ทวี ชำแหละ 8 ปีรัฐประหาร คสช. สร้างลัทธิ ผลักอีกฝ่ายให้เป็นศัตรูทางการเมือง ชี้ผลเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. สะท้อนประชาชนต้องการเลือกผู้ปกครอง ที่ไม่ใช่เทวดา
เมื่อวันที่ 23 พ.ค.2565 พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อ เลขาธิการพรรคประชาชาติ(ปช.) โพสต์เฟซบุ๊กระบุ “8 ปี รัฐประหาร คสช. สร้างลัทธิชาตินิยมการเมืองคนดี แยกเป็นเราเป็นเขา ผลักให้อีกฝ่ายเป็นตรงกันข้ามที่เป็นศัตรู”
พ.ต.อ.ทวี ระบุด้วยว่า การทำการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ.ขณะนั้น ที่แอบอ้างความจำเป็นเพื่อแก้สถานการณ์ความขัดแย้งในสังคมไทยและการปล่อยให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งบริหารประเทศต่อไป ส่อทุจริตประพฤติมิชอบจะเกิดความเลวร้าย จึงจำเป็นต้องยึดอำนาจการปกครองแผ่นดิน
การคืนประชาธิปไตยของ คสช. โดยผ่านรัฐธรรมนูญ 2560 ไม่ได้ประชาธิปไตย แต่ได้ “คณาธิปไตย” แทน ที่มีการสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหาร โดย พล.อ.ประยุทธ์ ได้เป็นนายกฯ ทั้งที่ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคการเมืองใด ไม่ได้ลงสมัครรับเลือกตั้ง โดยใช้ส.ว. 250 คน ตามรัฐธรรมนูญปี 60 ออกเสียงเลือก พล.อ.ประยุทธ์ หัวหน้า คสช. เป็นนายกฯ
การรัฐประหาร 22 พฤ.ค. 2557 นอกจากทำลายประชาธิปไตยแล้ว ยังมีเป้าประสงค์สำคัญ คือล้มล้างความผิดให้ทหารในการสลายการชุมนุมเมื่อปี 2553 ที่มีผู้เสียชีวิต 99 ศพ กลางเมืองหลวง ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ เป็นผบ.ทบ.ในช่วงสลายการชุมนุม ซึ่งการช่วยเหลือคดีการสลายการชุมนุมเมื่อปี 2553 นั้น ศาลยุติธรรมได้ไต่สวนสาเหตุการตายแล้วว่าเกิดจากกระสุนของฝ่ายทหาร แต่ตาม พ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ.2498 เมื่ออ้างว่าทหารกระทำความผิดตามลำพัง ไม่มีพลเรือนร่วมกระทำความผิดด้วย จึงต้องนำคดีสู่ศาลทหารเท่านั้น ทำให้คดีสลายการชุมนุมปี 53 พนักงานสอบสวนต้องส่งสำนวนไปยังพนักงานอัยการทหาร
ผลคดีคือ อัยการทหารมีคำสั่งไม่ฟ้อง หรือไปไม่ถึงศาลทหาร ที่ถือเป็นการตัดสิทธิ์ผู้เสียหายจะนำคดีฟ้องต่อศาลเองด้วย กระบวนการนำคดีสู่ศาลทหารและอัยการศาลทหาร จึงเป็นการตัดตอนการนำเรื่องสู่กระบวนการพิจารณาคดีในกระบวนการยุติธรรม
ปัญหาเรื่องความยุติธรรมกรณีตาม พ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหาร ที่กระทบต่อประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่เรียกร้องให้โอนคดีจากศาลทหาร ไปยังศาลยุติธรรมมีมาตลอด อาทิ คดีนายฟัครุคดีน บอตอ ผู้รับใบอนุญาตโรงเรียนดารุสลาม อ.ระแงะ จ.นราธิวาส และดำรงตำแหน่งเป็น ส.ว. เป็นผู้เสียหายถูกยิงด้วยอาวุธปืน เหตุเกิดช่วงเช้าตรู่ของวันที่ 6 ส.ค.49 อดีต ส.ว. ฟัครุดดีน ถูกลอบยิงบาดเจ็บขณะขี่รถจักรยานยนต์ออกไปทานน้ำชาที่ตลาดตันหยงมัส อ.ระแงะ ท้ายที่สุดมีการจับผู้กระทำความผิด 1 คน เป็นพลทหาร คดีต้องขึ้นศาลทหาร ส.ว.ฟัครุดดีน ในฐานะผู้เสียหาย ซึ่งถือเป็นพลเรือน จะขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมก็ไม่ได้ เพราะธรรมนูญศาลทหารห้ามไว้
การพิจารณาใช้เวลาในศาลทหารนานมาก สุดท้ายศาลทหารจังหวัดปัตตานียกฟ้องและคดีอยู่ระหว่างอุทธรณ์ ผ่านมาแล้ว 15 ปี “ความล่าช้า คือความอยุติธรรม”
พรรคประชาชาติได้เสนอ ร่างแก้ไข พ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหาร (ฉบับที่…) พ.ศ… ตั้งแต่วันที่ 17 ก.ค. 2563 โดยให้แก้ไขเพิ่มเติม คดีที่ทหารเป็นผู้กระทำผิดซึ่งผู้เสียหายเป็นพลเรือนให้พิจารณาที่ศาลยุติธรรมเหมือนบุคคลทั่วไป มิฉะนั้นจะเป็นความเหลื่อมล้ำในกระบวนการยุติธรรม เนื่องจากข้าราชการอื่น ไม่ว่าตำรวจ อัยการ หรือข้าราชการหน่วยงานใดๆ จะถูกพิจารณาโดยศาลยุติธรรมเสมอภาคกันทั้งสิ้น
