ลำปาง พ.ค.-มิ.ย. ผลผลิต สับปะรด ออกสู่ตลาดจำนวนมาก ผู้ค้า เกษตรกรเจ้าของสวน บ่นขายของรายได้น้อย ราคาถูก มีปัญหาหนี้ ธ.ก.ส.ต้องจ่าย อยากให้รัฐบาลช่วยเหลือการตลาด เพื่อความอยู่รอด
นางกาญจนา สืบใจ เกษตรกรผู้ปลูกสับปะรด บ้านทรายทอง ต.บ้านเสด็จ อ.เมืองลำปาง เปิดเผยว่า ปัจจุบันปลูกสับปะรดจำนวน 30 ไร่ เป็นที่ของตนเอง 10 ไร่และพื้นที่เช่าอีก 20 ไร่ ทำมานานได้กำไรบ้างขาดทุนบ้าง
ช่วงเวลา 3-4 ปี ที่ผ่านมา ผลผลิตขายได้ขาดทุนมาตลอดทำให้เป็นหนี้สินทั้งในระบบ ของ ธ.ก.ส และหนี้สินนอกระบบ กู้งเงินมาลงทุนและใช้จ่ายค่าเทอมลูกเรียนหนังสือ ถ้าให้ไปทำอาชีพอื่นจะให้ไปทำอะไร เพราะอาชีพทำการเกษตรมาตลอดชีวิต ปีนี้การค้าขายย่ำแย่ที่สุด เพราะราคาสับปะรดตกต่ำมาก ไม่รู้จะเอาเงินที่ไหนไปใช้หนี้ ธ.ก.ส. และค่าเทอมลูกไปเรียนหนังสือ
ส่วนค่าใช่จ่ายในการปลูกสับปะรดเกษตรกรเองต้องลงทุนจำนวนมาก โดยเฉลี่ย 1 ไร่ลงทุนหลายหมื่นบาท เริ่มตั้งแต่ค่าจ้างรถไถ่พรวนดินไร่ละ 800 บาท ต่อครั้ง จำนวน 3 ครั้ง 2,400 บาท ค่าหน่อสับปะรดหน่อละ 1 บาท 1ไร่ปลูกได้ 8,000 หน่อราคา 8,000 บาท ค่าจ้างปลูกหน่อละ 1 บาท จำนวน 8,000 บาท
ค่าปุ๋ยใส่ 2 รอบ ปุ๋ยราคากระสอบละ 2,000 บาทรวม 4,000 บาท พ่นยาฆ่าหญ้า 2 ครั้งๆละ 2,000 บาทรวมเงิน 4,000 บาทและค่าใช้จ่ายอื่นๆ อีก รวมแล้วปลูกสับปะรด 1 ไร่ เสียค่าใข้จ่ายในการปลูกดูแลรักษาเป็นเงินเฉลี่ย 26,400 บาท
ด้านเก็บเกี่ยวผลผลิตเฉลี่ยน้ำหนักลูกละ 1.5 กก.ปลูกสับปะรด 1 ไร่จำนวน 8,000 ต้น หักลูกเน่าลูกเสียออก เหลือประมาณ 6,000 ลูก ได้ 9,000 กก.หรือ 9 ตัน มีพ่อค้ามารับซื้อขายส่งหน้าโรงงาน กก.ละ 6.40 บาท แต่รับซื้อเกษตรในราคา กก.ละ 3.20 บาท
ซึ่งก็เห็นใจพ่อค้าส่งที่มีรายจ่ายเยอะเช่นกัน ค่าน้ำมันก็แพง บางวันรอคิวรถขนส่งไม่ว่าง ก็ต้องเน่าทิ้งวันละ 3-4 ตัน ซึ่งก็น่าเห็นใจทั้งสองฝ่าย จาก 1 ไร่ขายได้เงิน 28,8000 บาท ลบค่าใช้จ่าย 26,400 บาท เหลือกำไร 2,400 บา ท จะอยู่กันได้อย่างไร ต้องลงทุน 4-3 เดือนกว่าจะได้ขาย ชาวบ้านจึงต้องช่วยเหลือตัวเอง
