“ดนตรีไม่เคยเป็นอาวุธ” กับ 5 เพลงที่มนุษย์ใช้ทำร้ายกันเอง

Home » “ดนตรีไม่เคยเป็นอาวุธ” กับ 5 เพลงที่มนุษย์ใช้ทำร้ายกันเอง



“ดนตรีไม่เคยเป็นอาวุธ” กับ 5 เพลงที่มนุษย์ใช้ทำร้ายกันเอง

ช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เกิดดราม่าในหมู่คนฟังเพลง เมื่อนักร้องสายโรแมนติก “บอย – ตรัย ภูมิรัตน์” ตั้งสเตตัสในเฟซบุ๊ก ถึงการแต่งเพลงเพื่อให้กำลังใจบุคลากรทางการแพทย์ในสถานการณ์โควิด-19 พร้อมแสดงความเห็นเกี่ยวกับกรณีที่มีเสียงวิจารณ์ให้ศิลปินแต่งเพลงวิจารณ์การเมือง โดยระบุว่า “ดนตรีไม่เคยเป็นอาวุธ” ส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์ “ทัวร์ลง” เนื่องจากมีผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับข้อความดังกล่าว ขณะเดียวกัน นักฟังเพลงหลายคนต่างก็แสดงความเห็นต่อกรณีนี้ว่า ที่ผ่านมา เพลงถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองหลายครั้งในประวัติศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นการต่อต้านอำนาจที่ฉ้อฉลของรัฐ รวมไปถึงการใช้เพลงเพื่อทำลายผู้เห็นต่างทางการเมืองก็มีให้เห็นเช่นกัน แม้ว่านักร้องชื่อดังจะโพสต์ขอโทษในที่สุด แต่ก็ยังคงมีคนแสดงความเห็นเกี่ยวกับบทบาทของเพลงในการต่อสู้ทางการเมืองอย่างแพร่หลาย

  • “บอย ตรัย” โพสต์หลังทำเพลงให้กำลังใจแพทย์ แล้วเจอคอมเมนต์โยงรัฐบาล

เมื่อการใช้เพลงเป็นอาวุธไม่ใช่แค่เรื่องในจินตนาการอย่างพระอภัยมณีเป่าปี่ไล่นางผีเสื้อสมุทร หรือเรื่องขำขันอย่างสกิลการร้องเพลงระดับหายนะของไจแอนท์ในการ์ตูนโดราเอมอน Sanook ก็ขอรวบรวมตัวอย่างเพลงที่กลายเป็นเครื่องมือที่มนุษย์นำมาใช้ในการทำร้ายกัน ซึ่งส่งผลกระทบรุนแรงอย่างไม่น่าเชื่อ

หนักแผ่นดิน

“หนักแผ่นดิน” ประพันธ์คำร้องโดย พ.อ.บุญส่ง หักฤทธิ์ศึก เมื่อปี 2518 เป็นเพลงปลุกใจที่นักวิชาการมองว่าเป็นครื่องมืออันทรงอิทธิพลของรัฐ ในการต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ และเป็นเพลงที่ใช้ในการปลุกระดมความเกลียดชังต่อนักศึกษาและประชาชนที่เคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมทางสังคม โดยกล่าวหาว่านักศึกษาเป็นคอมมิวนิสต์ จนกลายเป็นเหตุการณ์สังหารหมู่นักศึกษาและประชาชน ในวันที่ 6 ตุลาคม 2519

ในการศึกษาเรื่อง “6 ตุลาในความทรงจำของฝ่ายขวา 2519-2549 : จากชัยชนะสู่ความเงียบ (แต่ยังชนะอยู่ดี)” โดยธงชัย วินิจจะกูล ระบุว่า หลังจากการปราบปรามเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 สถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 และวิทยุยานเกราะได้ถ่ายทอดสดรายการเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นช่วงเช้า และมีการสนทนากับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง โดยมีเสียงเพลงหนักแผ่นดินดังประกอบตลอดการสนทนา

