“เฉลิมชัย”เผย กมธ.สธ. วุฒิสภา ทำงานเชิงรุก เปิดห้องคุยปัญหาการใช้-ข้อกังวล ใช้กัญชาเสรี จ่อเสนอข้อห่วงใย ให้กมธ.สภาฯ ปรับแก้ร่างกม.กัญชา-กัญชง
วันที่ 19 มิ.ย. 2565 นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ ส.ว. ฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การสาธารณสุข คนที่หนึ่ง วุฒิสภา เปิดเผยว่า วันที่ 22 มิ.ย.นี้ กมธ.การสาธารณสุข ได้นัดหารือต่อเนื้อหาของร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กัญชา กัญชง พ.ศ… และ ร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมการใช้ประโยชน์กัญชา กัญชง พ.ศ… ที่สภาฯ ลงมติรับหลักการและตั้งกมธ. พิจารณาเนื้อหา ตามที่ กมธ.วิสามัญกิจการวุฒิสภามอบหมายให้ศึกษาล่วงหน้า
” อย่างไรก็ดีในการพิจารณาดังล่าวเป็นการทำงานเชิงรุกของส.ว. เพื่อศึกษาร่างกฎหมายที่สภาฯรับหลักการ ให้เกิดความรอบคอบ ทั้งนี้ กมธ. ได้เชิญหลายฝ่าย เข้าร่วมประชุม อาทิ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข, คณะกรรมการอาหารและยา (อย.) , กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ รวมถึงหน่วยงานด้านเศรษฐกิจ “
เมื่อถามว่า การใช้ประโยชน์ของกัญชาจากการปลดล็อกจากยาเสพติดให้โทษ มีโจทย์เรื่องป้องกันผลกระทบต่อสังคม อย่างไร
นพ.เฉลิมชัย กล่าวว่า ปัญหาขณะนี้ คือ กัญชาที่ไม่ผิดกฎหมาย ต้องมีสารทีเอชซี ไม่เกิน 0.2% แต่จุดอ่อนคือ ใครจะเป็นผู้ตรวจ ต้นกัญชาทุกส่วนมีสารทีเอชซีไม่เกินปริมาณกำหนด ยกเว้นช่อดอก ดังนั้นต้องให้ช่อดอกกัญชายังเป็นส่วนที่ผิดกฎหมาย หลังการประชุมวันที่ 22 มิ.ย. กมธ.จะรับฟังความเห็นของส.ว.ร่วมด้วย เพื่อให้เป็นความเห็นร่วมกัน
สำหรับปัญหาที่สังคมกังวล ส.ว. มีวิธีทำงานที่สามารถส่งข้อเสนอแนะไปยังกมธ.ของสภาฯ อย่างไม่เป็นทางการ เพื่อขอให้พิจารณาข้อห่วงใยและปรับแก้ไขกฎหมาย การทำงานไม่ถือเป็นก้าวล่วง ไม่มีบทบังคับให้ส.ส.ต้องพิจารณาทำตามเพราะการพิจารณาของกมธ.ชั้นส.ส.นั้นมีความเป็นอิสระ แต่เมื่อร่างกฎหมายหากผ่านวาระสามของส.ส. แล้วต้องส่งต่อมายัง ส.ว. หากเนื้อหาสามารถปรับแก้ไขให้รอบคอบรอบด้าน จะสามารถผ่านไปได้รวดเร็ว แต่หากมมีประเด็นที่ส.ว. ปรับแก้ ต้องใช้เวลาอีกนาน
“ในสมัยของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้ผ่อนคลายให้กัญชาออกจากบัญชียาเสพติด ทุกส่วนหากใช้ถือว่าผิดกฎหมายย แต่เมื่อปลดล็อกในรอบแรก ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด ให้ใช้วิจัยทางการแพทย์ รักษาคนไข้ ไม่ใช่ให้สูบหรือสันทนาการ ซึ่งประมวลกฎหมายยาเสพติดที่แก้ไขนั้น กำหนดว่าหากจะออกระเบียบใด ต้องใช้อำนาจจากหลายฝ่าย ทั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด เพื่อไม่ให้ดุลยพินิจอยู่ที่คนๆ เดียว
ยอมรับว่าปัญหาที่เกิดปัจจุบัน มีมาตั้งแต่วันที่ 9 ก.พ. หลังจากมีการเสนอขอความเห็นของกรรมการ เฉพาะรายละเอียดที่ทำได้ คือ ไม่ได้ประกาศให้ถูกกฎหมาย 100% แต่ถูกกฎหมายเฉพาะกัญชาที่มีสารทีเอชซี ไม่เกิน 0.2% แต่ปัญหาคือ ใครจะเป็นคนตรวจ ดังนั้นจึงเป็นจุดอ่อน” นพ.เฉลิมชัย กล่าว