“สุรพงษ์ เลาหะอัญญา” กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส บริษัทในกลุ่ม บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) เปิดเผยว่า บริษัทเตรียมยื่นฟ้องกรุงเทพมหานคร (กทม.) ต่อศาลปกครองภายในไม่เกินสัปดาห์หน้า เพื่อให้ชดใช้หนี้ที่ติดค้างกับบริษัทกว่า 3 หมื่นล้านบาท
วันนี้ (26 เม.ย.) เวลา 11.00 น. นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ชี้แจงความคืบหน้า เรื่อง “การดำเนินงานโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว” ผ่านทางเพจเฟซบุ๊ก : รถไฟฟ้าบีทีเอส โดยมีรายละเอียดเนื้อหา ดังนี้
นายสุรพงษ์ กล่าวว่า สืบเนื่องจากบริษัทฯ ส่งหนังสือติดตามทวงถามตามกฎหมายให้กรุงเทพมหานคร และบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ชำระหนี้แก่บริษัทฯ ซึ่งปรากฏในสื่อ และหนังสือพิมพ์เป็นจำนวนมาก ซึ่งเมื่อครบกำหนดระยะเวลา 60 วัน ตามที่บริษัทฯ ได้ระบุไว้ในหนังสือทวงถามนั้น บริษัทฯ ก็ยังไม่ได้รับแจ้งถึงแนวทางการชำระหนี้ทั้งหมดหรือบางส่วนจากภาครัฐแต่อย่างใด
- บีทีเอสเผยคลิปทวงหนี้รัฐบาล! แจงมีหนี้ค้างกว่า 3 หมื่นล้าน หวั่นประชาชนเดือดร้อน
- ชัชชาติ ยังอึ้ง! เจอคลิปทวงหนี้ 3 หมื่นล้านบนรถไฟฟ้า BTS พร้อมเสนอวิธีปลดหนี้
และต่อมาเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2564 บริษัทฯ ได้ออกจดหมายและคลิปวีดีโอชี้แจงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับการเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวให้ผู้โดยสาร และประชาชนทั่วไปรับทราบ โดยบริษัทฯ ยืนยันว่าการใช้สิทธิทางกฎหมายที่ผ่านมา บริษัทฯ ไม่เคยกระทำการใดๆ ที่ส่งผลกระทบหรือเรียกร้องให้ภาครัฐใช้อำนาจตามกฎหมายกำหนดอัตราค่าโดยสารเพิ่มขึ้น
ณ ปัจจุบัน ทางบริษัทฯ กำลังประสบปัญหาอย่างมาก จากการต้องแบกรับภาระหนี้จำนวนมากเป็นระยะเวลานานกว่า 4 ปี นับตั้งแต่เดือนเมษายน 2560 ที่เริ่มเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 2 (ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ) เพื่อสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการช่วยเหลือแบ่งเบาภาระค่าโดยสารให้แก่ประชาชน
โดยตลอดเวลาที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้พยายามติดต่อกรุงเทพมหานคร และบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด เพื่อหาทางออกกับปัญหาที่เกิดขึ้น แต่ก็ยังไม่มีความชัดเจนถึงแนวทางการชำระหนี้ ทำให้ ณ ปัจจุบัน ภาระหนี้สะสมที่ภาครัฐบาลมีต่อบริษัทฯ เพิ่มขึ้นสูงกว่า 30,000 ล้านบาท (ประกอบด้วยหนี้ค่าจ้างเดินรถตั้งแต่เดือนเมษายน 2560 จนถึงเดือนมีนาคม 2564 จำนวน 10,903 ล้านบาท และหนี้ค่าซื้อระบบการเดินรถ (ไฟฟ้าและเครื่องกล) จำนวน 20,768 ล้านบาท) ซึ่งหาก กทม.ไม่ดำเนินการใดๆ จะทำให้ภาระหนี้ดังกล่าวปรับเพิ่มขึ้นไปถึง 9 หมื่นล้านบาทในปี 2572 (ปีสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน) ที่จะมาจากค่าจ้างเดินรถส่วนต่อขยาย 6 หมื่นล้านบาทรวมดอกเบี้ย และค่าติดตั้งระบบเดินรถและอาณัติสัญญาณ 3 หมื่นล้านบาทรวมดอกเบี้ย
ซึ่งล่าสุดตามที่เป็นข่าวของการประชุมสภา กทม. เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2564 ที่ผ่านมา สภา กทม. ได้ปฏิเสธการใช้งบประมาณของ กทม.มาชำระหนี้ดังกล่าว และได้เสนอทางเลือกให้กับฝ่ายบริหารในการขอให้รัฐบาลสนับสนุนหรือร่วมลงทุนกับเอกชน ตามแนวทางของคำสั่ง คสช.
