'สันติ' โต้เดือด 'ยุทธพงศ์' ปม ทุจริตท่อส่งน้ำอีอีซี ลั่นมีฐานะอยู่แล้วไม่ต้องเอื้อใคร

Home » 'สันติ' โต้เดือด 'ยุทธพงศ์' ปม ทุจริตท่อส่งน้ำอีอีซี ลั่นมีฐานะอยู่แล้วไม่ต้องเอื้อใคร


'สันติ' โต้เดือด 'ยุทธพงศ์' ปม ทุจริตท่อส่งน้ำอีอีซี ลั่นมีฐานะอยู่แล้วไม่ต้องเอื้อใคร

‘สันติ’ โต้เดือด ‘ยุทธพงศ์’ ปม ทุจริตท่อส่งน้ำอีอีซี ตอกกลับรับงาน อีสท์วอเตอร์ มาหรือไม่ ลั่นมีฐานะอยู่แล้วไม่ต้องเอื้อใคร

เวลา 12.40 น. วันที่ 20 ก.ค.65 นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย อภิปรายไม่ไว้วางใจ นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง กรณีทุจริตโครงการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก(อีอีซี)ว่า มีใบเสร็จทุจริตโครงการนี้ นายสันติ มีส่วนเกี่ยวข้องในฐานะเป็นประธานกรรมการที่ราชพัสดุเห็นชอบใช้วิธีคัดเลือกบริษัทเอกชนมาดำเนินโครงการระบบท่อส่งน้ำอีอีซี แทนวิธีเปิดประมูลทั่วไป เพื่อหนี พ.ร.บ.ร่วมทุน เป็นการคัดเลือกโดยไม่โปร่งใส เชิญแค่ 5 บริษัทเอกชนมาคัดเลือก ไม่เชิญบริษัทเอกชนใหญ่ๆ ที่มีประสบการณ์เรื่องระบบส่งน้ำโดยตรงมาคัดเลือกด้วย เป็นการเอื้อประโยชน์ช่วยเอกชนบางราย

นายยุทธพงศ์ กล่าวต่อว่า การคัดเลือกครั้งแรกบริษัท อีสต์วอเตอร์เป็นผู้ชนะ แต่มีการยกเลิกการคัดเลือก พร้อมเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกบริษัทเอกชนชุดใหม่ และแก้ไขเงื่อนไขทีโออาร์ใหม่ โดยยกเลิกลักษณะต้องห้ามบริษัทที่เข้าร่วมประมูล ข้อเสนอทางเทคนิค เพื่อเอื้อประโยชน์เอกชนบางรายที่ไม่มีประสบการณ์ระบบส่งน้ำเข้าร่วมคัดเลือกได้ เหมือนเขียนด้วยมือลบด้วยเท้า

ในที่สุดการคัดเลือกรอบสองบริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด เป็นผู้ชนะประมูล และยังเร่งรัดการคัดเลือกให้บริษัท วงษ์สยาม ชนะคัดเลือกในวันที่ 30ก.ย.2564 ที่นายยุทธนา หยิมการุณ อธิบดีกรมธนารักษ์ขณะนั้น เกษียณอายุราชการพอดี จึงไม่สามารถไว้วางใจให้นายสันติทำงานต่อไปได้

จากนั้นเวลา 13.23 น. นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง ชี้แจงว่า กรณีท่อส่งน้ำของโครงการพัฒนาพิเศษภาคตระวันออก (อีอีซี) เดิมทางบริษัทอีสท์วอเตอร์ บริหารอยู่ ซึ่งเป็นบริษัทที่ดำเนินการมาแล้ว 30 ปี บริษัทอีสท์วอเตอร์ มีสัญญากับกรมธานารักษ์ ในเรื่องการบริหารจัดการน้ำแบ่งเป็น 3 ส่วน ส่วนที่ 1 เซ็นสัญญาตั้งแต่ปี 37 สิ้นสุดในปี 66

ส่วนอีก 2 ส่วน ได้รับมอบมาจากกรมชลประทาน ซึ่งไม่ได้มีการเซ็นสัญญกับกรมธนารักษ์ เป็นการเช่าไปพลางก่อนโดยส่วนหนึ่งต้องจ่ายผลตอบแทนให้กับรัฐ 3 % ส่วนสัญญาที่จะหมดในปี 66 อีสท์วอเตอร์จ่ายให้รัฐ 1 % เท่านั้น และหากไม่เร่งดำเนินการบริหารจัดการน้ำในปี 66 ภาคตะวันออก ซึ่งมีอุตสาหกรรมมากมาย และมีโรงกลั่น ซึ่งมีความสำคัญกับเศรษฐกิจของประเทศจะเสียหาย ทางกรมธนารักษ์จึงให้ควมสำคัญในเรื่องนี้เพื่อความไม่ประมาท

