CR7-LBJ หลีกไป : ทำไม "นักเบสบอล" ถึงได้ค่าสัญญามูลค่าสูงกว่านักฟุตบอลหรือนักบาสเกตบอล?

Home » CR7-LBJ หลีกไป : ทำไม "นักเบสบอล" ถึงได้ค่าสัญญามูลค่าสูงกว่านักฟุตบอลหรือนักบาสเกตบอล?



CR7-LBJ หลีกไป : ทำไม "นักเบสบอล" ถึงได้ค่าสัญญามูลค่าสูงกว่านักฟุตบอลหรือนักบาสเกตบอล?

หากกล่าวถึงนักกีฬาที่มีสัญญามูลค่าสูงที่สุดในโลก ชื่อของคริสเตียโน โรนัลโด้ หรือ เลบรอน เจมส์ คงผุดขึ้นมาในหัวของคุณ ทั้งที่ความจริงแล้วนักกีฬาทั้งสองราย ไม่ติดท็อป 50 ของนักกีฬาที่มีสัญญามูลค่าสูงสุดด้วยซ้ำ

ทางกลับกัน นักเบสบอลที่คุณอาจไม่เคยได้ยินชื่อ ไม่ว่าจะเป็น ไมค์ เทราต์, มูกี้ เบ็ตส์ หรือ เฟอร์นันโด ทาติส จูเนียร์ กลับเป็นนักกีฬาที่มีมูลค่าสัญญาสูงเกิน 340 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มากกว่านักบาสเกตบอลทุกคน และนักฟุตบอลทุกคน ยกเว้น ลิโอเนล เมสซี

Main Stand จะมาอธิบายว่าทำไมนักกีฬาเบสบอลที่ชาวไทยแทบไม่รู้จัก ถึงได้มีสัญญามูลค่ามหาศาล แบบที่นักกีฬาชนิดอื่นทำได้แค่ฝันถึง…

รายได้เติบโตต่อเนื่อง

เหตุผลแรกที่ทำให้นักเบสบอลมีสัญญามูลค่าสูงกว่านักฟุตบอลหรือนักบาสเกตบอล คือรายรับของลีกที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2019 MLB หรือ Major League Baseball สามารถทำรายได้ 10.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 327 พันล้านบาท ซึ่งเป็นรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า (ปี 2018) ถึง 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และถือเป็นรายรับรวมสูงสุดที่ MLB เคยทำได้ในประวัติศาสตร์


Photo : www.foxbusiness.com

สาเหตุหลักที่ทำให้รายได้ของกีฬาเบสบอลพุ่งกระฉูด จนเป็นรองแค่อเมริกันฟุตบอล หรือ NFL ในปัจจุบัน คือสัญญาลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดที่มีมูลค่ามหาศาล เพราะเบสบอลถือเป็นกีฬาที่มีจำนวนแมตช์การแข่งขันเยอะมาก นับแค่ในฤดูกาลปกติ แฟรนไชส์ใน MLB ต้องลงแข่งขันรวม 162 เกม สูงกว่าฟุตบอลพรีเมียร์ลีกเกิน 4 เท่า

ไม่ใช่จำนวนแมตช์ที่เยอะอย่างเดียว แต่เรตติ้งเกมถ่ายทอดสดของกีฬาเบสบอลยังสูงเสียดฟ้า ในปี 2014 มีข้อมูลที่ยืนยันว่า 12 จาก 30 ทีมใน MLB สามารถยึดครองเรตติ้งอันดับหนึ่งสำหรับรายการทีวีช่วงไพร์มไทม์ ขณะที่อีก 7 ทีมสามารถพาเรตติ้งขึ้นไปอยู่ในกลุ่มท็อปทรี ส่วนทีมที่เหลือไม่มีแฟรนไชส์ไหนที่มีเรตติ้งรายการต่ำกว่าอันดับ 9

 

MLB จึงสามารถโก่งราคาและโกยเงินมหาศาลจากรายได้ตรงนี้ โดยในปี 2018 ทางลีกได้ตกลงสัญญาถ่ายทอดสดฉบับใหม่กับ FOX ซึ่งมีมูลค่าสูงถึง 5.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และในปี 2020 MLB ได้เซ็นสัญญาฉบับใหม่กับช่องโทรทัศน์ TBS ซึ่งเป็นดีลที่มีมูลค่าสูง 3.75 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ รวมแล้ว MLB จึงมีรายได้จากค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดสูงเกือบ 9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเกือบ 275 พันล้านบาท


