ปลัดมท.เปิดอบรมหลักสูตรผู้นำการขับเคลื่อนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง สู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน พร้อมบรรยายพิเศษ “ทำไมต้อง Change for Good” ให้กับผู้ศึกษาอบรม นปส. รุ่น 78 เน้นย้ำ ปลุกไฟในตัว สร้างสมแรงปรารถนาเพื่อ Change for Good สร้างสิ่งที่ดีให้เกิดขึ้นด้วยความมุ่งมั่น “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ให้กับพี่น้องประชาชน
วันที่ 4 ก.ค.65 ที่กระทรวงมหาดไทย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานเปิดอบรมหลักสูตรผู้นำการขับเคลื่อนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และบรรยายหัวข้อ “ทำไมต้อง Change for Good” ผ่านระบบ Zoom Meeting โดยมี นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านพัฒนาชุมชนและส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ด้านบริหาร นายโสภณ สุวรรณรัตน์ รองหัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย รศ.วรวรรณ โรจนไพบูลย์ ผศ.พิเชฐ โสวิทยสกุล ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย ร่วมรับฟัง โดย นายอำพล อังคภากรณ์กุล ผู้ว่าราชการจังหวัดนครนายก น และคณะผู้เข้ารับการศึกษาอบรมหลักสูตรนักปกครองระดับสูง (นปส.) รุ่นที่ 78 ร่วมรับฟังจากห้องประชุมเหลืองอินเดีย ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนนครนายก อ.เมืองนครนายก จ.นครนายก
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า หลักสูตร นปส. เป็นหลักสูตรการฝึกอบรมเพื่อเสริมสร้างศักยภาพของผู้บริหารระดับสำนัก/กอง เพื่อมีคุณสมบัติเข้ารับการประเมินสู่การเป็นผู้บริหารระดับสูง ที่มีมาตรฐานของหลักสูตรตามที่สำนักงาน ก.พ. กำหนดไว้ในขั้นต้น แต่ทั้งนี้ กระทรวงมหาดไทยมีความมุ่งมั่นในการเสริมสร้างความเข้มข้นและความสมบูรณ์ของหลักสูตรให้สอดคล้องกับบริบทความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและหลากหลายในปัจจุบัน ด้วยการต่อยอดและเพิ่มเติม “หลักสูตรผู้นำการขับเคลื่อนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” หรือ “หลักสูตร นปส.จิตอาสา” เพื่อสร้างผู้นำระดับสูงไปเป็นผู้นำองค์กร ไปเป็นผู้นำการสร้างสิ่งที่ดี Change for Good ให้กับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ ซึ่งจำเป็นต้องมีผู้นำที่มีคุณสมบัติของการเป็นผู้นำ ทั้งในแง่ความประพฤติ “ผู้นำต้องทำก่อน” และการครองตน ครองคน ครองงาน “ด้วยหัวใจ” ไม่ใช่ทำเพราะผู้บังคับบัญชาชอบหรือสั่ง และคิดทบทวนด้วยหลักเหตุและผล อันจะเป็นต้นแบบให้กับผู้ใต้บังคับบัญชาและเป็นตัวอย่างให้กับพี่น้องประชาชน