เมื่อวันที่ 2 ก.พ. 2565 มติที่ประชุมเห็นชอบให้นำร่างร่างพ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหาร (ฉบับที่…) พ.ศ… ให้คณะรัฐมนตรี พิจารณาก่อนรับหลักการ ต่อมา ครม.มีมติเมื่อวันที่ 22 มี.ค. 2565 โดย “รัฐบาลไม่เห็นชอบกับการแก้ไข ร่างพ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหาร (ฉบับที่..) พ.ศ..” ส่งร่างคืนให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาพร้อมข้อสังเกต แต่พบว่า มีหน่วยงานที่เห็นชอบกับการแก้ไขได้แก่ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม เห็นว่าสิทธิ์ในการฟ้องคดีด้วยตนเองเป็นสิทธิ์ขั้นพื้นฐานตามข้อ 14.3 แห่งกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง จึงเห็นด้วยที่มีการเสนอแก้ไขร่างกฎหมายดังกล่าว
และสำนักงานศาลยุติธรรม ที่เห็นว่า สิทธิ์การเรียกค่าเสียหายอันเกิดจากคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องคดีอาญา โดยผู้เสียหายหรืออัยการทหารในฐานะผู้ดำเนินการแทน จะไม่สามารถเรียกร้องค่าเสียหายอันเกิดจากคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องคดีอาญาต่อศาลทหารได้ ทำให้ต้องนำคดีมาฟ้องต่อศาลยุติธรรมภายหลัง ซึ่งอาจส่งผลกระทบในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมที่อาจไม่สะดวกเท่าที่ควร ต้องเสียเวลาดำเนินการ รวมถึงค่าใช้จ่ายค่าธรรมเนียมเพิ่มเติมมากขึ้น อาจส่งผลกระทบต่อมาตรฐานการคุ้มครองสิทธิ์ของประชาชนได้ จึงเห็นสมควรมีการแก้ไขกฎหมายว่าด้วยธรรมนูญศาลทหาร
“8 ปีรัฐประหาร คสช. สร้างลัทธิชาตินิยมการเมืองคนดี แยกเป็นเราเป็นเขา ผลักให้อีกฝ่ายเป็นตรงกันข้ามที่เป็นศัตรู”
รัฐบาลใช้อำนาจนิยมผ่านในรูปของกฎหมาย การบังคับใช้กฎหมาย และกระบวนการยุติธรรม ไม่ยกเว้นแม้แต่ตำแหน่งผู้ว่าฯกทม. ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ยังใช้อำนาจตาม มาตรา 44 ปลดผู้ว่าฯกทม.ที่มาจากการเลือกตั้ง แล้วแต่งตั้งผู้ว่าฯกทม. ที่เป็นคนของ คสช. แทน ให้ว่างเว้นการเลือกตั้งไปมากกว่า 8 ปี จึงจัดเลือกตั้งเมื่อวันที่ 22 พ.ค.2565 ซึ่งผลการเลือกตั้งผู้สมัครที่ถูกผลักให้อีกฝ่ายเป็นตรงกันข้าม (นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์) หรือฝ่ายประชาธิปไตยชนะอย่างถล่มทลาย วาทกรรมทางการเมืองคนดีจึงเป็นเพียงกลอุบายเท่านั้น
ความจริงประชาชนต้องการระบอบที่การปกครองที่มาจากการยอมรับของประชาชน หรือต้องให้ประชาชนเลือกผู้ที่ขึ้นมาปกครอง ผู้ปกครองไม่ใช่เทวดา (คนดี) แต่ต้องเป็นผู้ที่ประชาชนยอมรับและให้ประชาชนมีส่วนร่วมใช้พลังของสติปัญญาของเขาในการตัดสินปัญหา
พ.ต.อ.ทวี ระบุว่า การไม่รับร่าง พ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหาร ของรัฐบาลเป็นเรื่องที่ไม่น่าแปลกใจ เพราะพฤติกรรมลัทธิชาตินิยมการเมืองคนดี ที่ให้ความสำคัญอำนาจและผลประโยชน์อยู่เหนือประชาชนและความยุติธรรม
พรรคประชาชาติเห็นว่า ทหาร เป็นอาชีพที่มีความสำคัญและมีเกียรติ แต่ทหารต้องเป็นพลเมืองของประเทศที่เหมือนพลเมืองทั่วไป และเจ้าหน้าที่รัฐทุกสาขาอาชีพ ไม่ควรถูกมองว่าเป็นอภิสิทธิ์ชน เมื่อกระทำความผิดแล้วได้รับการยกเว้นไม่ต้องพิจารณาที่ศาลพลเรือน ต้องไปพิจารณายังศาลทหาร และเพื่อคุ้มครองสิทธิ์ของผู้เสียหายที่เป็นพลเรือนให้มีสิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาค ความยุติธรรม และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ที่สิทธิ์ฟ้องคดีเองเป็นสิทธิ์ขั้นพื้นฐานของพลเมืองตามหลักสากล สามมารถเข้าถึงกระบวนยุติธรรมอย่างสะดวกที่เสมอหน้ากันและเป็นมาตรฐานในการคุ้มครองสิทธิของประชาชน