กรมสุขภาพจิตแนะ เหตุเด็กทำร้ายครู ทุกคนเจ็บปวด ขออย่าไปมอง ใครผิดถูก ต้องดูแล เยียวยาผลกระทบทางจิตใจ ให้ทั้งสองฝ่ายผ่อนคลาย สงบ
วันที่ 2 มิ.ย.2565 พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวถึงกรณีข่าวเหตุการณ์เด็กนักเรียน ม.2 ทำร้ายครูจากความไม่พอใจที่จะถูกตัดผม ว่า ทุกครั้งที่เกิดความรุนแรงขึ้น ทั้งตัวผู้ก่อเหตุหรือผู้รับความรุนแรง ย่อมมีผลกระทบทางจิตใจที่ย่ำแย่ตามมา จึงต้องมีการดูแล ซึ่งทางโรงเรียนที่อยู่ในเหตุการณ์อาจช่วยดูแลได้ก่อน หัวใจสำคัญคือ ต้องทำให้ทุกฝ่ายรู้สึกผ่อนคลายและสงบให้เร็วที่สุด ไม่ยั่วยุ “ความโกรธและความรู้สึกผิด” ซึ่งเป็น 2 ตัวร้ายที่จะทำลายกันและกัน
ดังนั้นควรจะมีการสื่อสารเพื่อที่จะรับฟังความรู้สึกของทุกฝ่าย และเมื่อใจเย็นลง สงบลงแล้ว การบอกเล่าความรู้สึกต่างๆ จะนำไปสู่ความเข้าใจกันได้ง่าย และนำไปสู่วิธีคลี่คลายปัญหาได้ง่าย แต่ถ้าเรามุ่งหน้าว่าตัดสินใครผิดใครถูก ไม่มีพื้นฐานความไว้วางใจและไมมีการรับฟังกัน เรื่องเล็กๆ ก็อาจกลายเป็นเรื่องใหญ่โต และเป็นความเจ็บปวดและความสูญเสียของทุกฝ่ายได้
อ่านข่าว รองผอ.แจง เหตุนร.ทำร้ายครู ชี้กลัวถูกตัดผม จึงชิงลงมือก่อน จับทุ่ม ระบม
ขณะนี้ปัญหาความก้าวร้าวรุนแรงและปัญหาการฆ่าตัวตายในกลุ่มเด็กและวัยรุ่น กลุ่มที่เราเจอเยอะสุดคือเด็กมัธยมต้น อธิบายได้จากการเปลี่ยนแปลงตามวัย เป็นช่วงวัยที่ก้าวจากเด็กมาสู่ความเป็นวัยรุ่นที่ชัดเจนที่สุด พอเป็นวัยรุ่น ความคิดหุนหันพลันแล่น ความฉุนเฉียวอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงของร่างกายและระดับฮอร์โมนมีแน่นอน ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงด้านจิตใจของเขา
มุมหนึ่งคือดิ้นรนต้องการเป็นตัวของตัวเอง อีกมุมหนึ่งมีอีกหลายเรื่องที่ยังไม่พร้อม จึงมีความลักลั่นอยู่ในเรื่องวุฒิภาวะ เพราะฉะนั้น จุดรอยต่อประมาณ 2-3 ปีความเป็นวัยรุ่นตอนต้น ทำให้เด็กๆ มักจะมีโอกาสเพลี่ยงพล้ำ แสดงออกทางอารมณ์ได้อย่างไม่เหมาะสมนัก
ตัวเด็กต้องพยายามเข้าใจตัวเองและเรียนรู้ที่จะใจเย็นลง มีสติมากขึ้น คนรอบข้างเด็กเองต้องพยายามให้โอกาส รับฟังเขา มีสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัยสำหรับเด็กที่จะค่อยๆ เรียนรู้พัฒนาตัวเองให้ดีขึ้นได้ ซึ่งผ่านช่วงเวลายากๆ 1-2 ปีนี้ไป เขาจะกลายเป็นวัยรุ่นที่พร้อมจะเป็นผู้ใหญ่ที่ดีได้
ถ้าเด็กจะคาดหวังให้ทุกคนเข้าใจได้ตลอด อาจเกิดขึ้นได้บ้างแต่ไม่เสมอไป ผู้ใหญ่เองผ่านช่วงชีวิตวัยรุ่นมาหลายคนก็เข้าใจถึงความรู้สึกนั้น แต่บ่อยครั้งผู้ใหญ่เองมีข้อจำกัด มีความเครียด มีความทุกข์ในชีวิต ทำให้การควบคุมอารมณ์ของผู้ใหญ่ในบางจังหวะอาจหย่อนยานไปบ้าง
จุดอ่อนที่เพลี่ยงพล้ำตรงนี้ที่จะทำให้เกิดปัญหาได้ หากย้อนมองอีกมุมว่า ผู้ใหญ่เองส่วนหนึ่งพยายามดูแล แต่ถ้าไม่พร้อม เด็กเองก็ต้องพยายามเรียนรู้โลกในแง่บวกด้วย มองเห็นการเปลี่ยนแปลงต่างๆ สำคัญคือเด็กต้องรู้ว่าตัวเองมีค่าและพยายามที่จะเรียนรู้อารมณ์ของตัวเอง คอยเฝ้าตามสังเกตอารมณ์ตัวเองให้ทัน ถ้ารู้ว่าตัวเองโกรธก็ต้องชะลอความโกรธนั้นให้ควบคุมอารมณ์ได้
การจะช่วยลดอารมณ์โกรธและฉุนเฉียวลงได้ คือ การฝึกมองให้เห็นข้อดีของตัวเอง ตื่นเช้ามานึกว่าเรามีสิ่งดีอะไรบ้างในชีวิตตัวเอง 1-2 ข้อ และมองเห็นข้อดีของคนรอบข้างเรา ครอบครัว เพื่อน ครู โรงเรียน ที่อยู่รอบตัวเรามีอะไรเป็นสิ่งที่ดีบ้าง