นักวิจัยเผย น้ำแข็ง เกาะกรีนแลนด์ที่ละลายใน 3 วัน มากถึง 1.8 หมื่นล้านตัน
วันที่ 20 ก.ค. ซีเอ็นเอ็น รายงานว่า ระดับน้ำนอกชายฝั่งทางตะวันตกเฉียงเหนือของเกาะกรีนแลนด์เงียบสงบเหมือนน้ำในแก้ว ทว่าแอ่งน้ำที่สะสมบนภูเขา น้ำแข็ง ของภูมิภาคดังกล่าวเป็นสัญญาณแห่งการเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นบนแผ่นน้ำแข็ง
นักวิทยาศาสตร์บอกซีเอ็นเอ็นว่า สภาพอากาศอบอุ่นผิดปกติทางเหนือของกรีนแลนด์เป็นเวลาหลายวันทำให้น้ำแข็งละลายอย่างรวดเร็ว สามารถมองเห็นได้จากสายน้ำที่ละลายจากน้ำแข็งที่ไหลลงสู่มหาสมุทร อุณหภูมิพุ่งขึ้นราว 60 องศาฟาเรนไฮต์ (15.56 องศาเซลเซียส) อุ่นกว่าปกติ 10 องศาฟาเรนไฮต์ (-12.22 องศาฟาเรนไฮต์) ในช่วงเวลานี้ของปี
ข้อมูลจากศูนย์ข้อมูลหิมะและน้ำแข็งแห่งชาติสหรัฐระบุว่า ปริมาณน้ำแข็งที่ละลายในกรีนแลนด์ระหว่างวันที่ 15-17 ก.ค. เท่ากับน้ำ 18,000 ล้านตัน (วันละ 6,000 ล้านตัน) เพียงพอที่จะเติมสระว่ายน้ำขนาดในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก 7.2 ล้านสระ
เท็ด สแกมบอส นักวิทยาศาสตร์การวิจัยอาวุโส ที่ศูนย์ข้อมูลหิมะและน้ำแข็งแห่งชาติ ที่มหาวิทยาลัยโคลอมโบ กล่าวว่า การละลายของน้ำแข็งทางเหนือของกรีนแลนด์สัปดาห์ที่ผ่านมานี้ไม่ปกติ โดยพิจารณาที่ค่าเฉลี่ยของสภาพอากาศ 30-40 ปี ทว่าการละลายของน้ำแข็งเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และการละลายครั้งนี้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
สำหรับนักวิทยาศาสตร์ที่สำรวจบนแผ่นน้ำแข็ง สภาพอากาศอบอุ่นเช่นนี้เป็นสิ่งน่าตกใจ
คูตัลมิส ไซลัม นักวิทยาศาสตร์การวิจัยกับมหาวิทยาลัยเท็กซัส ซึ่งตอนนี้ประจำการในกรีนแลนด์ กล่าวว่า สิ่งนี้ทำให้เขากังวลอย่างยิ่ง ทีมงานสามารถสวมเสื้อยืดเดินเล่นรอบๆ ได้ นั่นเป็นสิ่งที่ไม่คาดคิดมาก่อน
ทุกฤดูร้อน นักวิทยาศาสตร์กังวลว่าจะเห็นประวัติศาสตร์ซ้ำรอยเหมือนการละลายของน้ำแข็งทุกสถิติในปี 2562 เมื่อน้ำแข็ง 532 ล้านตันไหลออกสู่ทะเล หลังฤดูใบไม้ผลิร้อนอย่างไม่คาดคิดและคลื่นความร้อนเดือนก.ค.ปีเดียวกันนั้นทำให้พื้นผิวของแผ่นน้ำแข็งทั้งหมดละลาย ส่งผลให้ระดับน้ำทะเลทั่วโลกสูงขึ้นอย่างถาวร 1.5 เซนติเมตร
หากน้ำแข็งทั้งหมดที่กรีนแลนด์มีอยู่ละลาย ระดับน้ำทะเลทั่วโลกจะสูงขึ้น 7.5 เซนติเมตร
การวิจัยล่าสุดชี้ถึงสถานการณ์ใกล้อันตรายมากขึ้นและมากขึ้นบนกรีนแลนด์ เกาะที่น้ำแข็งมากที่สุดของซีกโลกเหนือ การศึกษาฉบับหนึ่งที่ตีพิมพ์เมื่อเดือนก.พ.พบอัตราการละลายของน้ำแข็งอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนที่ด้านล่างสุดของแผ่นน้ำแข็งของกรีนแลนด์ ซึ่งเกิดจากน้ำที่ละลายจากน้ำแข็งปริมาณมหาศาลไหลลงจากพื้นผิว
