วีระกร ซัด กกต.เอาผิดให้ซองช่วยงานศพ แต่ไม่รู้เรื่องซื้อเสียง “เพื่อไทย” ยกธงขาวหาร 500 ซัด 3ป. อยากไปต่อ ไม่สนใจสังคม ปูด กกต.ฮั้วแบ่งเขตเลือกตั้ง
เมื่อเวลา 09.52 น. วันที่ 6 ก.ค. 2565 ในการประชุมร่วมรัฐสภา มีนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เป็นประธานการประชุม พิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ในมาตรา 6/3 ที่เพิ่มขึ้นมาใหม่ ตามที่กรรมาธิการ (กมธ.) เสียงข้างน้อย เสนอให้มีบัตรเลือกตั้งสองใบ เบอร์เดียวกัน ต่อจากการพิจารณาเมื่อวันที่ 5 ก.ค.ที่ผ่านมา โดยเป็นขั้นตอนการลงมติ เมื่อเปิดประชุม นายชวน ได้สั่งให้ลงมติมาตรา 6/3 ผลปรากฏว่าสมาชิกเห็นด้วย 150 ไม่เห็นด้วย 341 งดออกเสียง 5 ไม่ออกเสียง 3 เสียง
จากนั้นที่ประชุมพิจารณาเรียงรายมาตรา ซึ่งบรรยากาศเป็นไปด้วยความเรียบร้อย จนกระทั่งพิจารณาถึงมาตรา 12 ซึ่งแก้ไขมาตรา 73 ว่าด้วยข้อห้ามในการกระทำที่จะใช้เพื่อจูงใจ ชักจูง หรือชักชวนให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนเลือกผู้สมัครรายใด หรือไม่เลือกผู้สมัครรายใด ซึ่งในการอภิปรายของสมาชิกรัฐสภา ไม่ได้ทักท้วงต่อเนื้อหาที่กมธ.แก้ไขเพิ่มเติม แต่ได้ฝากข้อเสนอแนะไปยัง คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)
โดยนายวีระกร คำประกอบ ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ อภิปรายว่า กกต.ไม่สนใจว่าการเลือกตั้งจะมีการซื้อเสียงหรือไม่ เมื่อมีคนไปฟ้องกลับบอกว่า ซื้อกันทั้งนั้น ไม่ต้องกล่าวหากันไปกันมา หลังเลือกตั้งเอาหลักฐานมายื่นก็แล้วกัน แต่พอมีคนยื่นหลักฐาน กกต.รับทั้งผู้ร้องและผู้ถูกร้อง ทั้งนี้ ในการทำหน้าที่ควรให้หน่วยงานอื่นๆ เช่น ทหาร ตำรวจ ครู อาสาสมัคร มาทำงานเพื่อตรวจสอบการเลือกตั้ง
โดยแต่ละข้อห้ามที่กำหนดเพื่อไม่ให้ทุจริตเลือกตั้งที่ชัดเจน แต่ที่ผ่านมากกต.ทำแบบหยุมหยิม เช่น ยื่นซองให้พระในงานหรือให้ซองเจ้าภาพช่วยงานศพกลับเอาผิด แต่เขาซื้อเสียงทั้งเมือง กกต.กลับไม่รู้เรื่อง ตนอยากให้การแก้ไขมาตรา 73 สามารถปราบการทุจริตได้ เพราะห่วงว่าการเลือกตั้งครั้งใหม่ ปี 66 จะซื้อหนักกว่าเดิมอีก
