กฎหมายลูกเลือกตั้ง 2 ฉบับ ได้แก่ ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. และร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง เข้าสู่ช่วงพิจารณาของที่ประชุมร่วมรัฐสภา ในวาระ 2 และ 3
ที่ถกเถียงกันมากประเด็นหนึ่งคือเรื่องสูตรคำนวณส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ หรือปาร์ตี้ลิสต์
คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มีมติเสียงข้างมาก 32 ต่อ 11 ให้ใช้สูตรคำนวณแบบใช้ตัวเลข 100 มาหาร เพื่อหาส.ส.บัญชีรายชื่อที่แต่ละพรรคการเมืองจะได้
แต่ก็มีสมาชิกรัฐสภาจำนวนหนึ่งสงวนคำแปรญัตติไว้ ให้ใช้สูตรหารด้วย 500 โดยมีสมาชิกรัฐสภาอีกจำนวนหนึ่งเห็นด้วยให้พลิกมติกรรมาธิการ
สรุปวิธีการคำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อ ตามที่กรรมาธิการมีมติเห็นชอบ อยู่ในมาตรา 23 ของร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. โดยการคิดคำนวณมีด้วยกัน 5 ขั้นตอน
เริ่มจากให้รวมผลคะแนนทั้งหมดที่ทุกพรรคได้รับจากการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อทั้งประเทศ แล้วนำมาหารด้วย 100 ผลลัพธ์ที่ได้ให้ถือเป็น “คะแนนเฉลี่ย” ต่อส.ส.บัญชีรายชื่อ 12 คน
ขั้นตอนต่อมาให้นําคะแนนรวมบัญชีรายชื่อของพรรคนั้นๆ มาหารด้วยคะแนนเฉลี่ยที่ได้
ถ้าทุกพรรครวมกันแล้วยังได้ส.ส.บัญชีรายชื่อไม่ครบ 100 คน ให้พรรคที่มีผลลัพธ์ที่เป็นเศษ เรียงลำดับว่าพรรคใดมีเศษมากสุด ให้ได้ส.ส.แบบบัญชีรายชื่ออีก 1 คนเรียงตามลําดับ จนกว่าจะครบ 100 คน
ถ้าพรรคใดมีเศษเท่ากันและจะทําให้ส.ส.บัญชีรายชื่อเกิน 100 คน ให้ตัวแทนพรรคที่มีเศษเท่ากันจับสลากเพื่อให้ได้ส.ส.บัญชีรายชื่อครบจํานวน
กติกาเลือกตั้งส.ส. มีการแก้ไขในรัฐธรรมนูญ 2560 กลับมาใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ส.ส.เขต 400 คน กับส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน ทำให้พรรคใหญ่ได้เปรียบ แต่ก็เป็นกติกาตรงกับเจตนารมณ์ผู้ใช้สิทธิ์ออกเสียง ขณะที่พรรคเล็กเสี่ยงสูญพันธุ์
เช่นเดียวกับสูตรคำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่พรรคเล็กบางพรรคต้องการพลิกสูตรมาใช้หารด้วย 500 แทนหาร 100 ตามมติกรรมาธิการ ซึ่งก็จะขัดต่อหลักการในวาระแรก นายวิษณุ เครืองาม ชี้ว่าเป็นเรื่องประหลาด เป็นวิธีที่ไม่ค่อยมีใช้ในโลก
จึงต้องดูว่าสมาชิกรัฐสภาจะร่วมกันหาทางออกอย่างไร เรื่องจะต้องไปถึงศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่
ถึงกระนั้นสิ่งที่พรรคการเมืองพึงตระหนัก คือการจะสูญพันธุ์หรือมั่นคงถาวร กติกาเลือกตั้งมีส่วนช่วยน้อยมาก ความเชื่อมั่นศรัทธาของประชาชนต่อพรรคต่างหาก ที่สามารถเอาชนะได้ทุกสูตรเลือกตั้ง