กระแสรัฐประหารถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงอีกครั้งช่วงที่กำลังจะมีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. หลายเวทีดีเบตตั้งคำถามสอบทานจุดยืนผู้สมัครกลุ่มตัวเต็ง
จำนวนหนึ่งยืนยันแข็งขันถึงหลักการประชาธิปไตย ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร เพราะเป็นวงจรอุบาทว์ที่ไม่ควรเกิดขึ้นในทุกห้วงเวลาไม่ว่าในอดีต ปัจจุบันหรืออนาคต และพร้อมออกมาต่อต้านคัดค้านร่วมกับประชาชนอย่างถึงที่สุดหากตนเองได้รับเลือกตั้ง
ขณะเดียวกันก็มีผู้สมัครบางคนที่ได้รับการสนับสนุนจากแกนนำกลุ่มผู้ชื่นชอบรัฐประหาร ให้ความเห็นต่างอ้างว่าการรัฐประหารอาจเป็นสิ่งถูกต้องหากเกิดกับรัฐบาลที่โกงกินบ้านเมือง และประชาชนเห็นด้วย
จุดยืนแนวคิดผู้สมัครคนใด สังคมยอมรับมากกว่ากัน ตัดสินกันในคูหาวันอาทิตย์นี้
ก่อนกระแสการรัฐประหารจะกลายเป็นหัวข้อบนเวทีดีเบตผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. สารตั้งต้นของเรื่องนี้ น่าจะมาจากการที่พรรคการเมืองใหญ่ฝ่ายค้าน ได้ประกาศยุทธศาสตร์แลนด์สไลด์ในการเลือกตั้งใหญ่ครั้งหน้า ตั้งเป้ากวาดส.ส.เกิน 250 ที่นั่ง เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล
แม้ยังก้ำกึ่งระหว่างความเป็นไปได้กับเป็นไปไม่ได้ แต่สร้างความหวาดหวั่นขวัญผวาให้กับพรรคแกนนำรัฐบาลปัจจุบันที่มีรากฐานมาจากคณะรัฐประหารเมื่อปี 2557 อย่างมาก
ด้วยความที่ตนเองอยู่มา 8 ปี บริหารประเทศจนเสื่อมทรามลงทุกด้าน ภายในพรรคแตกแยกเละเทะ ไม่เหลือสภาพจะไปแข่งขันกับพรรคคู่ปรับตัวฉกาจที่กระแสกำลังดีวันดีคืนได้
เหตุนี้กระแสปลุกผีทักษิณ กับปลุกผีรถถัง จึงเป็นอาวุธสุดท้ายในมือ
ช่วงเกิดกรณีลาซาด้า สังคมส่วนหนึ่งวิตกว่าอาจมีคนกลุ่มหนึ่งอาศัยเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการชุมนุมประท้วง ปูทางให้ทหารออกมาทำรัฐประหารเหมือนปี 2549 และ 2557 เพื่อล้างไพ่การเมือง สืบต่ออำนาจเผด็จการไม่จบสิ้น หรือไม่
แม้ผบ.ทบ.จะปฏิเสธยืนยัน ไม่มีแน่นอน แต่หากย้อนอดีตก่อนรัฐประหารปี 2557 ผบ.ทบ.ขณะนั้นให้สัมภาษณ์หลายครั้งเช่นกันว่าจะไม่มีรัฐประหาร แต่ก็ลงมือทำในที่สุด
สังคมไทยผ่านบทเรียนเจ็บปวด 8 ปีเต็ม วันนี้พร้อมส่งต่อบทเรียนนี้ไปยังเครือข่ายผู้มีอำนาจ ขั้นแรกในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. 22 พ.ค. เพื่อส่งสัญญาณยืนยันประเทศต้องไม่มีการรัฐประหารอีกเด็ดขาด
และจะไม่ประนีประนอมกับผู้สมัครหรือใครก็ตามที่เห็นต่างจากนี้