วราวุธ ร่วม NIDA บรรยายพิเศษ ผู้บริหารท้องถิ่น 76 จังหวัด ย้ำท้องถิ่นจัดการสิ่งแวดล้อม เพื่อบรรลุเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจก
เมื่อวันที่ 22 ก.ค. ที่โรงแรมอมารี ดอนเมือง แอร์พาร์ต กรุงเทพฯ นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เข้าร่วมบรรยายพิเศษ ในหัวข้อ “ความยั่งยืนมิติใหม่ : ท้องถิ่นจัดการสิ่งแวดล้อมและทรัพยากร เพื่อบรรลุหมุดหมาย SDGs ทั่วประเทศไทย พ.ศ.2573”
ภายใต้หลักสูตร “ผู้บริหารท้องถิ่นที่ยั่งยืน (Leadership for Sustainable Local Authority : LSL)” สําหรับนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด 76 จังหวัด ซึ่งจัดโดย บริษัท กรีน อีโคโลจี จํากัด ร่วมกับ คณะบริหารการพัฒนาสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
นายวราวุธ กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนับเป็นปัญหาสำคัญ โดย World Economic Forum มีรายงาน The Global Risks Report 2022 โดยพิจารณาความเสี่ยง 5 ประเภท ได้แก่ เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม ภูมิรัฐศาสตร์ สังคม และเทคโนโลยี โดยความล้มเหลวในการจัดการกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสภาพอากาศที่รุนแรง เป็นประเด็นความเสี่ยง อันดับ 1 และ 2 ของโลกตามลำดับ
ทั้งนี้ประเทศไทยเป็น 1 ในประเทศที่มีความเสี่ยงจากผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสูง ในรายงานจาก German watch ที่ประเมินว่าประเทศไทยมีความเสี่ยงอยู่ในลำดับที่ 9 ของโลก ในปี 2021 อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยก็มีส่วนในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกซึ่งเป็นสาเหตุของสภาวะโลกร้อนด้วยเช่นกัน
จึงเป็นที่มาของภารกิจสำคัญที่ตนได้ไปรับร่วมงานประชุม COP26 เพื่อมุ่งสู่การยกระดับเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก เมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 2564 ณ เมือง Glasgow สหราชอาณาจักร โดยภารกิจของเราคือ “ประเทศไทยจะยกระดับการแก้ไขปัญหาภูมิอากาศอย่างเต็มที่และด้วยทุกวิถีทางเพื่อให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2050 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้ในปี 2065”
นายวราวุธ กล่าวอีกว่า ในระดับท้องถิ่น การมีส่วนร่วมของท้องถิ่นมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะเป็นกำลังหลักในการเปลี่ยนแปลงโดยรวมของประเทศ ท้องถิ่นต้องเข้มแข็งและผู้บริหารต้องเข้าใจถึงแก่นปัญหา ถึงจะแก้ไขปัญหาให้บรรลุเป้าหมายได้ โดยขณะนี้เราได้ส่งแผนการดำเนินงานที่สอดคล้องกับนโยบาย BCG Economy ของรัฐบาล เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศ
ซึ่งท้องถิ่นสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในด้านการลดก๊าซเรือนกระจกและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งนี้การลดก๊าซเรือนกระจกในระดับเมือง คือการจัดการที่ต้นเหตุของปัญหา ซึ่งท้องถิ่น สามารถมีส่วนร่วมได้เช่น การลดการใช้พลังงาน การจัดการของเสีย การปลูกต้นไม้ เป็นต้น
โดยปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ความสำเร็จของการดำเนินงานในระดับท้องถิ่น สัมฤทธิ์ผลได้ต้องมาจากความตระหนักรู้ในพื้นที่ การสร้างความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในพื้นท่ี ท้ังภาครัฐ ภาคประชาสังคม ภาคเอกชน ภาคการศึกษา ภาคสื่อสารมวลชน และภาคเอกชน ซึ่งต้องขับเคลื่อนไปพร้อมๆกัน