เพลงหนักแผ่นดินกลายเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์อีกครั้งเมื่อปี 2562 เมื่อ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ หรือ “บิ๊กแดง” ผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้น ให้สัมภาษณ์ในกรณีที่พรรคการเมืองเสนอให้ตัดงบประมาณของกองทัพและยกเลิกเกณฑ์ทหาร โดยระบุว่า “ให้ไปฟังเพลงหนักแผ่นดิน” ส่งผลให้เกิดกระแสดราม่าในโลกออนไลน์ จนทำให้แฮชแท็ก #หนักแผ่นดิน กลายเป็นแฮชแท็กยอดนิยมอันดับ 1 โดยคนรุ่นใหม่แสดงความไม่เห็นด้วยกับการหยิบยกเพลงนี้มาใช้ เนื่องจากเป็นเพลงที่สร้างความเกลียดชังต่อผู้ที่มีความเห็นต่างทางการเมือง

Enter Sandman – Metallica

แม้ว่าการทรมานนักโทษเพื่อให้ยอมรับสารภาพจะเป็นวิธีการที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง แต่ก็ยังถูกนำมาใช้ในหลายพื้นที่ มีรายงานว่า กองทัพสหรัฐอเมริกาใช้วิธีการที่เรียกว่า “Torture lite” หรือการเปิดเพลงเสียงดังๆ ให้นักโทษฟังวนตลอดทั้งวัน จนกว่าจะยอมรับสารภาพ ซึ่งเป็นปฏิบัติการทางจิตวิทยาที่ใช้ทำลายขวัญและกำลังใจของฝ่ายตรงข้าม โดยไม่ทิ้งรอยแผลไว้ตามร่างกาย แต่ส่งผลต่อสภาพจิตใจ และเพลงยอดฮิตที่ถูกนำมาใช้ในการทรมานคือ “Enter Sandman” ของ Metallica ซึ่งมีรายงานว่าถูกนำมาใช้ในเรือนจำกวนตานาโมในคิวบา และสถานกักกันบริเวณชายแดนอิรัก-ซีเรีย

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ วง Metallica ไม่เคยออกมาแสดงจุดยืนอย่างชัดเจนเกี่ยวกับการนำผลงานของพวกเขาไปใช้ในปฏิบัติการสุดโหดเช่นนี้ โดยในปี 2551 เจมส์ เฮทฟีลด์ ผู้ร่วมก่อตั้งวง ให้สัมภาษณ์ เขารู้สึกภาคภูมิใจที่กองทัพเลือกเพลงของเขาไปใช้ แต่อีกส่วนหนึ่งก็รู้สึกไม่ดีที่หลายคนมองว่า เพลงนี้ถูกนำไปโยงกับการเมือง ซึ่งทางวงก็พยายามไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เนื่องจากพวกเขาคิดว่าเพลงกับการเมืองไม่เกี่ยวข้องกัน ทว่าในปี 2556 มีรายงานว่าทางวง Metallica เรียกร้องให้กองทัพสหรัฐฯ หยุดใช้เพลงของพวกเขา โดยให้เหตุผลว่าไม่ต้องการสนับสนุนความรุนแรง

Baby Shark

ไม่ใช่แค่เพลงร็อกเท่านั้นที่ถูกนำมาใช้ในการทรมาน เพลงเด็กน่ารักมุ้งมิ้งอย่าง Baby Shark ก็ถูกนำมาใช้ทรมานนักโทษได้เช่นกัน โดยในปี 2020 อดีตเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ 2 คน ในเรือนจำโอกลาโฮมา สหรัฐอเมริกา ถูกกล่าวหาว่าลงโทษผู้ต้องขังอย่างไร้มนุษยธรรม โดยการบังคับให้ผู้ต้องขังฟังเพลง Baby Shark ซ้ำๆ