Photo : sixcolors.com

ไม่ใช่แค่ลีกที่กอบโกยรายได้ส่วนนี้ แต่แฟรนไชส์ใน MLB สามารถตกลงสัญญาลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดของตัวเองได้อีกด้วย เนื่องจากกีฬาเบสบอลมีโปรแกรมการแข่งขันเยอะมาก จึงเป็นไปไม่ได้ที่ทุกทีมจะถ่ายทอดสดในช่องโทรทัศน์ระดับชาติ ทีมเบสบอลจึงมีหน้าที่ไปตกลงกับช่องโทรทัศน์ท้องถิ่นด้วยตัวเอง ซึ่งส่วนนี้คืออีกหนึ่งรายได้มหาศาล ที่เข้ามาเพิ่มเงินในกระเป๋าของพวกเขา

ย้อนกลับในปี 2013 ทีมลอสแอนเจลิส ดอดเจอร์ส แชมป์ World Series ฤดูกาลปัจจุบัน ได้ตกลงสัญญายาว 25 ปี กับ Time Warner Cable คิดเป็นเงินมูลค่า 8.35 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 2 แสน 5 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้พวกเขามีเงินมากพอจะทุ่มสัญญา 365 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แก่ มูกี้ เบ็ตส์ ในปี 2019 ทำให้เขากลายเป็นนักกีฬาที่มูลค่าสัญญาสูงอันดับ 5 ของโลก


Photo : www.usatoday.com

 

ไม่ใช่แค่ทีมใหญ่เท่านั้นที่จะได้สัญญามูลค่ามหาศาล เพราะทีมอย่าง แอริโซนา ไดมอนแบ็คส์ ที่เคยคว้าแชมป์ World Series เพียงสมัยเดียวเมื่อปี 2001 ก็สามารถตกลงสัญญาลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดกับช่องโทรทัศน์ท้องถิ่นเป็นเงิน 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 45 พันล้านบาท

ทำให้แฟรนไชส์แห่งนี้สามารถมอบสัญญามูลค่า 206.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แก่ แซค ไกรนค์ เมื่อปี 2016 ส่งผลให้เขาเป็นนักกีฬาที่มีมูลค่าสัญญาสูงเป็นอันดับ 28 มากกว่าซูเปอร์สตาร์ในวงการบาสเกตบอลอย่าง สตีเฟน เคอร์รี และ เดเมียน ลิลลาร์ด เสียอีก

อีกเหตุผลที่ที่ทำให้นักเบสบอลมีสัญญามูลค่าสูงกว่านักกีฬาอื่น คือระบบแบ่งปันรายได้ หรือ MLB Revenue Sharing Program ซึ่งเริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2002 เพื่อช่วยเหลือให้แฟรนไชส์ขนาดเล็ก มีรายได้ใกล้เคียงกับทีมระดับแนวหน้าของลีก

ระบบแบ่งปันรายได้

ระบบแบ่งปันรายได้ จะบังคับให้ทั้ง 30 แฟรนไชส์ใน MLB แบ่งปันรายได้ส่วนหนึ่งที่กำหนดไว้ลงไปเป็นเงินส่วนรวม ก่อนกระจายเงินส่วนนั้นกลับคืนสู่ทั้ง 30 ทีมอย่างเท่าเทียม

 


Photo : www.cbssports.com

แต่ละทีมใน MLB จึงมีรายได้จากเงินในระบบแบ่งปันรายได้เท่ากันคือ 3.3 เปอร์เซ็นต์ ส่วนเงินตรงนี้จะมากหรือน้อยนั้น ขึ้นอยู่กับจำนวนเปอร์เซ็นต์ที่ตกลงกันในแต่ละปี โดยในปี 2002 ระบบแบ่งปันรายได้กำหนดให้แต่ละทีมแชร์รายรับ 31 เปอร์เซ็นต์ร่วมกัน ก่อนที่ปี 2012 ตัวเลขจะเพิ่มขึ้นเป็น 34 เปอร์เซ็นต์

และในปี 2017 ระบบแบ่งปันรายได้กำหนดให้ทุกทีมต้องเสียเงินเข้ากองกลางสูงถึง 48 เปอร์เซ็นต์ ทำให้ในปี 2018 แต่ละทีมใน MLB จะได้เงินจากส่วนนี้ 209 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือคิดเป็นเงิน 6.3 พันล้านบาท

ปัจจุบัน ระบบแบ่งปันรายได้กำหนดให้แต่ละแฟรนไชส์แชร์เงินร่วมกัน 50 เปอร์เซ็นต์ เพื่อพยุงแต่ละทีมในลีกท่ามกลางสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 เพราะมีการคาดการณ์ไว้ว่า แต่ละทีมจะสูญเสียรายได้ราว 40 เปอร์เซ็นต์ในฤดูกาล 2020

