‘พิธา’ จัดให้ ฉายา งบ 66 ‘งบช้างป่วย’ ห่วง 70% ของเงิน 3.18 ล้านล้าน หมดไปกับอดีต เหลือใช้จริงไม่ถึง 1 ล้านล้าน ติงไม่ตอบสนองวิกฤต – สร้างโอกาสไม่ได้
เวลา 12.30 น. วันที่ 31 พ.ค.65 นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล อภิปราย ร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2566ว่า ปีนี้เป็นปีแห่งการฟื้นฟูประเทศ เป็นปีแห่งความหวังที่ประชาชนจะลืมตาอ้าปาก งบประมาณปีนี้จึงเป็นปีหัวเลี้ยวหัวต่อและสำคัญ ถ้าเราจัดงบปีนี้ดีประเทศจะทะยานไปข้างหน้า เป็นจุดตัด จุดเปลี่ยนของประเทศ แต่ถ้าจัดงบไม่ดี ทศวรรษที่แล้วไม่ดีอย่างไร ทศวรรษหน้าก็จะเป็นเหมือนที่ผ่านมา
ซึ่งจากการพิจารณาปีนี้เป็นงบช้างป่วยที่ปรับตัวไม่ได้ รายได้ผันผวย รายจ่ายแข็งตัว การกู้จะหลุดกรอบ เพราะรายได้ 2.49 ล้านล้านบาท ไม่เพียงพอต่อรายจ่าย เราจำเป็นต้องกู้เพิ่มอีก 6.95 แสนล้านบาท แต่ปัจจัยเสี่ยงการเก็บภาษีของเราถดถอยลง ประกอบกับภาวะเงินเฟ้อที่สูงทำให้ภาระเงินกู้สูงขึ้นด้วย ในส่วนของเบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ ข้าราชการ วงเงินงบประมาณ 3 แสนกว่าล้านบาท คือรายจ่ายที่สูงเท่ากับกระทรวงศึกษาทั้งกระทรวง
นี่คือปัญหาของช้างป่วยที่ปรับตัวไม่ได้ โครงสร้างงบประมาณตั้งแต่ปี 57–65 งบประมาณ 75% เป็นงบประจำทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเกิดปัญหาอะไรในประเทศ การตั้งงบประมาณไม่ได้ตอบสนองกับวิกฤตหรือโอกาสในปีหน้าแต่อย่างใด นี่เป็นยาขมที่พวกเราทุกคนต้องกลืน เป็นโครงสร้างงบประมาณที่น่ากลัว
“ทุกๆ 1 บาท ที่เก็บภาษีและกู้มา 40% กลายเป็นเงินเดือน สวัสดิการ กับบำนาญข้าราชการ ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เงินที่ใช้ไปกับบำนาญมากขึ้น 2 เท่า โดยปี 57 บำนาญอยู่ที่ 1.4 แสนล้านบาท ปี 64 อยู่ที่ 3 แสนล้านบาท ปี 66 อยู่ที่ 3.22 แสนล้านบาท ตอนนี้เรามีข้าราชการเกษียณ 8 แสนคน
แต่ในปี 2580 จะมีข้าราชการเกษียณ 1.2 ล้านคน แค่บำนาญของบุคคลากรก็เกินงบประมาณที่เราจะใช้ไปเยอะมาก กระบวนการรัฐราชการ รัฐอุ้ยอ้าน จึงเป็นช้างป่วยที่ปรับตัวไม่ได้ เราจะแก้ไขเรื่องนี้กันอย่างไร ถ้าปล่อยไว้แบบนี้ประเทศจะพัฒนาได้อย่างไร” นายพิธา กล่าว
นายพิธา กล่าวต่อว่า 70% ของงบประมาณ 3.18 ล้านล้านบาท หมดไปกับอดีต เหลือใช้จริงไม่ถึง 1 ล้านล้านบาท หรือ 30% ที่จะนำมาฟื้นฟูประเทศ สร้างความหวังให้ประชาชน ถือว่าเป็นปัญหา แต่ยังสามารถทำให้ประชาชนมีความหวังได้ ด้วยการใช้งบอย่างมีประสิทธิภาพ สร้างสรรค์ ยุติธรรม แต่พอดูรายละเอียดปรากฎว่างบภาคการเกษตร 5.7 หมื่นล้านบาท เป็นการชำระหนี้ให้กับนโยบายประกันกับจำนำข้าวย้อนหลังไปถึงปี 2551
นายพิธา กล่าวอีกว่า ประเทศจะมีความหวังประเทศต้องมีความเป็นธรรม ที่เห็นได้ชัดที่สุดคือเรื่องโครงสร้างเศรษฐกิจ เมื่อนำงบประมาณที่ตั้งไว้ให้กับอีอีซี 1.1 หมื่นล้านบาท มาเทียบกับงบเอสเอ็มอี 2.7 พันล้านบาท เป็นการตั้งงบที่ละเลยทุนตัวเล็กตัวน้อย ไม่ยุติธรรม จึงเป็นปัญหาที่ทำให้ประเทศในช่วงที่ประชาชนควรจะมีความหวัง การฟื้นฟูเศรษฐกิจไม่สามารถเกิดขึ้นได้ เพราะไม่ยุติธรรม ไม่สร้างสรรค์ และไม่มีประสิทธิภาพ ด้วยเหตุผลเหล่านี้ทำให้ตนไม่สามารถรับหลักการร่างพ.ร.บ.งบฯ ฉบับนี้ได้