9 ปียังคิดถึง บิลลี่ พอละจี ถูกอุ้มหาย ชาวบางกลอย จัดงานรำลึก หวังความยุติธรรม-ความจริงปรากฎ มึนอ เผย ชาวบ้านลำบาก อยากกลับคืนถิ่นเกิด
การหายไปอย่างไร้ร่องรอยของ “บิลลี่” นายพอละจี รักจงเจริญ แกนนำกะเหรี่ยงบางกลอย เมื่อวันที่ 17 เม.ย.2557 ยังคงเป็นเครื่องหมายคำถามให้กับคนในครอบครัว ที่ยังรอคอยความยุติธรรม และ เฝ้ารอความจริงปรากฎ
โดยล่าสุด เมื่อวันที่ 17 เม.ย.ที่ผ่านมา 6 ที่บริเวณด่านเขามะเร็ว อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี จุดชาวบ้านบางกลอยประมาณ 50 คนได้ร่วมกันจัดงานรำลึกการหายตัวไปของ “บิลลี่”
นำโดย นอแอะ มีมิ ผู้อาวุโสประจำชุมชนบางกลอย บุตรชาย ปู่คออี้ มีมิ เป็นผู้เริ่มต้นจุดเทียนอธิษฐานถึงบิลลี่ หลังจากนั้น น.ส.พิณนภา พฤกษาพรรณ หรือ มึนอ ภรรยาบิลลี่ พร้อม ด.ช.วี วัย 10 ขวบ บุตรชายคนเล็กของบิลลี่ ได้ร่วมกันจุดเทียน พร้อมถือป้าย “ที่นี่มีคนหาย” ขณะที่ชาวบ้านต่างทยอยกันจุดเทียนรำลึกถึงบิลลี่เช่นกัน
หลังจากนั้นทั้งหมดร่วมกันถือป้ายที่เขียนว่า “9 ปีบิลลี่หาย พวกเรายังตามหา” บริเวณป้อมด่านเขามะเร็ว ซึ่งเป็นจุดสุดท้ายที่มีคนเห็นบิลลี่ถูกเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ควบคุมตัวและหายตัวไป
- ‘ทนายปู่คออี้’ ได้รับหมายเรียก โดน ‘ชัยวัฒน์’ แจ้งความกลับ ปมคดีเผาบ้าน
- บทบรรณาธิการ – 9 ปีบิลลี่-บางกลอย
นายพงษ์ศักดิ์ ต้นน้ำเพชร ชาวบ้านบางกลอย กล่าวว่า การจัดพิธีที่ด่านเขามะเร็วในวันนี้ เพราะชาวบ้านต้องการรำลึก 9 ปีที่บิลลี่หายไป และในวันที่ 24 เมษายน 2566 จะมีการไต่สวนคดีบิลลี่ โดยแม่ของบิลลี่และมึนอ จะเดินทางไปให้ปากคำ หวังว่ากระบวนการยุติธรรมจะอำนวยความเป็นธรรมให้แก่ประชาชนได้
ขณะที่ มึนอ กล่าวว่า 9 ปีที่ผ่านมานับตั้งแต่บิลลี่หายไป ปัญหาที่เขาต่อสู้ยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ทั้งเรื่องที่ดินทำกินและความเดือนร้อนของชาวบางกลอย ชีวิตเป็นไปอย่างยากลำบากโดยชาวบ้านต้องการกลับไปทำมาหากินในพื้นที่ดั้งเดิมของบรรพบุรุษ ซึ่งมีข้อเสนอของคณะกรรมการอิสระเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ปัญหาชุมชนกะเหรี่ยงบางกลอย แต่จนถึงวันนี้ก็ยังไม่มีการลงนาม
“มีความพยายามบอกว่าปัญหาของชาวบางกลอยได้รับการแก้ไขแล้ว แต่ในความเป็นจริงญาติพี่น้องของบิลลี่ยังประสบปัญหาและไม่ได้รับการแก้ไขใดๆ อยากให้เขาอธิบายเป็นข้อๆให้ชัดเจนมาเลยว่าได้แก้ไขอะไรไปบ้างแล้ว ไม่ใช่กล่าวลอยๆ สำหรับพวกเราแล้วเห็นว่ามันยังไม่ได้รับการแก้ไขอะไรเลย” มึนอ กล่าว
ขณะที่ นางกิ้บ ต้นน้ำเพชร ชาวบ้านบางกลอย กล่าวว่า เรายังคิดถึงบิลลี่ ความหวังที่บิลลี่พยายามต่อสู้เพื่อสิทธิในที่ทำกิน สิทธิชุมชน ก็ยังไม่สามารถแก้ไขได้ ในการที่จะขึ้นศาลในคดีการหายตัวไปของบิลลี่นั้น ก็ยังมีความหวังในกระบวนการยุติธรรม หวังว่าคนผิดจะถูกดำเนินคดีและลงโทษตามกฎหมาย คนที่ทำบิลลี่ เขาจะได้รับผิดหรือไม่ เขามีคนช่วย มีตัวแทน เขาจะถูกลงโทษตามกฎหมายหรือไม่ และขอเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรี ลงนามในข้อเสนอของคณะกรรมการอิสระฯ ที่มีนายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน
ทั้งนี้ ข้อเสนอของคณะกรรมการอิสระฯระบุว่า กรณีกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบ้านบางกลอย ที่ประสงค์จะอยู่อาศัยในพื้นที่ชุมชนบ้านบางกลอย หมู่ 1 (บริเวณพื้นที่ตั้งชุมชนปัจจุบัน) จำนวนประชากร 732 คน ใช้แนวทางการพัฒนาคุณภาพชีวิตและการส่งเสริมอาชีพโดยพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อการดำรงชีวิตที่มีคุณภาพ และให้การเยียวยากลุ่มราษฎรที่ได้รับผลกระทบ จากการโยกย้ายชุมชน
กรณีกลุ่มชาติพันธุ์ชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอยที่ประสงค์จะกลับไปดำรงวิถีชีวิตด้วยระบบเกษตรแบบไร่หมุนเวียนในพื้นที่บางกลอยบน (พื้นที่เดิมของชุมชนก่อนถูกโยกย้าย) จำนวน 150 คน ใช้แนวทางพัฒนาพื้นที่ต้นแบบส่งเสริมระบบเกษตรแบบไร่หมุนเวียน ตามหลักการคุ้มครองสิทธิทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฯมาตรา 70 และมติคณะรัฐมนตรี 3 สิงหาคม 2553 โดยดำเนินการผ่านการจัดโครงการศึกษาเชิงทดลองแบบมีส่วนร่วม
มอบหมายให้ ทส. แต่งตั้งคณะทำงานร่วม 3 ฝ่าย ประกอบด้วย ผู้แทนกลุ่มชาติพันธุ์ ชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอยประสงค์จะกลับไปดำรงวิถีชีวิตด้วยระบบเกษตรแบบไร่หมุนเวียน คณะกรรมการอิสระฯ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.)ดำเนินการสำรวจการใช้ประโยชน์พื้นที่ตามวิถีวัฒนธรรมของชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย และจัดทำแผนที่ระบุขอบเขตการใช้ประโยชน์ทีดินตามมาตรา 64 และจัดทำแผนบริหารจัดการพื้นที่พร้อมกำหนดมาตรการกำกับดูแลการใช้ประโยชน์พื้นที่อย่างสมดุลและยั่งยืน