น้ำที่ละลายจากน้ำแข็งนี้น่าเป็นห่วงเป็นพิเศษเพราะอาจทำให้แผ่นน้ำแข็งด้านบนไม่เสถียรและอาจสูญเสียน้ำแข็งจำนวนมากอย่างรวดเร็ว
และในปี 2563 นักวิทยาศาสตร์พบว่า แผ่นน้ำแข็งของกรีนแลนด์ละลายจนไม่มีวันหวนกลับมาแล้ว นักวิจัยที่มหาวิทยาลัยแห่งรัฐโอไฮโอกล่าวว่า ไม่มีความพยายามใดๆ ที่จะสามารถหยุดยั้งภาวะโลกร้อนได้ และการศึกษาฉบับอื่นๆ พบว่า อัตราการละลายของน้ำแข็งในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาสูงกว่าทุกครั้งที่กรีนแลนด์เคยประสบในช่วง 12,000 ปีที่ผ่านมา เพียงพอที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงที่สามารถวัดได้ในสนามโน้มถ่วงเหนือกรีนแลนด์
แม้แต่คณะนักวิทยาศาสตร์ประจำโครงการแกนนำแข็งกรีนแลนด์ตะวันออก (East Greenland Ice-core Project) หรืออีสต์กริป (EastGRIP) ซึ่งเป็นค่ายวิจัยทางตะวันออกเฉียงเหนือของกรีนแลนด์ ถูกการเปลี่ยนสภาพภูมิอากาศขัดขวางในการทำงานเช่นกัน
อัสลัค กรินสเต็ด นักวิทยาศาสตร์ภูมิอากาศ ที่สถาบันนีลส์ บอร์ มหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกน บอกซีเอ็นเอ็นว่า นักวิทยาศาสตร์พยายามบินเข้าไปในค่ายดังกล่าวเพื่อที่จะขนส่งแกนน้ำแข็งที่เพิ่งเก็บมา ทว่าสภาพอากาศอบอุ่นทำให้พื้นที่ลงจอดไม่คงที่
“อุณหภูมิที่เราเห็นตอนนี้ร้อนเกินไปที่เครื่องบินลำดังกล่าวซึ่งติดตั้งอุปกรณ์สกีจะลงจอด เราจึงเก็บแกนน้ำแข็งในถ้ำเทียมขนาดใหญ่ที่เราทำเข้าไปในหิมะเพื่อป้องกันแกนน้ำแข็งจากความร้อนของฤดูร้อน”
อย่างไรก็ดี นักวิทยาศาสตร์ใช้ประโยชน์จากสภาพอากาศอบอุ่นที่ไม่ปกติขณะรอนั้น สวมกางเกงขาสั้นเล่นวอลเลย์บอลบนแผ่นน้ำแข็งที่ซีกบนสุดของโลกเพื่อฆ่าเวลาไป
ก่อนเกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจากมนุษย์ กรีนแลนด์ไม่เคยมีอากาศที่อุณหภูมิ 32 องศาฟาเรนไฮต์ (0 องศาเซลเซียส) มาก่อน ทว่าตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1980 กรีนแลนด์มีสภาพอากาศอบอุ่นราว 1.5 องศาฟาเรนไฮต์ (-16.94 องศาเซสเซียส) ทุกๆ 10 ปี เร็วกว่าอัตราการก้าวกระโดดทั่วโลกถึง 4 เท่า จึงมีแนวโน้มว่าอุณหภูมิจะผ่านจุดหลอมเหลวมากขึ้น
กรินสเต็ดอ้างอิงอุณหภูมิที่ค่ายวิจัย EastGRIP เป็น “คลื่นความร้อน” และตั้งข้อสังเกตว่าภาวะโลกร้อนทำให้อุณหภูมิสูงขึ้นบ่อยขึ้น “โอกาสที่อุณหภูมิจะร้อนจัดเชื่อมโยงกับภาวะโลกร้อนอย่างชัดเจน” กรินสเต็ดกล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
นักวิจัยเตือน “อาร์ติก” เผชิญมลพิษสาหัส ไมโครพลาสติกหนาแน่นในน้ำแข็ง-หิมะ
นาซาเผย “น้ำแข็งทะเลอาร์กติก” หายไปเกือบเท่าพื้นที่ 2 รัฐในอเมริกา