โคราช วุ่นไม่จบ ! ชาวบ้าน 3 ตำบล ยื่นหนังสือผู้ว่าฯ ค้านสร้างรถไฟบนดิน ตัดแบ่งชุมชนสองฝั่ง จี้ รฟท.ปรับรูปแบบเป็นตอม่อยกระดับ
เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 13 มิ.ย. 2565 ที่ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดนครราชสีมา นายประพจน์ ธรรมประทีป สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ส.อบจ.) นครราชสีมา อ.เมืองนครราชสีมา เขต 4 ในฐานะผู้ประสานงานชุมชน 3 ตำบล เขต อ.เมืองนครราชสีมา ประกอบด้วย ต.โคกกรวด ต.บ้านใหม่ และ ต.ในเมือง พร้อมนางมัณฑนา รามณัฎ ประธานกลุ่มพัฒนาชุมชน 3 ตำบล นายพัชกฤติ ศุภลักษณ์ เลขานุการกลุ่มพัฒนาชุมชน 3 ตำบล และผู้นำชุมชน
รวมตัวยื่นหนังสือกับนายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา และนายสมเกียรติ วิริยะกุลนันท์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เรื่อง ชี้แจงเหตุผลการรวมตัวของประชาชน 3 ตำบล ร้องขอให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และรัฐบาล ทบทวนพิจารณาปรับรูปแบบโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา และรถไฟทางคู่ ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ จากคันดินเป็นตอม่อ ช่วงผ่าน 6 จุดตัดทางข้ามรถไฟตั้งแต่ ต.โคกกรวด ต.บ้านใหม่ สิ้นสุดที่เขตต่อ ต.ในเมือง
โดยก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 5 มิ ย. ที่ผ่านมา ชาวบ้าน 3 ตำบล นัดรวมตัวบริเวณจุดตัดทางข้ามรถไฟบ้านเดื่อ หมู่ 8 ต.โคกกรวด อ.เมือง ระหว่างนั้นมีขบวนรถไฟธรรมดา 234 สุรินทร์-กรุงเทพมหานคร มุ่งหน้าเข้าสถานีโคกกรวด ขณะกำลังแล่นผ่านช่วงหลักเสาโทรเลขรถไฟที่ 240+978 ซึ่งเป็นบริเวณพื้นที่จัดกิจกรรม ได้มีชาวบ้านยืนอยู่บนทางรถไฟ ขบวนรถต้องหยุดรอประมาณ 5 นาที
จากนั้นพระสงฆ์ 6 รูป ประกอบพิธีสวดหน้าไฟและจุดไฟเผาหีบศพ เขียนข้อความ “งานฌาปนกิจศพไอ้คันดิน 5 มิ.ย.65″ ต่อมาทั้งหมดได้เดินทางไปที่จุดตัดทางข้ามรถไฟบริเวณหน้าบุรีสีมา ต.บ้านใหม่ อ.เมือง ร่วมเวทีปราศรัยและเผาหุ่นฟาง ก่อนจะแยกย้ายเดินทางกลับที่พักด้วยความสงบเรียบร้อย
นางมัณฑนา ประธานกลุ่มพัฒนาชุมชน 3 ตำบล เปิดเผยว่า การร้องขอทั้งรัฐบาล คณะกรรมาธิการคมนาคม และ รฟท.ให้ปรับรูปแบบโครงการก่อสร้างทางรถไฟ จากคันดินให้เป็นยกระดับตอม่อ แต่ไม่ได้รับคำตอบ จึงต้องจัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์แสดงออกถึงความเดือดร้อน ซึ่งมีพี่น้องประชาชนกว่า 300 คน ร่วมกิจกรรม และลงชื่อแล้ว 3,951 คน
นางมัณฑนา กล่าวต่อว่า ยืนยันพวกเรามิได้ต้องการขัดขวางหรือก่อกวนให้เกิดความปั่นป่วนในสังคม แต่ข้อเท็จจริงหากทางรถไฟเป็นคันดินจะส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตในอนาคตอย่างหลีกเลี่ยงมิได้ ขณะนี้มีมือที่มองไม่เห็นอ้างคำสั่งจากผู้ยิ่งใหญ่ในบ้านเมือง ห้ามใช้สื่อที่เป็นเสียงตามสายขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) กล่าวถึงปัญหาดังกล่าวและพูดถึงปัญหาโครงการของรัฐบาล เสมือนปิดหู ปิดตา ปิดปากประชาชนผู้เสียภาษี ไม่ให้รู้ข้อเท็จจริงทั้งด้านบวกและลบ
นายประพนธ์ ส.อบจ.นครราชสีมา เขต 4 อ.เมือง กล่าวว่า ต.บ้านใหม่ เป็นชุมชนชานเมืองขนาดใหญ่มี 12 หมู่บ้าน ประชากรกว่า 3 หมื่นคน โครงการบ้านจัดสรรจำนวน 15 แห่ง สถานศึกษา 9 แห่ง และที่ตั้งหน่วยงานราชการ ซึ่งในช่วงเส้นทางผ่าน ต.บ้านใหม่ เป็นคันทางระดับดิน 7.85 กิโลเมตร ก่อนจะยกระดับเข้าสู่สถานีรถไฟนครราชสีมา เป็นคันดินสูงประมาณ 2 เมตร เปรียบเสมือนกำแพงกั้น ไม่ตอบโจทย์ความสะดวก ความปลอดภัย เป็นการแบ่งแยกชาวบ้านที่อยู่สองข้างทางรถไฟออกจากกันส่งผลต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน
ด้านชาวบ้าน ต.โคกกรวด รายหนึ่ง กล่าวว่า การปิดจุดตัดทางข้ามรถไฟหากเกิดเหตุเพลิงไหม้จะเป็นอุปสรรคการไประงับเหตุของรถดับเพลิง เมื่อแบ่งแยกชุมชน วิถีชีวิตเปลี่ยน พระสงฆ์ สามเณรต้องเดินข้ามสะพานต่างระดับสูง 10 เมตร ระยะทาง 1 กิโลเมตร เพื่อรับบิณฑบาต การไปมาหาสู่ลำบากเสมือนถูกปิดกั้นความเจริญกลายเป็นเมืองอกแตก ในอนาคต พื้นที่ ต.โคกกรวด และ ต.บ้านใหม่ จะเป็นอ่างกระทะรองรับมวลน้ำที่ไหลมาทางทิศใต้ลงสู่ลำตะคอง ทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมแน่นอน ขอบคุณรัฐบาลที่นำความเจริญมาให้ แต่อย่าสร้างความเดือดร้อนมาให้พวกเรา
ด้านนายวิเชียร ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวชี้แจงว่า ตนมีความคิดเห็นในทิศทางเดียวกันกับประชาชน โดยต้องการให้ทางรถไฟยกระดับผ่านทั้ง 3 ตำบล ตนพยายามติดตามและขับเคลื่อนรวมทั้งประสานงานมาต่อเนื่อง แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่เคยได้รับคำตอบที่ชัดเจน จึงไม่สามารถตอบคำถามได้
นายวิเชียร กล่าวต่อว่า ขณะนี้ทางจังหวัดได้จัดทำหนังสือร้องเรียนเสนอ รฟท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในลำดับต่อไปพร้อมเปิดเวทีประชุมพิจารณาเสนอรูปแบบการแก้ไขปัญหาจราจรและเชิญคู่เห็นต่างมาพูดคุย เพื่อแสวงหาจุดร่วมที่ยอมรับได้กันทุกฝ่าย