“ตอนนี้นั่งขายปลีกเอง นำลูกที่สุกเหลืองมาขายปลีก ก็จะคัดลูกที่สุกมาขาย ลูกสีเขียวคัดส่งโรงงานที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ที่มีพ่อค้าคนกลางมารับซื้อส่วนลูกที่สุกทานได้ทันที จะนำมานั่งปลอกขายบนเพลิงริมถนนสายลำปาง-งาว บ้านทรายทอง ขายเป็นลูกธรรมดา 4-5 ลูก 100 บาท ถ้าเป็นลูกรสน้ำผึ้งขาย กก.ละ 25 บาท ถ้าเป็นพันธุ์ตราดสีทอง จะขาย กก.ละ 20 บาท
ซึ่งมีรสชาดหวานอมเปรียว กลมกล่อม กรอบ น้ำไม่เยอะ ซึ่งเป็นพันธุ์เก่าแก่ที่ปลูกในไร่ ทำทุกอย่างเพื่อให้ได้เงิน เพราะค่าใช้จ่ายลูกต้องเรียนหนังสือ หนี้ ธ.ก.ส.ก็ต้องจ่าย แต่ปีนี้ยังไม่รู้จะเอาเงินที่ไหนมาจ่ายต้องทบหนี้ไปเรื่อยๆ”
นางกาญจนา กล่าวอีกว่า หากเป็นแบบนี้ ชาวบ้านเเกษตรกร ผู้ค้าขายก็อยู่ลำบาก เพราะทำอะไรก็ขาดทุน เป็นหนี้เป็นสิน ไม่มีงานทำ ไม่มีเงินใช้จ่ายคงลำบากกันไปหมด อยากให้ทางรัฐบาล ราชการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วยเหลือในเรื่องนี้ด้วย
หากจะให้ไปทำอย่างอื่นมีอาชีพอะไรให้ชาวบ้านทำก็ทำไม่ได้ เพราะทำการเกษตรมาตลอดชีวิต หรือไปปลูกพืชอย่างอื่น ต่อไปก็จะเป็นปัญหาแบบเกียวกัน จึงอยากให้สับปะรดมีราคาสูงประมาณ กก.ละ 7-8 บาทถึงจะอยู่ได้และมีตลาดให้ชาวบ้านไปค้าขาย และช่วยเหลือผู้ปลูกกลุ่มย่อยอีกหลายร้อยรายทำให้มีที่หารายได้ด้วย
ทั้งนี้ สถานการณ์สับปะรด จ.ลำปางมีปลูกในพื้นที่ 7 อำเภอได้แก่ อ.เมืองลำปาง แจ้ห่ม แม่เมาะ งาว เมืองปาน เสริมงาม และ อ.เถิน มีพื้นที่เพาะปลูก 21,013.75 ไร่ พื้นที่ให้ผลผลิต จำนวน 20,444.75 ไร่ ประมาณผลผลิตจำนวน 46,729.28 ตัน ผลผลิตออกสู่ตลาดมากในกลางเดือน พ.ค.-ก.ค.จำนวน 35,823 ตัน ช่วงตั้งแต่กลางเดือน พ.ค.-กลางเดือน มิ.ย.จำนวน 10,906 ตัน
โดยผลผลิตสับปะรด จ.ลำปางส่วนมากจำหน่ายผ่านพ่อค้าคนกลาง (แผง) ในพื้นที่เพื่อส่งจำหน่ายโรงงานแปรรูปผลไม้กระป๋องใน จ.ประจวบคีรีขันธ์ กาญจนบุรี ชลบุรี ราชบุรี และ จ.ระยอง นอกนั้นจะจำหน่ายให้กับพ่อค้าขายส่งในรูปผลสด และจำหน่ายปลีกในพื้นที่
ดังนั้น ในช่วงเดือน มิ.ย.-ก.ค. จะเป็นช่วงที่ผลผลิตสับปะรดออกสู่ตลาดจำนวนมาก รวมทั้งของจังหวัดอื่นด้วย อาจส่งผลกระทบ ต่อการระบายผลผลิตสับปะรดของ จ.ลำปางและราคาผลผลิตตกต่ำ