแหน่งที่ทุกวันนี้แทบไม่มีให้เห็นแล้ว หากจะอธิบายให้เห็นภาพคือ “ตัวรับอิสระ” หรือตำแหน่ง “สวีปเปอร์” คงจะไม่ผิดนัก เขาจะยืนอยู่หลังกองหลังตัวสุดท้าย และภารกิจของ ลิเบโร คือการเป็นหัวใจของแผงเกมรับในยามที่ทีมไม่มีบอล และหลังจากที่ได้กลับมาครอบครองบอลแล้ว ลิเบโร ก็จะมีหน้าที่สร้างสรรค์เกมรุกด้วยตัวเองด้วย
หากจะเปรียบเทียบให้เห็นภาพชัด ๆ โดยอิงกับฟุตบอลยุคปัจจุบันอีกสักนิดคือ หากทีมไม่มีบอล ลิเบโร ต้องทำตัวเหมือนกับ เฟอร์กิล ฟาน ไดจ์ค ที่จัดการแผงหลังในทีมให้ลงตัว และเมื่อทีมได้บอลเขาจะกลายเป็น บรูโน่ แฟร์นันด์ส ที่จะต้องเป็นคนคอยออกบอล ตัดสินแนวทางการเล่นเกมบุกให้กับทีมในแต่ละครั้ง ให้ลองนึกภาพเอาว่า มัทเธอุส ต้องเล่นประมาณไหม ถึงจะทำ 2 บทบาทนั้นในเกมเดียวได้
Photo : TeamTalk
ความสมบูรณ์แบบเกินไป ทำให้ มัทเธอุส ต้องเข้ามารับหน้าที่ ลิเบโร ไปโดยปริยาย … 5 ปี กับ กลัดบัค ผลงานของ มัทเธอุส ชัดเจนมากในแง่ของการเป็นผู้นำในเกมรับ และเป็นคนที่จบกสอร์ได้ดี 51 ประตูจาก 200 นัด มันชัดเจนว่าสถิตินี้ไม่น่าใช่สถิติของกองหลังอย่างแน่นอน
“ตอนหนุ่ม ๆ ผมไม่ใช่นักเตะที่มีพรสวรรค์ที่สุดในรุ่น แต่ผมเป็นคนที่ต้องการความสำเร็จมากที่สุด ผมไม่เคยยอมแพ้ ผมยังทำงานหนักเสมอ แม้จะเพิ่งผ่านการซ้อมไปหมาด ๆ ผมรู้อยู่แล้วว่าผมอยากจะเป็นคนที่ไปได้ไกลสุดในรุ่น”
ความกระหายนี้ ทำให้หลังผ่านไป 5 ปีที่ไปไม่ถึงตำแหน่งแชมป์ซักที (ผลงานดีที่สุดคือ อันดับ 3 ฤดูกาล 1983-84) มัทเธอุส รู้สึกว่าช่วงเวลาของเขากับ กลัดบัค จบลงแล้ว และเขาต้องการไปอยู่กับทีมที่ใหญ่ขึ้น เก่งกว่า และทะเยอทะยานกว่า ที่สำคัญคือเหมาะกับตัวเขามากกว่า นั่นคือ บาเยิร์น มิวนิค ที่กำลังสร้างยุคสมัยใหม่
“ผมย้ายไปบาเยิร์น เพราะผมอยากจะได้แชมป์ หลังจากย้ายไป ผมทำทุกอย่างตามที่ผมคิดไว้ นั่นคือการการคว้าแชมป์ 3 สมัยติดต่อกัน (1985 ถึง 1987) ผมเป็นคนที่เลือกบันไดก้าวต่อไปของตัวเองในเวลาที่เหมาะสมตลอด ผมสามารถย้ายไปอยู่กับพวกเขาได้เร็วกว่านั้นอีก แต่ผมรอจนถึงจุดที่ตัวเองพร้อมสำหรับความท้าทายอื่นก่อน”
ความสุดยอดของ มัทเธอุส เป็นไปจริงตามที่เขาว่า เขายิงประตูกระจายไม่ว่าจะกับสโมสรไหน หลังคว้าแชมป์กับ บาเยิร์น เขาย้ายไป อินเตอร์ ในปี 1988 และหลังจากนั้นอีก 2 ปี เขากลายเป็นนักเตะที่เก่งที่สุดในโลก ที่การันตีด้วยรางวัล บัลลงดอร์ ปี 1990
Photo : DFB
นักเตะทุกคนก้าวขึ้นมาพิสูจน์ตัวเองด้วยวิธีการที่ตัดเองถนัด และ มัทเธอุส คือผู้สร้างคำที่เรียกว่า “ความสมบูรณ์แบบ” ในยุคสมัยนั้น เขาประสบความสำเร็จทุกที่ที่ไป คว้าแชมป์ลีกกับ บาเยิร์น, อินเตอร์ รวมถึงคว้าแชมป์โลกและแชมป์ยุโรปกับเยอรมันตะวันตก หากจะมองหาความสมบูรณ์แบบในชีวิตค้าแข้งนักเตะคนหนึ่ง เส้นทางของ มัทเธอุส ก็พอจะเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนได้ในระดับหนึ่งเลยทีเดียว