แต่กรมธนารักษ์ไม่มีศักยภาพในการจัดการที่ดิน แต่ไม่มีความสามารถในการบริหารจัดการน้ำ จึงต้องให้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เป็นที่ปรึกษา รับไปศึกษาโครงการอย่าางรอบครอบและผลประโยชน์ต่างๆ เพื่อมาร่วมทำทีโออาร์ในครั้งนี้ และเพื่อไม่ให้ขาดความต่อเนื่อง มหาวิทยาลัยเกษตรฯ จึงกำหนด 4 แนวทาง คือ 1. วิธีการประมูล 2.วิธีการแยกการประมูลโดยวิธีจำกัดเฉพาะเลือกเอกชนรายใดรายหนึ่ง

3. ยกเว้นการประมูล ใช้วิธีคัดเลือกเอกชนอย่าางน้อย 3 ราย และ4.แนวทางการดำเนินการอื่นๆ ในการจัดการน้ำในภาคตระวันออก เช่น รัฐดำเเนินการเอง ดังนั้นมหาวิทยาลัยเกษตรฯ มีข้อแนะนำให้กรมธนารักษ์ใช้วิธีแนวทางที่ 3 ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อภาครัฐ ในการคัดเลือกการแข่งขันของเอกชน

นายสันติ กล่าวต่อว่าในการคัดเเลือกครั้งที่ 1 ทางคณะกรรมการไม่สามารถชี้ขาดได้ว่าจะให้ใครเป็นผู้บริหารจัดการน้ำเนื่องจากปริมาณน้ำของการทำทีโออาร์ของบริษัทอีสท์วอเตอร์ และบริษัท วงษ์สยามก่อสร้างจำกัด มีความไม่สมบูรณ์ เพราะหากตัดสินให้บริษัทใดบริษัทหนึ่ง ก็ไม่เกิดความเป็นธรรม คณะกรรมการจึงยกเลิกในการยื่นข้อเสนอครั้งแรก

ส่วนการคัดเลือกครั้งที่ 2 และบริษัทอีสวอเตอร์ ก็ได้เข้าแข่งขันอีกครั้งหนึ่ง รวมมีผู้ยื่นซองทั้งหมด 3 ราย คือ 1. บริษัทอีสท์วอเตอร์ ให้ผลตอบแทน 30 ปีรวม 24,212.69 ล้านบาท 2.บริษัท วิค จำกัด (มหาชน) ให้ 6,173.70 ล้านบาท และ 3.บริษัท วงษ์สยามก่อสร้างจำกัด ให้ 25,693.08 ล้านบาท

ตนอยากให้นายยุทธพงศ์ คิดย้อนกลับไปว่า 30 ปีที่ผ่านมานั้น บริษัทอีสท์วอเตอร์ให้ผลตอบแทนกับรัฐบาลจนถึงวันนี้ ยังไม่ถึง 600 ล้านบาท แทนที่ท่านจะไปคิดจะไปพูดไม่ไว้วางใจตนว่าไม่รักษาผลประโยชน์ของรัฐ แล้วท่านรักษาผลประโยชน์หรือไม่ โดย 30 ปีจากนี้ไป บริษัทวงษ์สยามจะจ่ายผลประโยชน์ให้รัฐกว่า 2.6 หมื่นล้านบาท แล้วจะพยายามให้ยกเลิก และเปิดประมูลใหม่ ผมถามว่าหากเปิดประมูลใหม่แล้วมียื่นข้อเสนอมาเหมือนครั้งแรกคือ 9 พันล้านบาทนั้น ท่านจะรับผิดชอบเงินของรัฐที่ขาดหายไปอย่างไร

นายสันติ กล่าวว่า นอกจากนี้คณะกรรมการฯ มีสิทธิจัดการหากเกิดปัญหา ที่ไม่สามารถอำนวยความเป็นธรรมและโปร่งใสก็มีสิทธิที่จะยกเลิกได้ และคำสั่งศาลที่คุ้มครองชั่วคราวก็ไม่ได้ทำให้ฝ่ายใดเกิดความเสียหาย ทั้งนี้ บริษัทอีสท์วอเตอร์ มีการประปาถือหุ้นอยู่ 10% ขณะเดียวกันมีเอกชนถือหุ้นกว่า 50-60% และบริษัทต่างชาติ 4 บริษัท ถือหุ้นอยู่ 25 % ตลอด 30 ปีที่ผ่านมานั้นบริษัทอีสท์วอเตอร์จ่ายค่าตอบแทน 600 ล้านบาท

