ระดมพลคนเดือดร้อน! ชาวบ้านนัดชุมนุมใหญ่กดดันรัฐบาล จ่ายเงินค่าที่ดินถูกน้ำท่วม

Home » ระดมพลคนเดือดร้อน! ชาวบ้านนัดชุมนุมใหญ่กดดันรัฐบาล จ่ายเงินค่าที่ดินถูกน้ำท่วม


ระดมพลคนเดือดร้อน! ชาวบ้านนัดชุมนุมใหญ่กดดันรัฐบาล จ่ายเงินค่าที่ดินถูกน้ำท่วม

อุบลราชธานี – ชาวบ้านที่ถูกผลกระทบจากการก่อสร้างเขื่อนสิรินธร ประกาศเตรียมนัดชุมนุมใหญ่กดดันรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ให้จ่ายเงินให้พื้นที่ถูกน้ำท่วม จัดเวทีสัญจรกระตุ้นชาวบ้านที่เดือดร้อน

4 ก.ค. 65 – บรรยากาศการรวมตัวกันของชาวบ้านผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างเขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี ที่ศาลาประชาคมบ้านห้วยทราย หมู่ที่ 4 ต.คอแลน อ.บุณฑริก จ.อุบลราชธานี โดยการรวมตัวกันในครั้งนี้ มีชาวบ้านออกมาร่วมแสดงจุดยืนในการที่จะออกมาเคลื่อนไหวการชุมชนอยู่ที่ประมาณ 500 คน

นายวันชัย ยังมีสุข แกนนำชาวบ้าน ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างเขื่อนสิรินธร ขึ้นปราศรัยประกาศว่า ให้ชาวบ้านที่อยู่ในกลุ่มทั้งหมดจำนวน 4,235 ราย ได้เตรียมตัว เตรียมเสื้อผ้า เตรียมอาหาร และเตรียมที่จะมีการประกาศชุมชนใหญ่ในเร็วๆนี้ เพื่อกดดันกับรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้เร่งมีการแก้ไขปัญหาจ่ายเงินค่าที่ดินให้กับชาวบ้านที่ถูกน้ำท่วมในโครงการก่อสร้างเขื่อนสิรินธร

ซึ่งเขื่อนแห่งนี้เป็นเขื่อนขนาดใหญ่ มีพื้นที่กักเก็บน้ำทังหมดกว่า 180,000 ไร่ หลังจากการก่อสร้างเขื่อนทางรัฐบาล และ กฟผ.ได้ผลปะโยชน์มหาศาลจากการขายไฟฟ้า แต่กลับไม่มีการจ่ายเงินค่าที่ดินที่ไม่มีเอกสารสิทธิ ตามมติคณะรัฐมนตรีให้กับชาวบ้าน พร้อมกับเงินชดเชยค่าอพยพตามหลักเกณฑ์ที่รัฐบาลกำหนดมา

ขณะที่นายสมปอง เจริญราษฎร์ แกนนำอีกคนหนึ่ง กล่าวว่าในขณะนี้กระบวนการตรวจสอบสิทธิว่าชาวบ้านเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนก็มีการตรวจสอบเสร็จไปแล้วจำนวน 4,235 ราย ซึ่งเป็นชาวบ้านในกลุ่มของตนเอง แต่ทางจังหวัดอุบลฯ ก็ยังไม่ส่งรายชื่อไปยังกระทรวงพลังงาน เพื่อแก้ไขปัญหาในขั้นตอนต่อไป

ทำให้เกิดความล่าช้าไปอีก ซึ่งในสัปดาห์นี้จะมีการเดินสายเรียกรวมพลชาวบ้านเขตพื้นที่ 3 อำเภอคือ อ.สิรินธร , อ.บุณฑริก และ อ.พิบูลมังสาหาร เพื่อทำความเข้าใจและชวนให้ชาวบ้านได้ออกมาร่วมขับเคลื่อนครั้งสำคัญ ก่อนที่จะมีการนัดชุมชนใหญ่ในเร็วๆนี้

สำหรับปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้านเกิดจากการก่อสร้างเขื่อนสิรินธร ตั้งแต่ปี 2510 – 2513 ก่อนที่จะมีการเปิดใช้งานเขื่อนสิรินธร (กฟผ.สิรินธร) เมื่อปี 2514 ซึ่งขณะนั้นรัฐบาลจ่ายเงินค่าที่ดินให้ไร่ละ 300 – 500 บาทต่อไร่ และจ่ายเฉพาะที่ดินที่มีเอกสารสิทธิตามกฎหมายที่ดิน จำนวน 39,626 ไร่

แต่ตามมติคณะรัฐมนตรีปี 2539 รัฐบาลกำหนดให้จ่ายที่ดินในส่วนที่ไม่มีเอกสารสิทธิ และชาวบ้านครอบครัวทำประโยชน์เพิ่มอีก ซึ่งที่ดินดังกล่าวนี้รัฐบาลยังไม่มีการจ่ายค่าที่ดินให้กับชาวบ้านเลย ซึ่งอาจจะมีมากถึง 140,000 ไร่ ตามพื้นที่ทั้งหมดที่ถูกน้ำท่วม จึงมีการรวมตัวกันออกมาเรียกร้องให้คืนความเป็นธรรมให้กับชาวบ้านและลูกหลานที่ถูกริดรอนสิทธิไปนานกว่า 53 ปี

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