เก่งไม่ไหว! คณะนักเรียนโรงเรียนอัสสัมชัญคว้าแชมป์โลก แข่งสร้างดาวเทียมจิ๋ว ชนะคู่แข่ง 11 ประเทศ ล่าสุดกลับถึงไทยแล้ว
ภาคภูมิใจเด็กไทยเก่งไม่แพ้ใคร คณะนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาโรงเรียนอัสสัมชัญ กรุงเทพมหานครได้รับรางวัลชนะเลิศ คว้าแชมป์โลกจากการแข่งขันโครงการ Annual Cansat Competition 2022 สร้างดาวเทียมจำลองจิ๋ว ณ สถาบันโพลีเทคนิค และมหาวิทยาลัยรัฐเวอร์จิเนีย รัฐเวอร์จิเนีย สหรัฐอเมริกา
ล่าสุด เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2565 ผู้อำนวยการโรงเรียนอัสสัมชัญ นายกสมาพันธ์สมาคมศิษย์เก่าคณะเซนต์คาเบรียลแห่งประเทศไทย พร้อมคณะครู ตัวแทนคณะกรรมการสมาคมอัสสัมชัญ รวมทั้งผู้ปกครองเดินทางไปรับทีม Descendere ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จ.สมุทรปราการ ส่วนทีม Gravity ได้อันดับ 7 จะบินกลับมาประเทศไทยในวันอังคารที่จะถึงนี้
ทาง American Astronautical Society (AAS) ได้จัดการแข่งขันออกแบบและสร้างในหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับอวกาศสำหรับนักเรียนประจำปี โดยโครงการ Annual Cansat Competition 2022 เป็นการแข่งขันสร้างดาวเทียมจำลองระดับนานาชาติที่มีขนาดเล็กจิ๋วเท่ากระป๋องเครื่องดื่มหรือที่เรียกว่า “Cansat” ตามภารกิจที่ได้รับมอบหมายตั้งแต่วันที่ 9 – 12 มิถุนายน 2565
ภารกิจในปี 2022 นี้ คือ การติดตั้ง Tethered Payload หรือ อุปกรณ์ที่จะดีดตัวออกมาจากภาชนะทรงกระบอก (CANSAT) พร้อมเชือกยาว 10 เมตร ไปกับจรวดที่บินขึ้นสู่ท้องฟ้าไปที่ระดับความสูง 700 เมตร จากพื้นโลก ด้วยความเร็วเสียง (346 เมตรต่อวินาที) การติดตั้งระบบให้สามารถปล่อยเชือกความยาวขนาดนี้ไว้ใน CANSAT ที่มีพื้นที่ที่จำกัดมาก ๆ
โดยมีทีมตัวแทนจากประเทศต่าง ๆ จากทั้งสิ้น 23 ทีม เข้ารอบชิงชนะเลิศ จาก 11 ประเทศทั่วโลก เพื่อคัดเลือกหาผู้ชนะเลิศซึ่งนักเรียนโรงเรียนอัสสัมชัญได้รับรางวัลชนะเลิศจากการแข่งขัน Thailand Cansat Rocket Competition 2022 ซึ่งจัดโดยสทป. และองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) และ สทป. ได้สนับสนุนบุคลากร เครื่องมือและอุปกรณ์ทดสอบที่มีอยู่ในการทดสอบจำลองสภาพแวดล้อม (Environmental Test) ตามกติกาการแข่งขันรวมถึงทดสอบการทำงานของดาวเทียมขนาดเล็ก (Cansat)
ทางศูนย์การเรียนรู้เทคโนโลยีการบินและอวกาศ โรงเรียนอัสสัมชัญ และคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ดำเนินการส่งนักเรียนเข้าร่วมแข่งขัน นำทีมโดยทีม Descendere คว้าแชมป์โลกในการแข่งขันสร้างดาวเทียมจำลองขนาดจิ๋ว ด้วยคะแนน 86.2185% จากจำนวนผู้เข้าร่วม 4 ทวีปทั่วโลก ส่วนทีม Gravity คว้ารางวัลอันดับ 7 ของโลก ด้วยคะแนน 66.4924% ในการแข่งขันรายการเดียวกัน
ตามรายงานของโรงเรียนอัสสัมชัญ นายธรรศวริทธิ์ เครือคล้าย ตัวแทนของ ทีม DESCENDERE เล่าให้ฟังว่า “การทำงานทีม DESCENDERE จะแบ่งเป็น 3 แผนกใหญ่ ๆ ประกอบด้วย ฝ่ายในการดูแลการทำโมเดล 3 มิติ, ฝ่ายอิเล็กทรอนิกส์ และฝ่ายโปรแกรมเมอร์ ซึ่งการเตรียมการก่อนเข้าแข่งขัน ใช้ระยะเวลาประมาณ 9 เดือน ปัญหาและอุปสรรคที่พบ คือ การทำดาวเทียมจิ๋ว (Cansat)เป็นงานทำมือ การควบคุมคุณภาพอย่างละเอียด เป็นเรื่องยากมาก แต่ทีมเราก็พยายามทำให้แต่ละลูกใกล้เคียงกันที่สุด”
นายบุญฤทธิ์ ปฐมนันทพงศ์ ทีม GRAVITY เล่าให้ฟังว่า “ภารกิจ ถูกแบ่งออกเป็น 2 ภารกิจ ได้แก่ ภารกิจหลัก คือเมื่อตกลงมาต้องมีร่มชูชีพ 2 อัน ร่มแรกต้องกางออกเมื่อออกมาจากจรวดและมีความเร็ว 15 เมตร/วินาที”
“ร่มที่สองต้องกางที่ความสูง 400 เมตรและมีความเร็ว 5 เมตร/วินาที และเมื่อถึง 300 เมตร ต้องปล่อยตัว Payload ที่ถูกเกี่ยวด้วยเชือกยาว 10 เมตรออกมา โดยตัว Payload จะต้องมีกล้องถ่ายวิดีโอไปทางทิศใต้ตลอดเวลา ส่วนภารกิจพิเศษคือมีกล้องใน Container เพื่อบันทึกวีดีโอขณะที่กำลังปล่อย Payload”
ขอบคุณที่มาจาก สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ โรงเรียนอัสสัมชัญ