กมธ.กยศ. มีมติ ยกเลิกเบี้ยปรับเบี้ยวหนี้-ให้สิทธิประโยชน์ปลอดหนี้ 2 ปี ปรับลดดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 0.25 ต่อปี ชง ยกเลิกผู้ค้ำประกัน
เมื่อเวลา 12.30 น. วันที่ 20 พ.ค.2565 ที่รัฐสภา นพ.บัญญัติ เจตนจันทร์ ส.ส.ระยอง พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.กองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. แถลงผลการประชุมว่า กมธ.ได้พิจารณามาตรา 17 โดย กมธ.เสียงข้างมาก 12 ต่อ 11 เสียง มีมติไม่คิดเบี้ยปรับลูกหนี้กยศ.ที่ผิดนัดชำระหนี้คืนกองทุน เพื่อเป็นการลดภาระลูกหนี้ที่มีปัญหาด้านเศรษฐกิจ
นพ.บัญญัติ กล่าวต่อว่า ซึ่งปัจจุบันมีผู้ที่โดนเบี้ยปรับจำนวนมาก ทำให้ลูกหนี้มีปัญหาถูกฟ้องร้อง ส่วนเหตุผลของกมธ.เสียงข้างน้อยที่สงวนความเห็นให้คิดเบี้ยปรับร้อยละ 1 ต่อปี เพื่อเป็นการรักษาวินัยทางการเงินของผู้กู้ เพราะเกรงว่าถ้าไม่มีเบี้ยปรับ ผู้กู้จะปล่อยปละละเลยการชำระหนี้เงินกู้ ซึ่งจะกระทบต่อผู้กู้ที่เป็นรุ่นน้องจะไม่มีเงินกู้เพื่อเรียนต่อ
นพ.บัญญัติ กล่าวอีกว่า ซึ่งร่าง พ.ร.บ.ฉบับคณะรัฐมนตรี (ครม.) และร่างของพรรคประชาธิปัตย์ ก็ได้ปรับลดเบี้ยปรับจากร้อยละ 18 ต่อปีในกฎหมายปัจจุบัน เหลือเพียงร้อยละ 1 ต่อปี ถือว่าเป็นการลดภาระเบี้ยปรับค่อนข้างมากอยู่แล้ว
นพ.บัญญัติ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ กมธ.ยังมีมติให้สิทธิประโยชน์แก่ลูกหนี้กยศ. ปลอดหนี้เป็นเวลา 2 ปี นับตั้งแต่วันที่สำเร็จการศึกษา เลิกการศึกษา หรือพ้นสภาพการศึกษา ซึ่งปัจจุบันกองทุนกยศ.ก็ให้ปลอดหนี้ 2 ปีอยู่แล้ว แต่ไม่ได้อยู่ในพ.ร.บ. ซึ่งกมธ.เห็นว่าการศึกษาเป็นการลงทุนและลดความเหลื่อมล้ำ คนที่กู้กยศ.คือคนด้อยโอกาสเรื่องเศรษฐกิจแต่มีความตั้งใจศึกษาเล่าเรียน จึงให้กำหนดไว้ในตัวกฎหมาย
นพ.บัญญัติ กล่าวอีกว่า สำหรับลูกหนี้กยศ.ที่ประสงค์จะชำระหนี้ทันทีหลังจบการศึกษาก็ไม่มีปัญหา โดยกมธ.ให้ข้อสังเกตว่า เมื่อชำระหนี้ก่อนกำหนดระยะเวลาปลอดหนี้ กองทุนก็ควรมีโปรโมชั่น เช่น ลดเงินต้นให้ เพื่อเป็นแรงจูงใจให้เงินไหลกลับมาที่กองทุนเร็วขึ้น รุ่นน้องจะได้มีเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาได้เร็วขึ้น
นพ.บัญญัติ กล่าวว่า กมธ.ยังมีมติปรับลดดอกเบี้ยจากกฎหมายปัจจุบันที่ระบุไว้ไม่เกินร้อยละ 7.5 ต่อปี เหลือเพียงไม่เกินร้อยละ 0.25 ต่อปี โดยปรับลดจากร่างครม.และร่างของพรรคประชาธิปัตย์ที่ระบุไว้ไม่เกินร้อยละ 2 ต่อปี เพื่อบรรเทาภาระเศรษฐกิจของผู้กู้ สำหรับกรณีผู้ค้ำประกัน กมธ.อยู่ระหว่างการพิจารณา แต่มีแนวโน้มยกเลิกผู้ค้ำประกัน เพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่ผู้ค้ำประกัน
เช่น บิดา มารดา คุณครู ที่ประสบปัญหาถูกบังคับคดีเป็นจำนวนมาก โดยให้นักเรียนนักศึกษาใช้สินทรัพย์ส่วนตัวค้ำประกันตนเอง ทั้งนี้ กมธ.จะมีการลงมติเรื่องนี้ในการประชุมครั้งถัดไป