‘ดร.ณัฎฐ์’ นักกฎหมายชี้วาระ ‘บิ๊กตู่’ เริ่มนับมิ.ย.62 เทียบกรณีประธานศาลรธน.

Home » ‘ดร.ณัฎฐ์’ นักกฎหมายชี้วาระ ‘บิ๊กตู่’ เริ่มนับมิ.ย.62 เทียบกรณีประธานศาลรธน.


‘ดร.ณัฎฐ์’ นักกฎหมายชี้วาระ ‘บิ๊กตู่’ เริ่มนับมิ.ย.62 เทียบกรณีประธานศาลรธน.

“ดร.ณัฎฐ์” ชี้การนับระยะเวลาครบ 8 ปี พล.อ.ประยุทธ์ ในเก้าอี้นายกฯให้นับระยะเวลาครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญ 2560 บังคับใช้ เริ่มนับวันที่ 9 มิ.ย.2562 นับตั้งแต่ได้รับการโปรดเกล้าฯ

เมื่อวันที่ 17 พ.ค.65 จากกรณีมีข้อถกเถียงและเห็นไม่ตรงกันประเด็นการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มีวาระการดำรงตำแหน่ง 2 วาระติดต่อกัน 8 ปี ให้นับจากวันใด เมื่อไร อย่างไร ตามรัฐธรรมนูญฉบับใด

ล่าสุด ดร.ณัฐวุฒิ วงศ์เนียม หรือดร.ณัฎฐ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญและนักกฎหมายมหาชน อธิบายถึงประเด็นดังกล่าวว่า ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 158 วรรคสี่ บัญญัติว่า “นายกรัฐมนตรี จะดํารงตําแหน่งรวมกันแล้วเกิน 8 ปี มิได้ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการดํารงตําแหน่งติดต่อกันหรือไม่” ในการวินิจฉัยประเด็นนี้จึงอยู่ที่ว่าจะต้องนับเวลาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพล.อ.ประยุทธ์ ตามมาตรา 158 วรรคสี่นับตั้งแต่เมื่อใด อย่างไร แบ่งเป็น 3 กรณี

ดร.ณัฐวุฒิ กล่าวว่า กรณีแรก นับตั้งแต่วันที่พล.อ.ประยุทธ์เริ่มดำรงตำแหน่ง คือ วันที่ 24 ส.ค.2557 เป็นต้นไป กรณีที่สอง เริ่มนับตั้งแต่วันที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ประกาศใช้ คือ วันที่ 6 เม.ย.2560 และกรณีที่สาม เริ่มนับตั้งแต่วันที่พล.อ.ประยุทธ์ ได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ภายหลังเลือกตั้งครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 คือ วันที่ 9 มิ.ย.2562 เป็นต้นไป

ดร.ณัฎฐ์ กล่าวว่า หากพิจารณาตามบทเฉพาะกาลตามความมาตรา 264 บัญญัติว่า “ให้คณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ เป็นคณะรัฐมนตรีตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้จนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรก ตามรัฐธรรมนูญนี้จะเข้ารับหน้าที่..” หมายความว่า พล.อ.ประยุทธ์ที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี มาตั้งแต่วันที่ 24 ส.ค.2557 จึงย่อมเป็นนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 จึงต้องอยู่ภายใต้ข้อบังคับของมาตรา 158 วรรคสี่ คือ “ นายกรัฐมนตรีจะดํารงตําแหน่งรวมกันแล้วเกิน 8 ปี มิได้” ยกเว้นมีบทเฉพาะกาล เขียนยกเว้นเอาไว้ว่าไม่ให้นำมาตรา 158 วรรคสี่ มาใช้บังคับแก่นายกรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งมาก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ

ดร.ณัฎฐ์ กล่าวว่า เมื่อพิจารณาตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มีเพียง มาตรา 264 ที่กำหนดเรื่องนี้เอาไว้ โดยเขียนไว้ที่วรรคสอง คือ รัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งมาก่อนประกาศใช้รัฐธรรมนูญ “ต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557” และ “ต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่บัญญัติไว้สําหรับรัฐมนตรีตามมาตรา 160” ทั้งนี้ ได้บัญญัติไว้อย่างชัดเจนว่ายกเว้นมาตราใดบ้าง ไม่ให้เอามาใช้ ซึ่งได้แก่ “ยกเว้น (6) เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับมาตรา 98 (12) (13) (14) และ (15) และต้องพ้นจากตําแหน่งตามมาตรา 170 ยกเว้น (3) และ (4) แต่ในกรณีตาม (4) เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับมาตรา 98 (12) (13) (14) และ (15) และยกเว้นมาตรา 170 (5) เฉพาะในส่วนที่เก่ียวกับการดําเนินการตามมาตรา 184 (1)” ซึ่งไม่ปรากฏว่า ยกเว้นมาตรา 158 วรรคสี่ แต่ประการใด

