จากกรณีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ปรารภถึงผลเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ที่นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ชนะคะแนนถล่มทลาย พร้อมตั้งข้อสังเกตถึง 214 นโยบายที่นายชัชชาติหาเสียงไว้ว่าจะทำได้จริงมากน้อยแค่ไหน
ขณะที่นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน ระบุ นายชัชชาติ ต้องทำตามที่หาเสียงไว้ให้ได้ เพราะคนเราคำพูดเป็นนาย หากทำไม่ได้เลือกตั้งครั้งหน้าประชาชนจะลงโทษ
เกี่ยวกับเรื่องนี้ ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แสดงความเห็นว่า การเลือกตั้งไม่ว่าในระดับใดจะไม่ใช่เพียงแค่การเลือกตัวบุคคล
แต่จะเป็นกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการกำหนดนโยบายสาธารณะ ถ้าเราสามารถทำให้ผู้สมัครลงรับเลือกตั้งหรือพรรคการเมืองต้องทำตามสิ่งที่หาเสียงไว้
วิธีการที่อาจารย์ปริญญากล่าวถึงคือถ้าผู้สมัครหรือพรรคการเมืองไม่ทำตามที่หาเสียงไว้ ก็อย่าเลือกในการเลือกตั้งครั้งหน้า การติดตามว่าผู้ได้รับการเลือกตั้งทำตามที่หาเสียงไว้หรือไม่ จึงเป็นเรื่องสำคัญไม่น้อยไปกว่าการไปเลือกตั้ง
การที่นายกรัฐมนตรีฝากผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่ ทำให้ได้อย่างที่พูด และรัฐมนตรีกระทรวงแรงงานกล่าวขอให้ผู้ว่าฯ กทม.ทำตามสัญญาที่หาเสียงไว้ ทำไม่ได้ประชาชนจะลงโทษ จึงถูกต้องตามหลักการดังกล่าวอย่างยิ่ง
ดังนั้น ประชาชนจึงต้องติดตามการทำงานของผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่ ซึ่งเป็นการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นเช่นเดียวกับต้องติดตามการเลือกตั้งระดับชาติด้วยว่า
พรรคที่เป็นรัฐบาลได้ทำตามนโยบายหรือสัญญาที่หาเสียงไว้ในตอนเลือกตั้งหรือไม่
ย้อนกลับไปดูพรรคแกนนำรัฐบาลเคยหาเสียงนโยบายอะไรไว้บ้างในการเลือกตั้งปี 2562
ค่าแรงขั้นต่ำ 400-425 บาท/วัน จบอาชีวะเงินเดือนเริ่มต้น 18,000 บาท จบปริญญาตรีเริ่มต้น 20,000 บาท มารดาประชารัฐตั้งครรภ์รับ 3,000 บาท/เดือน ค่าคลอดบุตร 10,000 บาท ค่าดูแลเด็ก 2,000 บาท/เดือนจนเด็กอายุ 6 ขวบ กองทุนพลังประชารัฐหมู่บ้านละ 2 ล้านบาท ฯลฯ
คำถามคือ ผ่านไปกว่า 3 ปีพรรคแกนนำรัฐบาลได้ทำตามนโยบายที่หาเสียงไว้ครบถ้วนแล้วหรือไม่
ดังนั้น เหลืออีกไม่กี่เดือนจะเลือกตั้งส.ส.ครั้งใหม่ จึงเป็นเวลาเหมาะสมที่ประชาชนทั้งประเทศจะร่วมกันประเมินผลนโยบายหาเสียงเหล่านั้น ว่าทำได้จริงครบถ้วนแค่ไหน หรือยังไม่ได้ทำ
เพื่อถึงเวลาเลือกตั้งจะได้ลงโทษอย่างไม่ลังเล