ชัยวุฒิ ชี้มาตรการยกเว้นภาษี Capital Gain Tax ช่วยดึงดูดการลงทุน หนุนสตาร์ทอัพไทยเติบโต พร้อมก้าวสู่ระดับสากล สร้างความแข็งแกร่งให้กับภาคเศรษฐกิจของไทย
เมื่อวันที่ 20 มิ.ย.2565 นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เปิดเผยว่า ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติมาตรการยกเว้นภาษี หรือ Capital Gain Tax เป็นเวลา 10 ปีแก่นักลงทุนไทยและต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในดิจิทัลสตาร์ทอัพไทยภายใต้ 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยจะต้องถือหุ้นไม่น้อยกว่า 24 เดือนตามที่ กระทรวงการคลัง โดยกรมสรรพากร เสนอ
ซึ่งพระราชกฤษฎีกา(พ.ร.ฎ.)ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 750) พ.ศ. 2565 (มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการระดมทุนในวิสาหกิจเริ่มต้น) มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 15 มิ.ย.ที่ผ่านมานั้น พ.ร.ฎ.ดังกล่าว เป็นการยกเว้นภาษีเงินได้ของบุคคลธรรมดา และบริษัทหรือห้างหุ้นส่วน นิติบุคคลในบางกรณี ซึ่งในที่นี้เราเรียกว่าการยกเว้นภาษี Capital Gain Tax
ในอดีตนักธุรกิจที่ลงทุนในบริษัท ห้างหุ้นส่วนต่างๆ เมื่อมีการขายหุ้นแล้ว หุ้นมีกำไรก็ต้องมีการเสียภาษี Capital Gain 15 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นภาระทำให้การลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอัพเกิดขึ้นได้ยาก เพราะไม่อยากเสียภาษีตัวนี้กัน ก็หนีไปลงทุนที่ต่างประเทศ ทำให้การลงทุนในด้านสตาร์ทอัพในไทยไม่เติบโตเท่าที่ควร
ในปัจจุบันจึงออก พ.ร.ฎ.ยกเว้นภาษี Capital Gain Tax ซึ่งส่งผลดีต่อสตาร์ทอัพสัญชาติไทย นักลงทุนจะมาตั้งกองทุนที่เรียกว่า Venture Capital เป็นธุรกิจร่วมลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอัพ ด้านเทคโนโลยีสมัยใหม่และเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งจะเป็นธุรกิจสำคัญที่จะเสริมสร้างเศรษฐกิจให้เติบโต และสร้างงานสร้างรายได้ให้กับประชาชนในประเทศไทยต่อไป
ทั้งนี้ มีการประเมินจากสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทยว่า มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการระดมทุนในสตาร์ทอัพ จะกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในสตาร์ทอัพไทยมากกว่า 3.2 แสนล้านบาท ภายในปี 2569 เกิดการจ้างงานเพิ่มกว่า 4 แสนตำแหน่ง และก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 7.9 แสนล้านบาท ซึ่งจะเป็นประโยชน์ที่เห็นได้ชัดจากการยกเว้นภาษี Capital Gain Tax
นายชัยวุฒิ กล่าวว่า มาตรการยกเว้นภาษี Capital Gain Tax โดยความร่วมมือระหว่าง กรมสรรพากร กระทรวงการคลัง สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ และ ดีป้า จะขึ้นทะเบียนกำหนดกฎเกณฑ์ว่า บริษัท ลักษณะไหนที่เป็นสตาร์ทอัพ ที่จะได้รับการยกเว้นภาษี Capital Gain Tax
เมื่อเรามีความชัดเจนเรื่องนี้มากขึ้น ต่อไปเราก็จะเหลือการลงทุน คณะลงทุนไทยและต่างชาติ ผ่านธุรกิจเงินร่วมลงทุน ที่เรียกว่า Venture Capital : VC พอเงินลงทุนเหล่านี้เข้ามา ก็จะทำให้สตาร์ทอัพของสัญชาติไทยของเรามีการเติบโต มีเงินลงทุน สามารถพัฒนาธุรกิจให้แข็งแกร่งต่อไปได้ในอนาคต ซึ่งก็จะสร้างความเข้มแข็งภาคเศรษฐกิจในประเทศเราต่อไป