ระบบแบ่งปันรายได้จึงเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้แต่ละทีมใน MLB ยังคงประเคนสัญญามูลค่ามหาศาลแก่นักเบสบอลในฤดูกาล 2021 สวนทางกับกีฬาอื่น เช่น ฟุตบอล ที่แต่ละสโมสรต่างรัดเข็มขัดกันอย่างเห็นได้ชัด

 


Photo : www.insidehook.com

ในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ทีมที่มีรายรับอยู่ในระดับครึ่งล่างของลีกอย่าง ซานดิเอโก ปาเดรส เพิ่งมอบสัญญามูลค่า 340 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แก่ เฟอร์นันโด ทาติส จูเนียร์ เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา ทำให้นักเบสบอลชาวโดมินิกันรายนี้ กลายเป็นนักกีฬาที่มีมูลค่าสัญญาสูงอันดับ 6 ของโลก

ระบบแบ่งปันรายได้ จึงกลายเป็นเครื่องมือสร้างความเท่าเทียมแก่แต่ละทีมใน MLB ซึ่งนำมาสู่เหตุผลสำคัญอีกข้อที่ทำให้ลีกเบสบอลแห่งนี้ แตกต่างจากการแข่งขันกีฬาอื่นในสหรัฐอเมริกาโดยสิ้นเชิง

ไม่มีเพดานค่าเหนื่อย

ลีกกีฬาในสหรัฐอเมริกาแทบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น NFL, NBA, NHL หรือ MLS ต่างมีสิ่งที่เรียกว่า เพดานค่าจ้าง หรือ Salary Cap เพื่อกำหนดไม่ให้ทีมใดทีมหนึ่งในลีกใช้เงินเกินวงเงินที่จำกัดในแต่ละปี ซึ่งจะป้องกันการใช้เงินที่มากเกินตัวของแต่ละแฟรนไชส์ รวมถึงเพิ่มโอกาสที่จะกระจายความสำเร็จแก่แต่ละทีมอย่างเท่าเทียม ไม่มีทีมแค่หยิบมือที่ผูกขาดถ้วยแชมป์ เหมือนกีฬาฟุตบอลในยุโรป หรือพื้นที่อื่น ๆ ในโลกนี้

 


Photo : www.insidehook.com

MLB แตกต่างจากลีกกีฬาอื่นในสหรัฐอเมริกา เนื่องจากจุดนี้ที่พวกเขาไม่มีกฎเพดานค่าจ้าง ทำให้แต่ละทีมสามารถทุ่มเงินมหาศาลเป็นค่าเหนื่อยนักกีฬาแต่ละทีมได้อย่างเต็มที่ โดยไม่ต้องมานั่งกังวลว่า เงินที่จ่ายไปในแต่ละฤดูกาลจะเกินเพดานหรือไม่

แน่นอนว่า ทางลีกย่อมพยายามที่จะป้องกันไม่ให้ช่องว่างแต่ละทีมห่างมากเกินไป จึงออกกฎที่เรียกว่า Luxury Tax ขึ้นมา เพื่อให้ทีมเบสบอลที่ใช้เงินมากกว่าวงเงินที่กำหนดไว้ในแต่ละฤดูกาล ต้องจ่ายเงินเป็นค่าภาษีคืนแก่ลีก โดยในปี 2020 วงเงินตรงนี้ถูกกำหนดไว้ที่ 208 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

โดยในฤดูกาลล่าสุด มี 3 ทีมที่เสียเงินค่า Luxury Tax ในฤดูกาลล่าสุด ได้แก่ นิวยอร์ค แยงกีส์, ฮูสตัน แอสโตร์ส และชิคาโก คับส์ โดยนิวยอร์ค แยงกีส์ ถือเป็นเจ้าพ่อในการจ่ายค่าจ้างแบบไม่กลัวภาษี เพราะพวกเขาใช้จ่ายเกินวงเงินที่กำหนดไว้ เป็นเวลา 15 ปี ติดต่อกัน (2003-2017) และเว้นวรรคแค่ปี 2018 เท่านั้น ส่งผลให้แยงกีส์เสียค่า Luxury Tax ใน 17 จาก 18 ปีหลังสุด โดยในฤดูกาล 2020 พวกเขาเสียภาษีส่วนนี้เป็นเงิน 25.29 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ


