FootNote ดัชนี สะท้อน การเมืองไทย รูปธรรมจาก “ดนตรีในสวน”
ทั้งๆที่เป็น “ดนตรีในสวน” เหมือนกัน แต่บรรยากาศที่ปรากฏ ณ สวนเบญจกิตติ เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน กับ ที่ปรากฏ ณ มิวเซียม สยาม เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน มีความแตกต่างกัน
ไม่เพียงแตกต่างเพราะว่าที่แห่งแรกมาจาก “กรมดุริยางค์ทหารบก” หากแห่งหลังมาจาก ธีร์ ไชยเดช และวง “นั่งเล่น”
หากที่สำคัญเป็นอย่างมากก็คือ การขานรับของประชาชนก็มีความแตกต่างกันเป็นอย่างสูง ที่สวนเบญจกิตติ บรรยากาศเงียบเหงาและค่อนข้างวังเวง
ตรงกันข้าม ที่มิวเซียมสยาม ระหว่างนักดนตรีกับประชาชนมีความแนบแน่นกันเป็นอย่างสูง ไม่ว่าเมื่อบรรเลงเพลงคึกคัก ไม่ว่าเมื่อบรรเลงเพลงแห่งความหวัง
ยิ่งเมื่อย้อนไปยัง “ดนตรีในสวน” ซึ่ง นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ มีส่วนร่วมทั้งที่สวนรถไฟ และสวนลุมพินี บรรยากาศจะใกล้เคียงกับมิวเซียมสยาม มากกว่าสวนเบญจกิติ
เหตุผลอาจเนื่องมาจากที่สวนรถไฟ สวนลุมพินีและมิวเซียมสยาม เป็นการริเริ่มโดย “ประชาชน” ขณะที่ที่สวนเบญจกิตติเป็นการจัดหามาให้โดยกรมดุริยางค์ทหารบก
ทั้ง ๆ ที่ความอ่อนไหวและละเอียดอ่อนยิ่งกว่านั้นอยู่ตรงความสัมพันธ์ระหว่างกรมดุริยางค์ทหารบกกับประชาชน
ไม่ว่าฐานที่มาของการจัดส่งดนตรีของกรมดุริยางค์ทหารบกจะมา อย่างไร มาโดยคำสั่งของผู้บัญชาการทหารบก มาโดยเห็นชอบกับ ความริเริ่ม “ดนตรีในสวน” ของกรุงเทพมหานคร
กระนั้น ภายในกระบวนการขับเคลื่อน “ดนตรีในสวน” ของกรมดุริยางค์ทหารบกก็ปรากฏ “ช่องว่าง” อย่างใหญหลวง
เป็นช่องว่างระหว่างกองทัพบกกับประชาชน เป็นช่องว่างของดนตรีในแบบของกองทัพบกกับความคาดหวังและความต้อง การของประชาชน
หากหยั่งลงไปอย่างลึกซึ้ง “ช่องว่าง” นี้เกิดขึ้นนับแต่รัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 พร้อมกับบทเพลง “คืนความสุขให้กับประเทศไทย” เราจะทำตามสัญญา
ดูเหมือนทุกอย่างจะไม่เป็นไปตาม “สัญญา” ที่เคยให้ไว้
ผลสะเทือนจากชัยชนะของ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เป็นเงาสะท้อน ความรู้สึกนึกคิดของคนกรุงเทพมหานครได้อย่างเด่นชัด และแสดงผ่านการมีส่วนร่วมกับ “ดนตรีในสวน”
เพียงแต่ว่าจะเป็นสวนแบบไหนและสวนของใครเท่านั้น
การเปรียบเทียบระหว่าง “สวนเบญจกิติ” กับ “สวนรถไฟ” และ “สวนลุมพินี” กับ “มิวสิคสยาม” จึงมีความแหลมคม
เหมือนกับเป็น “อุณหภูมิ” ยืนยัน “ดัชนี” สังคมและการเมือง