ด้านนายครูมานิตย์ สังข์พุ่ม ส.ส.สุรินทร์ พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า ตนห่วงการทำงานของกกต. เพราะปัจจุบันเห็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นแล้ว จากการจะกลับไปใช้สูตร 500 คนหาค่าเฉลี่ย ส.ส. คือ การแย่งชิงอำนาจ ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ขอรักษาอำนาจของตนเองไว้ก่อน โดยไม่สนใจสังคม ทิศทางวันนี้ คือ พวกท่านอยากมีอำนาจทั้งที่เศรษฐกิจแย่ ประชาชนยากจนและลำบากทุกหย่อมหญ้าแต่ท่านอยากไปต่อ
“ผมอยู่ฝ่ายค้าน น่าเป็นห่วงที่สุด เพราะนอกจากโดนความพิสดารของรัฐธรรมนูญแล้ว การเลือกตั้งครั้งหน้าไม่รู้จะโดนอะไรอีก ผมทราบว่าตอนนี้การแบ่งเขตเลือกตั้งเริ่มฮั้วให้บางพรรคการเมืองแล้ว จังหวัดใดที่ได้ผู้แทนฯ เพิ่มก็เริ่มมีปัญหา เชื่อว่ากระบวนการแจกกล้วยจะกระจายไปยังเขตเลือกตั้งเป็นคันรถ ซึ่งกกต.รู้ แต่ไม่ปฏิบัติเพราะต้องหาหลักฐาน
อีกทั้งบางบ้านสะสมเสบียงเป็นพันล้านบาทเพื่อเตรียมเลือกตั้ง วันนี้เรารบกับ 3 ป. ไม่ใช่ ปลากัด ปลาดุก ปลาช่อน แต่คืออำนาจเต็ม ดังนั้น ผมขอฝากไปยังกกต. ในฐานะคนจะสร้างประชาธิปไตยในแผ่นดินให้ความเป็นธรรมกับบ้านเมือง ตอนนี้พวกผมหมดปัญญาแล้ว ต่อให้ยกสองมือ ก็ไม่มีทางชนะ ผมยอมแล้ว” นายครูมานิตย์ กล่าว
ขณะเดียวกันมีสมาชิกรัฐสภาคนอื่นๆ อาทิ นายเสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว. นายขจิตร ชัยนิคม ส.ส.อุดรธานี พรรคเพื่อไทย อภิปรายท้วงติงขอให้จัดงานมหรสพในการหาเสียงได้ เพราะไม่ได้ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำด้านค่าใช้จ่ายของพรรคการเมืองหรือผู้สมัคร เพราะมีการกำหนดวงเงินค่าใช้จ่ายของผู้สมัครและพรรคการเมืองไว้อยู่แล้ว การจัดงานมหรสพเป็นวิธีให้ประชาชนออกมารวมตัวฟังการแถลงนโยบายในหมู่คนจำนวนมากได้ อย่าเอาการได้เปรียบเสียเปรียบจากการฟังปราศรัยมาเกี่ยวข้อง
โดยนายสมชัย ศรีสุทธิยากร กมธ.เสียงข้างน้อย ชี้แจงเหตุผลห้ามจัดงานมหรสพว่า เนื่องจากมีความไม่เหมาะสม มีการห้ามจัดงานมหรสพในการเลือกตั้งทุกครั้งอยู่แล้ว เพราะอาจทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างพรรคที่มีเงินจัดมหรสพกับพรรคที่ด้อยกว่า การให้นำการจัดงานมหรสพคิดรวมเป็นค่าใช้จ่ายการเลือกตั้งนั้น ทำได้ยาก เพราะราคามหรสพไม่มีมาตรฐานใดๆ วัดได้
ถ้ารู้จักดาราอาจมาให้ฟรี คิดค่าใช้จ่ายน้อย ถ้าไม่รู้จักอาจคิดราคาแพง พรรคใหญ่อาจจ้างมาราคาแพง แต่บอกค่าใช้จ่ายน้อย เวลาจัดงานมหรสพ ประชาชนสนใจแต่งานมหรสพ ไม่สนใจฟังปราศรัยหาเสียง โดยที่ประชุมลงมติด้วยคะแนน 401 ต่อ 78 งดออกเสียง 6 ไม่ลงคะแนน 3