แต่อีก 30 ปีต่อจากนี้จะได้จากบริษัท วงษ์สยาม 2.6 หมื่นล้นบาท แล้ว 30 ปีที่ผ่านมาผลประโยชน์ของชาติหายไปไหน ตนจึงจะฟ้องประชาชน แล้วท่านยังมากล่าวหาทำให้ข้าราชการกรมธนารักษ์เสียกำลังใจ เพราะทำหน้าที่ และดูกฎหมายอย่างรอบคอบว่าไม่เป็นธรรมในครั้งแรกจึงจะต้องยกเลิก และประกาศคัดเลือกในครั้งที่ 2 ที่บริษัทอีสวอเตอร์ เสนอผลประโชน์ตอบแทนมาถึง 2.4 หมื่นล้านบาท เป็นเรื่องมหัศจรรย์ที่ให้เพิ่มผลประโยชน์แทนเพิ่มขึ้นมาทันทีถึง 25% ตนขอชื่นชมกรมธนารักษ์ ที่ทำงานอย่างเที่ยงตรง ยึดผลประโยชน์ของชาติ และประชาชนเป็นที่ตั้ง ทั้งที่ถูกท่านกดดันมาตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา

จากนั้น นายยุทธพงศ์ ลุกขึ้นกดดันให้ นายสันติ ตอบคำถามประเด็นที่กรมธนารักษ์ไม่เปิดประมูลทั่วไป ทำให้ นายสันติ ชี้แจงว่า โครงการนี้มีความสำคัญมาก จึงจำเป็นต้องจ้างผู้เชี่ยวชาญมาให้คำปรึกษาในการคัดเลือกผู้ยื่นซองประมูล เพื่อหามาตรฐานการคำนวณปริมาณน้ำ แต่นายยุทธพงศ์ ยังลุกประท้วงอีกครั้งว่าให้นายสันติตอบคำถามแบบเข้าประเด็น

นายสันติ จึงตอบโต้ทันทีว่า “ผมถามจริงๆ เถอะ ว่านายยุทธพงศ์ รู้ข้อมูลเรื่องผลตอบแทนของรัฐในรอบแรกมากกว่าผมได้อย่างไร ว่าจะมี 40 หรือ 60 แสดงว่ามันคงมีอะไรสักอย่าง หรือมีใครไปรับงานมากจากบริษัทอีสท์วอเตอร์ หรือไม่ผมไม่ทราบ ผมต้องทำหน้าที่พิทักษ์ผลประโยชน์ของรัฐ และสัญญายังไม่ได้เซ็น ทำไมจะมากล่าวหาผมแบบนี้ ทำไมนายยุทธพงศ์ถึงเอนเอียงเข้าข้างบริษัทอีสวอเตอร์ได้มากขนาดนี้ และผลประโยชน์กว่า 2 หมื่นล้านบาทที่หายไปอยู่ไหน

เรามาจับมือหาเงินที่หายไปดีกว่าไหม ทั้งบริษัทอีสท์วอเตอร์ และบริษัทวงษ์สยาม ผมไม่เคยโทรศัพท์ไปหา เพราะผมมีฐานะอยู่แล้ว ผมไม่มีความจำเป็นต้องเอื้อใคร ถ้าจะเอื้อก็จะเอื้อประชาชน นอกจากนี้ ถ้าเจ้าหน้าที่กรมธนารักษ์จะทุจริต ก็รับไปตั้งแต่แรกแล้ว ทำไมต้องมาประกวดราคาใหม่”

อย่างไรก็ตาม นายยุทธพงศ์ พยายามโต้แย้ง และจะขออภิปรายอีก ทำให้ นายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาฯ คนที่ 2 ที่ทำหน้าที่ประธานการประชุม เบรกไม่ให้อภิปรายเพราะท้ังสองฝ่ายได้อภิปรายแล้ว และไม่ควรโต้แย้งกันไปมา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในช่วงที่นายสันติ ชี้แจงนั้น มีสัญญาณเตือนภัยดังขึ้น บริเวณรอบอาคารรัฐสภา แ​ละห้องประชุมทำให้นายสันติต้องหยุดการชี้แจงชั่วครู่ และสมาชิกต่างตกใจว่าเกิดอะไรขึ้น โดย นายวีระกร คำประกอบ ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ พูดขึ้นว่า “ทำอย่างไรดีครับท่านประธาน” แต่ นายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาฯ คนที่ 1 ที่ทำหน้าที่ประธานการประชุมในขณะนั้น ได้แจ้งว่าไม่ต้องตกใจ เสียงดังกล่าวเกิดจากปัญหาน้ำ จากนั้นนายสันติจึงอภิปรายต่อ

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