“เป้าประสงค์สำคัญของหลักสูตรฝึกอบรมในครั้งนี้ คือ นปส.78 ทุกคนเข้าใจและน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่โคก หนอง นา ไปใช้ในการบริหารจัดการขับเคลื่อนการทำงานเป็นทีมร่วมกับภาคีเครือข่าย ทำให้พี่น้องประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่มั่นคง และยั่งยืน โดยหลักสูตรนี้เป็นการอบรมแบบใช้แนวคิดตาม “ทฤษฎีเตาหลอมเหล็ก” หรือการใช้ความยากลำบากของการทำงานราชการเป็นสารตั้งต้นกระตุ้นให้ข้าราชการให้ความสำคัญกับมิตรภาพระหว่างหน่วยงาน กรม กอง รัฐวิสาหกิจ ทั้งในสังกัดกระทรวงมหาดไทย และส่วนราชการอื่น ซึ่งต้องรู้จักประสานงาน ช่วยเหลือ พูดคุย วางแผน เพื่อให้เพื่อนข้าราชการ/รัฐวิสาหกิจที่มาจากหลากหลายสังกัด ได้เข้าสู่เตาหลอมเหล็ก เป็นผู้นำที่ดวงตาเห็นธรรม ละลายพฤติกรรมของตนเอง เป็นผู้เข้ารับการศึกษาอบรมที่ดี มีระเบียบวินัย และมีความสุขในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเรื่องดี ๆ ให้เพิ่มพูนมากขึ้น เพื่อเป็นผู้นำที่จะไปนำการพัฒนาการเปลี่ยนแปลงทำให้พี่น้องประชาชนได้พบกับความสุขที่ยั่งยืน” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวว่าในช่วงต้น
จากนั้น นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย บรรยายหัวข้อ “ทำไมต้อง Change for Good” โดยกล่าวว่า เป้าหมายในการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับพี่น้องประชาชน คือ “ต้องยั่งยืน” ด้วยกลไกของภาคีเครือข่ายที่ทำงานอย่างไม่ย่ำอยู่กับที่ มีใจที่รุกรบมุ่งมั่นในการ Change for Good สร้างสรรค์สิ่งที่ดีอยู่ตลอดเวลา มีอุดมการณ์ มีแรงปรารถนาให้บังเกิดประโยชน์หรือสิ่งที่ดีงามกับพี่น้องประชาชนเป็นลำดับแรก ประโยชน์ส่วนตนเป็นเรื่องรอง ดังพระราชดำรัส “ขอให้ถือประโยชน์ส่วนตนเป็นที่สอง ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง ลาภ ทรัพย์ และเกียรติยศ จะตกแก่ท่านเอง ถ้าท่านทรงธรรมะแห่งวิชาชีพไว้ให้บริสุทธิ์” ของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก และพระราชดำรัส “คนดีของฉันรึ จะต้องเป็นคนดีที่ไม่พูดปด ไม่สอพลอ ไม่อิจฉาริษยา ไม่คดโกง และไม่มีความทะเยอทะยานอย่างบ้าๆแต่พยายามทำหน้าที่ของตนให้ดี ในขอบเขตของศีลธรรม” ของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี รวมถึงพระบรมราโชวาท “งานราชการนั้น คืองานของแผ่นดิน ข้าราชการจึงต้องสำเหนียก ตระหนักอยู่ตลอดเวลา ถึงฐานะและหน้าที่ของตน แล้วตั้งใจปฏิบัติงานทุกอย่าง โดยเต็มกำลังสติปัญญาความสามารถ ด้วยความสุจริตเที่ยงตรง และด้วยความมีสติยั้งคิด รู้ว่าสิ่งใดถูก สิ่งใดผิด สิ่งใดควรกระทำ สิ่งใดควรงดเว้น เพื่อให้งานที่ทำ ปราศจากโทษเสียหาย และบังเกิดผลประโยชน์ที่แท้ คือ ความเจริญมั่นคงของประเทศชาติและประชาชน” ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่พระราชทานไว้เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2551 และพระบรมราโชวาท “งานราชการนั้น ต้องอาศัยความรู้ 3 ส่วนในการปฏิบัติ คือความรู้ในหลักวิชาที่ถูกต้อง แม่นยำ ลึกซึ้ง กว้างขวาง ความรู้ในการปฏิบัติบริหารงานตามภาระหน้าที่ และความรู้คิดวินิจฉัยที่ถูกต้องด้วยเหตุผล หลักวิชา และหลักธรรม ข้าราชการทุกคนจึงต้องสร้างสมอบรมความรู้ทั้งสามส่วนนี้ ให้สมบูรณ์พร้อม อย่าให้บกพร่องในส่วนใดเป็นอันขาด จะได้สามารถปฏิบัติงานให้บรรลุผลเป็นประโยชน์ที่แท้ทั้งแก่ประเทศชาติและประชาชน” ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 5 มี.