ลิเบโรคนสุดท้าย
หากมองในแง่ของความสำเร็จนั้น โลธาร์ มัทเธออุส อาจจะยังเทียบกับนักเตะในยุคใหม่ ๆ ผู้คว้าทุกแชมป์ที่ลงแข่งขันอย่าง ชาบี เอร์นานเดซ, อันเดรียส อิเนียสต้า หรือแม้กระทั่ง เซร์คิโอ รามอส ไม่ได้ เหตุผลก็เพราะว่าเขาไม่เคยคว้าแชมป์ ยูฟ่า แชมเปียนส์ ลีก (หรือ ยูโรเปียน คัพ ในอดีต) เลยสักสมัย นั่นอาจจะทำให้ชื่อเสียงและความยิ่งใหญ่ของเขาถูกลดทอนลงไปบ้างเมื่อกาลเวลาผ่านไป
สำหรับ มัทเธอุส เขายืนยันว่าเรื่องนี้ไม่ได้สำคัญอะไรกับเขามากนัก แม้การไม่ได้แชมป์ยุโรประดับสโมสรอาจจะนำมาซึ่งความผิดหวัง (ใกล้เคียงที่สุดคือ รองแชมป์ฤดูกาล 1998-99 ที่โดน แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ยิง 2 ประตูช่วงทดเจ็บแซงคว้าแชมป์) แต่ที่สุดแล้วเขาก็มองโลกในแง่ดีและมองว่าชีวิตคนเราบางครั้งก็ต้องแพ้กันบ้าง
Photo : TalkSport
“ไม่มีใครชนะทุกสิ่งทุกอย่าง ของแบบนี้มีน้อยคนมากที่จะได้สัมผัส แต่ผมเองก็พอใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเอง ผมเล่นฟุตบอลในระดับสูงถึง 22 ปี ช่วงเวลาอันยาวนั้นผมได้ถ้วยแชมป์มากมาย ผมไม่ปฏิเสธหรอกนะว่า ถ้วยแชมเปียนส์ลีกจะทำให้อาชีพของผมสามารถใช้คำว่าสมบูรณ์แบบได้ แต่เท่านั้นก็มากพอจะทำให้ผมภูมิใจกับโชคชะตาและสิ่งทีเกิดขึ้นกับผม หากถามว่าผมมีอะไรติดค้างอีกไหมในชีวิตนักเตะ ผมมั่นใจว่าไม่มี ผมได้ทำทุกอย่างเท่าที่ตัวเองจะทำได้แล้ว” เจ้าของฉายา “ซูเปอร์แมน” กล่าว
ท้ายที่สุดแล้ว มัทเธอุส ได้ทำในสิ่งที่หลายคนทำไม่ได้เช่นกัน เขาเป็นนักฟุตบอลผู้กวาดแทบทุกรางวัลในฐานะทีมก็จริง แต่ถ้าในฐานะส่วนตัวแล้ว มัทเธอุส คือผู้ชนะอย่างแท้จริง เขาได้ทั้งบัลลงดอร์ รางวัลนักเตะยอดเยี่ยมของฟีฟ่า คว้าแชมป์ยูโรกับทีมชาติตั้งแต่ยังเป็นวัยรุ่น และคว้าแชมป์โลกในฐานะที่ตัวเองเป็นกัปตันทีม
เหนือสิ่งอื่นใด คือทุกวันนี้นักเตะในตำแหน่ง ลิเบโร หรือ สวีปเปอร์ อย่างเขาไม่มีอีกต่อไปแล้ว แม้จะมีกองหลังที่ดี ๆ มากมาย แต่น้อยคนที่จะทำในสิ่งที่ครอบคลุมได้เท่ากับที่ มัทเธอุส ทำ ตำแหน่ง “ลิเบโรคนสุดท้าย” คือสิ่งที่โลกต้องมอบให้เขาอย่างไร้ข้อโต้แย้ง ไม่ว่าเหตุผลของการเป็นคนสุดท้ายอาจจะเกิดขึ้นจากเทรนด์ฟุตบอลที่เปลี่ยนไป หรือ อาจจะเป็นเพราะ ลิเบโร นั้นเป็นอะไรที่ตกยุคก็ตาม
Photo : Irish Miror
อย่างไรก็ตาม ตำนาน ลิเบโร ผู้สุดเหวี่ยงในชีวิตค้าแข้ง เดินทางไปไหนก็ประสบความสำเร็จ และยังมีบุคลิกยิ่งใหญ่ที่คนรอบข้างใคร ๆ ต่างชื่นชม ก็ต้องถือว่า มัทเธอุส เกิดมาคุ้มแล้ว สิ่งที่เขาทำไว้จะกลายเป็นอดีตที่หาชมได้ยากยิ่ง ในวันที่ ลิเบโร ไม่มีอีกแล้ว ทุกคนจะกลับมาดูคลิปวีดีโอของเขาว่า ที่สุดแล้วตำแหน่งนี้ต้องการนักเตะที่สุดยอดขนาดไหนกันแน่