-
ปกติแล้วคนเราควรนอนวันละประมาณ 6-7 ชั่วโมง โดยเฉลี่ย หากเรานอนไม่เพียงพอ จะส่งผลให้มีความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพมากกว่าหรือเท่ากับคนที่สูบบุหรี่ คนที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงและคนที่เป็นโรคหัวใจ
-
การนอนไม่หลับอาจเกิดจากความเครียดสะสม ฮอร์โมนในร่างกายผิดปกติ นอนกรน ขากระตุก ละเมอ ฝันร้ายบ่อย ทำให้ตื่นมามีอาการเพลีย ไม่สดชื่น จึงควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทางเพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงก่อนเริ่มการรักษาที่ตรงจุด
หากคุณกำลังมีอาการ 3 อย่างคือ นอนไม่หลับกระสับกระส่าย นอนกรนหรือมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ และมีอาการเพลียโดยไม่มีสาเหตุ อาการเหล่านี้กำลังบ่งบอกถึงคุณภาพการนอนหลับที่ไม่ดีได้
นอนไม่พอส่งผลเสียต่อสุขภาพ
พจ.ลิขิตา ทองแย้ม แพทย์ด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟู รพ.สมิติเวช ศรีนครินทร์ และ รพ. สมิติเวช สุขุมวิท ระบุว่า ปกติแล้วคนเราควรนอนวันละประมาณ 6-7 ชั่วโมง โดยเฉลี่ย ยกเว้นในวัยเด็กที่อาจจะต้องนอนมากกว่านั้น มีงานวิจัยพบว่า ถ้าคนเรานอนไม่เพียงพอ จะส่งผลให้มีความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพมากกว่าหรือเท่ากับคนที่สูบบุหรี่ คนที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงและคนที่เป็นโรคหัวใจ
สำหรับผู้ใหญ่ : คนนอนดึกจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ ภาวะหัวใจล้มเหลว โรคหลอดเลือดสมอง ความอ้วน อีกทั้งยังทำให้ประสิทธิภาพการทำงานลดลง คิดหรือตัดสินใจช้าลง และอาจมีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพจิต ความผิดปกติทางอารมณ์ โรคซึมเศร้าต่างๆ รวมไปถึงเรื่องของการประสบอุบัติเหตุ ซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตที่เราพบเห็นได้บ่อยในปัจจุบัน อีกด้วย
สำหรับเด็ก : เด็กที่นอนหรือพักผ่อนไม่เพียงพอก็จะส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโต อาจมีอาการสมาธิสั้น ทำให้ทักษะการเรียนรู้แย่ลง
นอนไม่หลับ เกิดจากอะไรได้บ้าง?
- เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ น้ำอัดลม
- เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
- การทานของหวานมากก่อนนอน น้ำตาลจะกระตุ้นให้ร่างกายรู้สึกตื่นตัว หรือการทานอาหารที่มีเกลือโซเดียมสูง ทำให้ความดันโลหิตเพิ่มขึ้น ร่างกายกระสับกระส่าย ทำให้หลับยาก
- การบริโภคอาหารรสจัด และอาหารมันๆ มากเกินไปในช่วงเย็นหรือก่อนนอน อาจส่งผลทำให้หลับไม่สนิทได้
- การทานอาหารแบบบุฟเฟ่ต์มื้อหนักๆ จะกระตุ้นให้เรานอนไม่หลับ
- ความเครียดสะสม และปัญหาสุขภาพจิต
- การนอนกรนหรือภาวะหยุดหายในขณะหลับ
- ความไม่สมดุลของฮอร์โมนในร่างกาย เช่น คอร์ติซอลและเมลาโทนิน รวมทั้งการเข้าสู่ช่วงวัยทองทั้งในผู้หญิงและผู้ชาย
- อาการ Restless legs syndrome ซึ่งเป็นอาการที่ผู้ป่วยรู้สึกว่า มีอะไรมาไต่ที่ขา รู้สึกยุบๆ ยิบๆ หรือมีอาการกระตุกของขา ซึ่งมักเกิดขึ้นเฉพาะเวลากลางคืน หากมีอาการรุนแรงมากอาจจะทำให้นอนไม่หลับต้องขยับขา
วิธีแก้ปัญหานอนไม่หลับ ด้วยการลองปรับพฤติกรรม
- กำหนดเวลาเข้านอนให้ตรงเวลาเป็นประจำทุกวัน และควรลุกจากเตียงทันทีเมื่อตื่นนอนในตอนเช้า
- ไม่ควรทำงาน ดูโทรทัศน์ อ่านหนังสือ หรือเล่นโทรศัพท์มือถือบนเตียงนอน
- จัดห้องนอนให้มืด เงียบ มีอากาศถ่ายเทสะดวก ปรับอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศให้เหมาะสมกับความต้องการ
- ไม่ควรงีบหลับในตอนกลางวัน เพราะส่งผลให้นอนหลับยากในตอนกลางคืน
- ไม่ควรรับประทานอาหารมื้อเย็นครั้งละมากๆ หรืออาหารรสจัด เพราะจะทำให้ไม่สบายท้องและหลับยากกว่าเดิม
- งดการดื่มเครื่องดื่มคาเฟอีนและแอลกอฮอล์ในช่วงเย็น
- หลีกเลี่ยงการดื่มน้ำมากๆ ในช่วงเวลาใกล้จะเข้านอน เพราะอาจจะทำให้ต้องลุกเข้าห้องน้ำในตอนดึกได้
- อาบน้ำอุ่นก่อนเข้านอน จะทำให้กล้ามเนื้อผ่อนคลาย หลับได้ง่ายขึ้น