ดังนั้นในฐานะที่เป็นบริษัทลูกของ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และมีผู้ถือหุ้นซึ่งเป็นประชาชนร่วมลงทุนอยู่จำนวนกว่า 101,700 ราย รวมถึงมีเจ้าหนี้ที่ให้เงินกู้แก่บริษัทฯ มาประกอบธุรกิจอีกเป็นจำนวนมาก จึงได้ใช้สิทธิตามสัญญาในการติดตามทวงถามกรุงเทพมหานคร และบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ซึ่งบริษัทฯ ได้ดำเนินการตามขั้นตอนทางกฎหมาย และไม่ได้มีความประสงค์ที่จะนำหนี้ค้างชำระดังกล่าว มาเป็นเงื่อนไขในการแก้ไขสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวภายใต้คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 3/2562 แต่อย่างใด
แม้ว่าที่ผ่านมารัฐบาลได้พยายามหาทางแก้ไขปัญหาภาระหนี้ โดยในปี 2562 ได้เสนอขอให้ทางบริษัทฯ เป็นผู้แบกรับความเสี่ยงในผลประกอบการในระยะยาว แทนการเรียกหนี้ที่ค้างชำระดังกล่าวกับภาครัฐบาล ซึ่งนำมาสู่ผลการเจรจาร่างสัญญาแก้ไขสัญญาสัมปทานที่ได้รับความเห็นชอบโดยคณะกรรมการที่แต่งตั้งขึ้นภายใต้คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 3/2562 และผ่านการตรวจสอบในการอภิปรายไม่ไว้วางใจโดยสภาผู้แทนราษฎรแล้ว
โดยในขณะนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี ซึ่งเป็นเรื่องที่อยู่ในอำนาจและดุลยพินิจของภาครัฐบาล ที่จะกำหนดใช้แนวทางใดตามที่เห็นสมควร โดยพิจารณาถึงประโยชน์สูงสุดต่อประเทศและประชาชน
ที่สำคัญ บริษัทฯ รับทราบว่าที่ผ่านมารัฐบาลได้ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย เพื่อพยายามแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว และบริษัทฯ ได้ให้ความร่วมมือด้วยดีกับภาครัฐบาลในการสนับสนุนและแก้ไขปัญหามาโดยตลอด
ส่วนแนวทางการดำเนินการต่อไปจะเป็นเช่นไรเป็นเรื่องที่อยู่ในดุลยพินิจของรัฐบาล โดยบริษัทฯ ยังคงยืนยันที่จะดำเนินการใช้สิทธิตามกฎหมายและสัญญาในขั้นตอนต่อไป เพื่อปกป้องสิทธิผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ ซึ่งเป็นประชาชนรายย่อยที่ถือหุ้นอยู่จำนวนมาก ซึ่งภายในไม่เกินสัปดาห์หน้า บริษัทจะยื่นฟ้องกรุงเทพมหานคร (กทม.) ต่อศาลปกครอง เพื่อเรียกร้องให้ชดใช้หนี้ที่ติดค้างกับบริษัทกว่า 3 หมื่นล้านบาท
ตลอดระยะเวลากว่า 21 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2542 บริษัทฯ ได้จัดให้มีบริการระบบขนส่งมวลชนสาธารณะที่มีประสิทธิภาพ สามารถอำนวยความสะดวกให้แก่ท่านผู้โดยสารและประชาชน ช่วยบรรเทาปัญหาการจราจร และมลภาวะในกรุงเทพมหานครอย่างยั่งยืน แม้ว่าในบางช่วงเวลาที่ผ่านมาบริษัทฯ จะเคยประสบปัญหาสถานภาพทางการเงินอย่างหนัก จนถึงกับต้องนำบริษัทฯ เข้าฟื้นฟูผ่านศาลล้มละลายมาแล้ว จากการที่ต้องรับภาระลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนหลักทั้งหมด ซึ่งเป็นเพียงโครงการเดียวในประเทศไทยที่กำหนดให้เอกชนต้องเป็นผู้ลงทุนเองทั้งหมด รวมถึงงานโครงสร้างพื้นฐาน แต่บริษัทฯ เลือกที่จะยึดมั่นในหลักการที่จะให้บริการเดินรถที่ดีที่สุดแก่ประชาชน จึงทำให้ในช่วงเวลาดังกล่าว บริษัทฯ ยังคงให้บริการเดินรถได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อเนื่อง โดยไม่ส่งผลกระทบใดๆ และในอนาคตบริษัทฯ จะพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อให้ผู้โดยสารทุกท่านได้รับบริการเดินรถที่มีประสิทธิภาพดีที่สุดอย่างต่อเนื่องต่อไป