Photo : empirewritesback.com

ยิ่งไปกว่านั้น วงเงินที่กำหนดไว้ใน Luxury Tax ก็มากกว่าเพดานค่าจ้างของทุกลีกกีฬาอาชีพในสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ต้น โดยในปี 2020 เพดานค่าเหนื่อยของ NFL อยู่ที่ 198 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ น้อยกว่าวงเงิน Luxury Tax ของ MLB ฤดูกาล 2020 ถึง 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วน NBA นั้นไม่ต้องพูดถึง เพราะลีกบาสเกตบอลอันดับหนึ่ง มีเพดานค่าจ้างในฤดูกาล 2020 อยู่ที่ 109 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือน้อยกว่ากีฬาเบสบอลเกือบร้อยล้านเหรียญ

การใช้จ่ายแบบไม่เสียดายเงินของทีมเบสบอลในลักษณะนี้ มาจาก 2 ปัจจัยก่อนหน้าที่เราได้บอกไว้ คือรายได้ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และระบบแบ่งปันรายได้ ซึ่งทำให้แฟรนไชส์ใน MLB มองว่าพวกเขาสร้างเกิดความเท่าเทียมให้แต่ละทีมตั้งแต่ต้น และเมื่อได้เงินเท่ากัน แต่ละทีมก็ควรมีอิสระที่จะใช้เงินอย่างไรก็ได้ กีฬาเบสบอลจึงไม่ต้องพึ่งเพดานค่าจ้างเหมือนกับลีกอื่น

การปราศจากเพดานค่าเหนื่อยส่งผลให้ปี 2014 มี 7 ทีมใน MLB ที่ใช้เงินมากกว่าทีมที่มีรายจ่ายสูงสุดของ NFL และในปี 2015 นักกีฬาเบสบอลมีรายได้ต่อหนึ่งฤดูกาลเกิน 22.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯถึง 14 ราย ขณะที่นักบาสเกตบอลไม่มีใครที่ได้ค่าเหนื่อยต่อฤดูกาล มากเท่าจำนวนดังกล่าว

แม้ปัจจุบัน นักบาสเกตบอลจะมีรายได้ต่อฤดูกาลทะลุ 40 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ กันหลายคน ไม่ว่าจะเป็น สตีเฟน เคอร์รี, เควิน ดูแรนท์, ยานนิส อันเททูคูมโป, รัสเซลล์ เวสต์บรูค หรือ เดเมียน ลิลลาร์ด ขณะที่นักเบสบอลซึ่งมีรายได้สูงสุดอย่าง ไมค์ เทราต์ มีรายได้ต่อฤดูกาลอยู่ที่ 35.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

แต่หากเทียบมูลค่าสัญญาทั้งฉบับ ไมค์ เทราต์ ถือว่าทิ้งขาด เพราะเจ้าของรางวัล MVP สามสมัย เซ็นสัญญายาว 12 ปีกับลอสแอนเจลิส แองเจิลส์ เพื่อรับเงินรวม 426.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ถือเป็นนักกีฬาที่มีมูลค่าสัญญาสูงสุดเป็นอันดับ 3 ของโลก และเป็นสัญญาที่มีมูลค่ามากกว่านักบาสเกตบอลทุกคนบนโลกใบนี้


Photo : www.latimes.com

Forbes ถือว่าการปราศจากเพดานค่าจ้างของ MLB ถือเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ค่าเหนื่อยของนักเบสบอล พุ่งกระฉูดกว่าทุกกีฬา ยกตัวอย่างจากทีมลอสแอนเจลิส แองเจิลส์ ที่ไม่ได้แค่ประเคนค่าเหนื่อยมหาศาลให้ ไมค์ เทราต์ แต่รวมถึง แอนโทนี เรนดอน และ อัลเบิร์ต ปูโยลส์ ทำให้ทีมเบสบอลจากเมืองอนาไฮม์มีนักกีฬาซึ่งมีมูลค่าสูงสุดในระดับท็อป 20 ถึงสามคน มากกว่าทีมกีฬาไหนบนโลกใบนี้

ค่าจ้างของนักกีฬาเบสบอลที่สูงเสียดฟ้า แม้ว่าพวกเขาจะไม่ใช่ซูเปอร์สตาร์ตามหน้าสื่อเหมือนนักฟุตบอล และนักบาสเกตบอล คือเครื่องยืนยันว่ากีฬาเบสบอลกำลังเติบโตทางการเงินอย่างต่อเนื่อง น่าสนใจเหลือเกินว่า MLB จะสามารถก้าวหน้าไปถึงจุดไหน และเราจะมีโอกาสเห็นนักเบสบอลก้าวขึ้นเป็นนักกีฬาที่มีค่าจ้างอันดับหนึ่งได้หรือไม่ … เวลาเท่านั้นที่จะให้คำตอบ

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