ดร.ณัฐวุฒิฯ กล่าวต่อไปว่า ดังนั้น การที่รัฐธรรมนูญพุทธศักราช​ 2560​ มาตรา 158 วรรคสี่ กำหนดว่านายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกินกว่า 8 ปีมิได้นั้นเป็นเรื่องของการควบคุมอำนาจของฝ่ายบริหาร ไม่ใช่เรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชน การตีความจึงตรงข้ามกันโดยสิ้นเชิง คือ ถ้าเป็นสิทธิเสรีภาพ ถ้าไม่บัญญัติห้ามไว้ หมายความว่าทำได้ แต่ถ้าเป็นเรื่องอำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐ จะตรงข้ามคือ ถ้าไม่เขียนว่าทำได้ แปลว่า ทำไม่ได้ ในเมื่อบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ​ พุทธศักราช​ 2560 ไม่ได้เขียนยกเว้นเอาไว้ให้ พลเอกประยุทธ์ ก็ต้องยึดตามมาตรา 158 วรรคสี่ นั่นคือ ระยะเวลา 8 ปี จึงต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่พลเอกประยุทธ์ เริ่มดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี คือวันที่ 24 ส.ค.2557 ซึ่งจะครบ 8 ปี ในวันที่ 24 ส.ค.2565 ตรงนี้เป็นความเข้าใจทั่วไป หากอ่านรัฐธรรมนูญไม่ละเอียดและขาดความเข้าใจ

ดร.ณัฎฐ์ ชี้ว่า สำหรับวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพล.อ.ประยุทธ์ให้ถือตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 อันมีผลบังคับใช้ตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ให้เริ่มนับตั้งแต่วันที่ 9 มิ.ย.2562 ซึ่งเป็นวันที่มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้พลเอกประยุทธ์ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 เป็นต้นไป (ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 6 เม.ย.2560) เหตุผลหลักรองรับในการนับระยะเวลา คือ การกำหนด “เงื่อนไข” ให้นายกฯ ดำรงตำแหน่งรวมแล้วเกิน 8 ปีไม่ได้นั้นเป็นเงื่อนไขการจำกัดสิทธิบุคคลที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เป็นการบัญญัติกฎหมายในทางเป็นโทษ จะนำมาบังคับใช้ย้อนหลังในทางที่เป็นโทษไม่ได้ การกำหนดเงื่อนไขในรัฐธรรมนูญให้ผลย้อนหลังใช้บังคับกับการกระทำที่เกิดขึ้นก่อนวันที่รัฐธรรมนูญมีผลใช้บังคับย่อมขัดหลักกฎหมาย

อีกทั้งตามบทเฉพาะกาล มาตรา 264 เป็นการปฏิบัติหน้าที่แทน ครม. ตามบทหลักของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 เพียงชั่วเวลาหนึ่ง และต้องพ้นจากหน้าที่ภายหลังจากที่คณะรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 เข้าปฏิบัติหน้าที่ หากรัฐธรรมนูญมีเจตนารมณ์ให้นับระยะเวลาปฏิบัติหน้าที่นายกฯ ของพล.อ.กประยุทธ์ในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ก่อนหน้านี้ จะต้องบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญให้ชัดเจนว่า ให้นับระยะเวลาดังกล่าวรวมเป็นระยะเวลาดำรงตำแหน่งนายกฯ ของพลเอกประยุทธ์ด้วย

ทั้งนี้ การยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินในปี 2557 ในขณะที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและเป็นหัวหน้า คสช.ในการรัฐประหารสำเร็จ จึงมีสถานะรัฏฐาธิปัตย์ แนวคำพิพากษา ที่ 45/2496 วินิจฉัยไว้เป็นบรรทัดฐาน คำสั่งของคณะรัฐประหาร คือ กฎหมาย มีอำนาจเหนือฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหารและฝ่ายตุลาการ หากเทียบเคียงกรณีนายวรวิทย์ กังศศิเทียม ประธานศาลรัฐธรรมนูญ โดยนำรัฐธรรมนูญ 2550 และรัฐธรรมนูญ 2560 มาเทียบเคียงกันในประเด็นคุณลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 208(1) ประกอบมาตรา 202(1) ตามรัฐธรรมนูญ 2560 กรณีเป็นหรือเคยเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

จะเห็นว่า นายวรวิทย์จึงยังคงอยู่ในตำแหน่งต่อไปได้จนกว่าจะครบวาระตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ 2550 และมาตรา 273 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 79 วรรคหนึ่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ 2561 เมื่อรัฐธรรมนูญและ พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ บัญญัติรับรองสถานะการดำรงตำแหน่งของนายวรวิทย์ ไว้อย่างชัดเจนในบทเฉพาะกาล ดังนั้นคณะกรรมการสรรหา จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ว่านายวรวิทย์ไม่ได้มีลักษณะต้องห้ามตาม 202 (1) ของรัฐธรรมนูญเป็นเหตุให้ต้องพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 208 (1) เชื่อว่าช่องทางเทียบเคียงดังกล่าวจะนำไปใช้ในการตีความการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพล.อ.ประยุทธ์ แม้คำวินิจฉัยชี้ขาดของคณะกรรมการดังกล่าว ไม่ใช่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นเด็ดขาดผูกพันทุกองค์กร มาตรา 211 วรรคสี่ก็ตาม

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