“บริษัทยังคงให้บริการการเดินรถ ในอนาคตบริษัทจะทำทุกวิถีทางที่จะให้การเดินรถได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป ณ วันนี้ เราพยายามให้บริการให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ เราไม่ได้นำเรื่องหนี้มาบีบแก้ไขสัญญา” นายสุรพงษ์ ระบุ
นอกจากนี้ นายสุรพงษ์ ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า สัญญาการเดินรถของรถไฟฟ้าสายสีเขียว แบ่งเป็น 3 ตอน ได้แก่ ตอนที่ 1 ช่วงหมอชิต-อ่อนนุช และ สะพานตากสิน-สนามกีฬาแห่งชาติ ซึ่งเป็นส่วนที่บริษัทลงทุนเอง 100% ตอนที่ 2 เป็นส่วนต่อขยาย ช่วงอ่อนนุช-แบริ่ง และ สะพานตากสิน-บางหว้า ซึ่งทาง กทม.เป็นผู้ลงทุน และตอนที่ 3 ช่วงแบริ่ง-เคหะสมุทรปราการ และ หมอชิต-คูคต ซึ่ง กทม.รับโอนมาจาก รฟม.
โดยหากนับรวมระยะทางแล้วจะทำให้มีค่าโดยสารสูงสุด 158 บาท แต่ทาง กทม.และรัฐบาลเห็นว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะเก็บค่าโดยสารในอัตราดังกล่าว จึงได้มีการเจรจากับบริษัทเพื่อให้ค่าโดยสารอยู่ในระดับที่ประชาชนรับได้ ส่งผลให้มีการปรับเพดานค่าโดยสารมาเป็นไม่เกิน 65 บาท จึงทำให้ต้องมีการแก้ไขสัญญาสัมปทานสายสีเขียว
ส่วนที่กระทรวงคมนาคมมีข้อเสนอให้ปรับค่าโดยสารมาอยู่ที่ 50 บาท และมูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภคเสนอที่ 25 บาทนั้น นายสุรพงษ์ กล่าวว่า ปัจจุบันเก็บค่าโดยสารสายสีเขียวสูงสุด 59 บาทก็ยังขาดทุนราว 6 พันล้านบาท แต่ที่กระทรวงคมนาคมเสนอ เพราะคาดการณ์ตัวเลขจำนวนผู้โดยสาร 1.1 ล้านคน/วัน แต่ตัวเลขจริงมีผู้โดยสารไม่ถึง 8 แสนคน/วัน (ก่อนเกิดโควิด) ต่างกันถึง 30% ทำให้การคาดการณ์รายได้คลาดเคลื่อน และค่าใช้จ่ายน้อยกว่าความเป็นจริง
ขณะที่ข้อมูลของมูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภคไม่ได้ใช้ข้อมูลปัจจุบันไปถึงปี 2572 แต่ไปอิงข้อมูลในปี 2585 ทำให้เห็นว่ามีกำไร ทั้งที่บริษัทมีผลขาดทุนอยู่
ส่วนกรณีที่จะจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อนำเงินมาลดภาระหนี้ค้างชำระกับ กทม.นั้น นายสุรพงษ์ กล่าวว่า การจัดตั้งกองทุนดังกล่าวเป็นไปไม่ได้ เพราะกองทุนจะไม่มีการจ่ายเงินปันผลไป 8 ปี นับตั้งแต่ปี 2564-2572 ดังนั้นคงไม่มีใครเข้ามาลงทุน
ทั้งนี้ นายสุรพงษ์ ย้ำว่า ปัจจุบันจำนวนผู้โดยสารของรถไฟฟ้าสายสีเขียวลดลงไป 70% จากการระบาดของโควิด-19 ระลอก 3 แต่บริษัทก็ไม่ได้ลดความถี่การเดินรถ กลับเพิ่มขึ้นมาเพื่อไม่ให้เกิดความแออัดภายในขบวนรถ