จากการสืบสวนพบว่า ผู้ต้องขังอย่างน้อย 4 คน ถูกบังคับให้ยืนเป็นเวลาหลายชั่วโมง พร้อมสวมกุญแจมือไพล่หลัง และฟังเพลงดังกล่าวด้วยระดับเสียงดัง เป็นเวลานานถึง 1 เดือน และเจ้าหน้าที่ทั้งสองคนก็ให้การสารภาพว่า ได้ร่วมมือกันกระทำความผิดอย่างเป็นระบบ โดยเรียกว่าเป็นการสั่งสอนผู้ต้องขัง และมองว่าการเปิดเพลงดังกล่าวให้ผู้ต้องขังฟังนั้นเป็นการเล่นกันขำๆ อย่างไรก็ตาม การเปิดเพลงซ้ำๆ ส่งผลให้ผู้ต้องขังที่มีความเจ็บป่วยทางร่างกายจากสิ่งที่กระตุ้นให้เกิดความเครียด ยิ่งมีระดับความเครียดที่สูงเกินกว่าปกติ

I Love You – Barney

นอกจาก Baby Shark แล้ว เพลงเด็กอีกเพลงที่ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการทรมาน ก็ได้แก่ I Love You ซึ่งเป็นเพลงประกอบในรายการการ์ตูน Barney หรือเจ้าไดโนเสาร์สีม่วงนั่นเอง

หน่วยงานปฏิบัติการทางจิตวิทยาของสหรัฐอเมริกา (USA’s Psychological Operations Company) ใช้เพลงนี้ในการรีดข้อมูลจากนักโทษในอิรัก เช่นเดียวกับเพลงของ Metallica โดยหนึ่งในบุคลากรของปฏิบัติการนี้เคยให้สัมภาษณ์ว่า ในการฝึกอบรม เขาต้องฟังเพลงนี้ซ้ำๆ ต่อเนื่องกันเป็นเวลา 45 นาที และยอมรับว่า เขาไม่อยากสัมผัสประสบการณ์เช่นนี้อีกต่อไปแล้ว

นอกจากนี้ เนื้อเพลงที่ร้องว่า “I love you, you love me – we’re a happy family. With a great big hug and a kiss from me to you, won’t you say you love me too?” ที่แม้ว่าจะดูไม่มีอะไรน่ากลัว แต่สำหรับการทรมานนั้น เพลงนี้เรียกว่า “เพลงไร้ประโยชน์” ที่ออกแบบมาเพื่อให้นักโทษรู้สึกว่าเปล่าประโยชน์ที่จะยืนหยัดในจุดยืนของตัวเองต่อไป

My Love – Westlife

ใครว่าเพลงป็อบใสๆ ใช้ทรมานคนไม่ได้ ขอให้คิดใหม่ เพราะเพลงฮิตแห่งยุค 2000 อย่าง My Love ของวงบอยแบนด์ Westlife ก็ยังถูกนำมาใช้เปิดเพื่อทรมานนักโทษเช่นกัน โดยในปี 2015 สหภาพเสรีภาพพลเมืองอเมริกัน (American Civil Liberties Union – ACLU) ได้ยื่นฟ้องต่อศาล โดยอ้างว่า หน่วยงาน CIA ของสหรัฐฯ ได้ใช้เพลงนี้ในการทรมานนักโทษ และหนึ่งในนักโทษที่ได้รับการปล่อยตัวออกมา ให้สัมภาษณ์ว่า เจ้าหน้าที่ที่สอบสวนเขาเลือกเพลงนี้ให้เขาโดยเฉพาะ เนื่องจากเขาถูกจับกุมตัวหลังจากที่เข้าพิธีแต่งงานเพียง 2 สัปดาห์ และเขาก็ไม่ได้พบกับภรรยาของเขาอีกเลย

อย่างไรก็ตาม ยังมีเพลงของอีกหลายศิลปินที่ถูกนำมาใช้ในการทรมานนักโทษ ไม่ว่าจะเป็น AC/DC, Drowning Pool and Deicide หรือแม้กระทั่ง Eminem ทว่าบุคคลในวงการเพลงกลับไม่ตั้งคำถามหรือแสดงท่าทีใดๆ ต่อการนำเพลงไปใช้ในการทรมาน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

  • 7 เพลงอมตะสะท้อนสังคม ที่ยังไม่ “เชย” ในยุคปัจจุบัน
  • “HOCKHACKER” เสรีภาพของศิลปินเท่ากับเสรีภาพของทุกคน
  • เมื่อสังคมอุดมดราม่า ดาราพูดเรื่องการเมืองได้ไหม

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