“จะทำอย่างไรดีเมื่อเราสูญเสียใครสักคน” คำถามนี้น่าจะเคยเกิดกับเราสักครั้งในชีวิต การสูญเสียนี้ไม่ใช่แค่การอกหัก มันยังรวมถึงเวลาที่ความตายจะมาพาใครสักคนไปจากเรา ในทางจิตวิทยาได้มีทฤษฎีหนึ่งที่กล่าวถึงการรับมือเมื่อเจอความสูญเสีย มีทั้งหมด 5 ขั้นตอนเรียกว่า 5 Stages of Grief
5 Stages of Grief คืออะไร
5 Stages of Grief เป็นทฤษฎีระยะเวลาของการก้าวผ่านความสูญเสีย โดยแบ่งความรู้สึกและระยะออกเป็น 5 ระยะว่าเมื่อเราสูญเสียใครสักคนจะเกิดอะไรขึ้นบ้างและในแต่ละระยะนั้นควรทำอย่างไร ทฤษฎีนี้ถูกเขียนและตั้งขึ้นมาโดย Elisabeth Kubler Ross แพทย์หญิงผู้เขียนหนังสือ On Death and Dying
5 ระยะมีอะไรบ้าง
- ปฏิเสธ (Denial)
ปฏิเสธคือสิ่งแรกที่จะเกิดขึ้นเมื่อเราเจอความสูญเสียหรือผิดหวังกับอะไรบางอย่าง เช่น แฟนบอกเลิก คนใกล้ตัวเสียชีวิต เราจะปฏิเสธเหตุการณ์นั้นโดยทันที ปฏิเสธว่าเหตุการณ์นี้มันเคยเกินขึ้น ไม่เชื่อกับสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นภาวะช็อคอย่างหนึ่ง ในขั้นนี้เรามักจะตอบสนองด้วยอารมณ์ที่รุนแรง ไม่ว่าจะเป็นความเศร้า ความโกรธ ความกังวล โดยปกติในระยะนี้เรามักปฏิเสธความจริง พยายามสงบสติอารมณ์ตัวเองให้ได้มากที่สุด
- โกรธ (Anger)
ระยะนี้เราจะเริ่มได้สติ ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นได้บ้าง เริ่มรู้ตัวถึงสิ่งที่เกิดขึ้น เมื่อรู้ตัวและจำเหตุผลได้เราจะเริ่มโกรธ ในกรณีที่แฟนบอกเลิกเราอาจจะรู้สึกโกรธกับเหตุผลที่แฟนให้มา กรณีเราสูญเสียใครไปเพราะความตายเราอาจจะโกรธโชคชะตา โกรธหมอ โกรธตัวเอง ในระยะนี้พยายามหาคนรับฟังและระบายออกไป เพื่อเข้าสู่ระยะต่อไปได้ง่ายขึ้น
- ต่อรอง (Bargaining)
หลังจากความโกรธเริ่มน้อยลง เราจะเริ่มอยากกลับไปแก้ไขในสิ่งที่ผิดพลาด เป็นระยะที่เราไม่มั่นคงในจิตใจมากที่สุด เช่น ถ้าวันนั้น… ถ้าเราทำแบบนั้น… เราจะรู้สึกสับสน พยายามหาคำตอบเพื่อมาชดใช้ในสิ่งที่ทำพลาดไป หลายคนก็จะอ้อนวอนต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้ทุกอย่างกลับมาเหมือนเดิม ตอนนี้เองหากใครที่เลิกกับแฟนก็จะพยายามกลับไปง้อด้วยวิธีการต่างๆ ในขั้นตอนนี้พยายามใช้สติ ยอมรับกับสิ่งที่เกิดขึ้นหากมันไม่สามารถย้อนกลับมาได้ เพื่อเข้าสู่ระยะต่อไป
- เศร้าเสียใจ (Depression)
หลังจากที่ผ่านทั้งสามระยะมาเราจะเริ่มรู้ตัวเองอย่างชัดเจนแล้วว่าเราต้องยอมรับและคงเปลี่ยนผลลัพธ์กับสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้ นี่คือความจริงที่เกิดขึ้น เราจะเริ่มเข้าสู่ระยะเศร้าเสียใจ เราจะมีอาการซึมเศร้า หมดแรง มองโลกในแง่ร้าย เบื่ออาหาร นอนไม่หลับ ในช่วงนี้พยายามคุยกับคนรอบข้างเพื่อระบายสิ่งที่อยู่ในใจ หากรู้สึกแย่มากๆจนส่งผลต่อชีวิตประจำวันก็แนะนำให้ปรึกษาจิตแพทย์
- ยอมรับ (Acceptance)
ในระยะนี้อาการซึมเศร้า อาการเสียใจต่างๆจะค่อยๆดีขึ้น เราจะเริ่มยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นได้ ยอมรับความเป็นจริง ถึงแม้จะยังไม่ได้หายดี ยังไม่ได้ถึงขั้นมีความสุข แต่ก็เริ่มสงบ เริ่มอยู่กับปัจจุบันได้มากขึ้น ช่วงนี้ลองหากิจกรรมหรือสิ่งที่เราทำแล้วสบายใจ เราจะจบระยะสุดท้ายนี้ไปในที่สุด
ความสูญเสียเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในชีวิตของเราทุกคน สิ่งที่ทำได้คือรับมือกับมันอย่างมีสติที่สุด ช่วงเวลาเสียใจก็หาคนอยู่ข้างๆ หากมันหนักจนกระทบชีวิตประจำวันก็ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเพื่อแก้ปัญหาอย่างถูกวิธี