ค. 2563 ที่ขอให้ทุกคนได้น้อมนำมาเป็นหลักชัยในการฝึกตน ฝึกจิตใจ เพื่อตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน ทำให้งานราชการซึ่งเป็นงานของแผ่นดิน โดยคำนึงถึงเกียรติภูมิของการเป็นข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่รับผิดชอบต่อหน้าที่อย่างเต็มสติกำลังความสามารถ ซึ่งชีวิตการทำงานของข้าราชการทุกคนจะต้องพานพบกับการประเมินจากสังคมอยู่เสมอ ดังนั้น เรื่องใหญ่ที่เราต้องมั่นคง คือ ต้องช่วยกันน้อมนำแนวพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ด้วยการ “กล้าที่จะแก้ไขในสิ่งผิด”และสืบสานพระราชปณิธานในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรมเพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” ที่สะท้อนผ่านโครงการพระราชดำริที่พระราชทานไว้มากกว่า 4,000 โครงการ ทฤษฎีใหม่มากกว่า 40 ทฤษฎี อันเป็นพระราชกรณียกิจที่ครอบคลุมทุกมิติของชีวิตคนไทย ทั้งการศึกษา การพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ค่านิยม คุณธรรมจริยธรรม การประพฤติปฏิบัติในการที่จะทำให้ประเทศชาติอยู่รอด ทำให้พี่น้องประชาชนอยู่ดีมีสุข แก้ไขในสิ่งผิดทั้งเรื่องงาน เรื่องส่วนตัว และเรื่องความเชื่ออื่น ๆ ให้สมกับการเป็นข้าราชการที่ดีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
“ปัจจัยสู่ความสำเร็จที่ นปส. 78 ทุกคน ในฐานะ “ผู้นำ” จะทำให้บรรลุตามเป้าหมายและอุดมการณ์ในการ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ให้กับพี่น้องประชาชนได้อย่างยั่งยืน คือ ต้องดึงเอาความรู้ (Knowledge) ความสามารถ (Ability) และทัศนคติ (Attitude) ที่ดี อันจะทำให้การทำงานสำเร็จได้ ซึ่งที่สำคัญที่สุดคือ Attitude เพราะถ้าเป็นลบ จะทำอะไรก็เกิดแต่เรื่องที่ไม่ดี แต่ถ้าทัศนคติดี ทัศนคติที่เป็นบวก ทำอะไรก็จะสำเร็จ ซึ่ง “ผู้นำ” ต้องสร้างโลกทัศน์ สร้าง Passion ให้ตนเองมีไฟอยู่เสมอ และรู้จักเลือกใช้คนที่มีความเหมาะสมกับงาน มีใจที่อยากจะทำงานให้ประสบความสำเร็จร่วมกับทีมงานภาคีเครือข่าย น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นหลักในการทำงาน ดังสะท้อนผ่านภาพวาดฝีพระหัตถ์ “โคก หนอง นา แห่งน้ำใจและความหวัง” นอกจากนี้ พระอัจฉริยภาพของล้นเกล้าฯ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่สะท้อนผ่าน ส.ค.ส. พระราชทาน ปี 2547 ซึ่งแสดงถึงลูกระเบิด 4 ลูก ทั้งที่มาจากเศรษฐกิจตกต่ำ มาจากสิ่งแวดล้อม มาจากโรคระบาด และมาจากความขัดแย้งของสังคม อันเป็นเครื่องเตือนพวกเราซึ่งเป็นข้าราชการ ซึ่งเป็นผู้นำ มาเป็นระยะเวลากว่า 18 ปีล่วงหน้าแล้ว พร้อมได้พระราชทานแนวทางแก้ไขปัญหาไว้ว่า “ความรัก ความสมัครสมาน สามัคคี จะทำให้พวกเราทุกคนอยู่รอด” อันเป็นทางออกของประเทศชาติของเรา ที่ นปส.78 ต้องเรียนรู้และน้อมนำมาประยุกต์ใช้ เป็นเครื่องมือประกอบการบริหารงานราชการให้เกิดผลสัมฤทธิ์ที่ดีอย่างยั่งยืนต่อพี่น้องประชาชน” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเน้นย้ำ
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้เข้ารับการฝึกอบรมหลักสูตร นปส. รุ่น 78 ทุกคนจะเป็น Change agent เพื่อช่วยกัน Change for Good ให้เกิดขึ้นในครอบครัว ในที่ทำงาน ในชุมชน ในหมู่บ้าน และในจังหวัดได้ ต้องมีอุดมการณ์ มีแรงปรารถนาที่แรงกล้า ในการเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของ 7 ภาคีเครือข่าย อันได้แก่ ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคผู้นำศาสนา ภาคผู้นำวิชาการ ภาคประชาชน ภาคประชาสังคม และภาคสื่อมวลชน สร้างพลังในการสร้างสิ่งที่ดี บริการประชาชนที่ดีให้เกิดขึ้น เพื่อให้การบำบัดทุกข์ บำรุงสุข บังเกิดความสำเร็จ โดยทำงานเป็นทีมที่ไม่มีบริบทของกระทรวง ทบวง กรม มาขีดกั้น เพื่อทุกคนได้เรียนรู้ ขบคิด ร่วมกัน และเมื่อสำเร็จการศึกษาอบรมแล้ว ต้องไปค้นหาคนที่มีจิตสาธารณะ ไปสร้างทีมที่ดีที่จะให้มาช่วยพวกเราในพื้นที่ต่าง ๆ หาคนที่พร้อมจะเสียสละแรงกายแรงใจ และกำลังทรัพย์อื่น ๆ ในภูมิสังคม “ทำสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ (Impossible) ให้เป็นสิ่งที่ “ฉันทำได้” (I’m Possible) ด้วยการเปิดใจกว้าง นำเอาความรู้ความสามารถของทุกคนมาใช้ให้เป็นประโยชน์ (Open mind) และความร่วมมือร่วมแรงร่วมใจของทุกภาคีเครือข่าย เพราะประชาชนกำลังประสบกับปัญหาความเดือดร้อนจำนวนมากที่ไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยตัวเอง ทีมที่ว่านี้จึงต้องเป็นคนในพื้นที่ที่รู้พื้นที่ รู้จักผู้คน รู้วัฒนธรรม ประเพณี ขนบ ธรรมเนียม เพื่อสามารถช่วยเหลือเกื้อหนุนเกื้อกูลผู้ด้อยโอกาส ผู้ตกทุกข์ได้ยากให้มีความสุขเพิ่มมากขึ้น
“ในชีวิตการทำงานของข้าราชการมีโครงสร้างการทำงานที่ใหญ่ ๆ อยู่ 3 สิ่ง คือ 1) ต้องเป็นคนที่แสดงให้เห็นถึงความรับผิดชอบต่องานประจำ (Routine Job) ด้วยการทำงานในหน้าที่ให้ดี อันเป็นผลงานขั้นต้นของทุกคน 2) ใช้แรงกล้าและความกล้าที่จะระดมสรรพกำลังของทีมงานมาช่วยกัน ขับเคลื่อน (Extra job, Flagship Project) อันจะเสริมทำให้งานบรรลุตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนได้สำเร็จ และ 3) ต้องทำให้สังคมรับรู้ ด้วยการรายงาน สื่อสาร สร้างการรับรู้กับผู้คน (Report) ทำหน้าที่เป็นสื่อมวลชนที่เป็นทางการ คือ รายงานผู้บังคับบัญชา รายงานพี่น้องประชาชน และสื่อที่ไม่เป็นทางการ คือ ใช้ช่องทางสื่อสารในชีวิตประจำวันของตนเองสื่อสิ่งที่ทำ ประโยชน์ที่ประชาชนได้รับ และช่องทางที่สาธารณชนสามารถเข้าถึงประโยชน์จากงานที่เราทำให้มากที่สุด “ปลุกไฟในตัวให้ลุกโชนขึ้นมา และสร้าง Passion การเป็นข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ลุกขึ้นมาเป็นผู้นำในการสร้างทีมงาน เพื่อให้ทีมงานช่วยสนับสนุนการ Change for Good ให้กับสังคมในวงกว้าง จนกลายเป็นลูกโซ่แห่งการพัฒนาที่ยั่งยืน อันส่งจะส่งผลทำให้ความตั้งใจในการรับราชการของทุกคน คือ “การได้ตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน” ได้มีผลสัมฤทธิ์ที่เพิ่มทวีขึ้นกว่าที่เราทำมา เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน ขจัดความยากจน ทำให้พี่น้องประชาชนมีความสุขเพิ่มมากขึ้น ความทุกข์ลดน้อยลงจนหมดไป ด้วยการนำเศรษฐกิจพอเพียงไปสู่เป้าหมายการพัฒนาชีวิตของประชาชนคนไทยอย่างยั่งยืน” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงท้าย