กรมสรรพากร เตือนประชาชนที่มีรายได้ ยื่นภาษี ก่อนหมดเวลา (ยื่นแบบฯ ภ.ง.ด. 90/91) โดยให้ยื่นภายใน 9 เมษายน 2567 ผ่านระบบ e-Filing เท่านั้น สามารถชำระภาษีออนไลน์ได้จนถึง 22.00น. ยื่นแบบได้ที่ >>> www.rd.go.th หากเลยวันที่กำหนดจะทำอย่างไรได้บ้าง? และมีโทษทางกฎหมายอย่างไร ? เช็กเลย!
- กรมสรรพากร แจง ‘ดรามายื่นภาษีออนไลน์’ แล้วมีช่องรายได้แปลก ๆ
- เริ่มแล้ว! Easy E-Receipt ลดหย่อนภาษีสูงสุด 5 หมื่น ช้อปเสร็จ ทำไงต่อ?
วิธียื่นภาษีออนไลน์
1.เริ่มแรกเข้าไปที่เว็บไซต์ของกรมสรรพากร ที่ https://efiling.rd.go.th/rd-cms/
- เมื่อเข้าเว็บไซต์แล้ว ให้เรากดปุ่ม “สมัครสมาชิก”
2.กรอกข้อมูลเลขบัตรประชาชน
- กรอกข้อมูลเลขบัตรประชาชน 13 หลักและติ๊กถูกในช่อง “ฉันไม่ใช่โปรแกรมอัตโนมัติ” เพื่อยืนยันว่าเราไม่ใช่ Robot
3.กรอกข้อมูลส่วนตัว
- โดยระบบจะให้กรอกข้อมูลส่วนตัวต่าง ๆ เช่น ชื่อ-นามสกุล วัน/เดือน/ปีเกิด เลขหลังบัตรประชาชน ที่อยู่ อีเมล์ พร้อมสร้างรหัสผ่านเพื่อใช้ในการเข้าสู่ระบบ e-Filing สำหรับยื่นภาษีออนไลน์
4.เข้าสู่ระบบ e-Filing ของกรมสรรพากร
- เข้าสู่ระบบ e-Filing โดยการกรอกเลขบัตรประชาชนในช่องชื่อผู้ใช้งาน พร้อมกรอกรหัสผ่าน และกด “ตกลง” จากนั้นยืนยันตัวตนด้วยรหัส OTP 6 หลัก ผ่านเบอร์โทรศัพท์มือถือ
5.เลือกยื่นแบบภาษีเงินได้ ภ.ง.ด.90/91
- อ่านและยอมรับข้อตกลงและเงื่อนไขในการใช้บริการอิเล็กทรอนิกส์ของกรมสรรพากร จากนั้นกด “เข้าสู่ระบบ” และเลือก “ยื่นแบบ” ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภ.ง.ด. 90/91
กรณีที่ต้องการใช้ข้อมูลในระบบ My Tax Account ในการดึงข้อมูลค่าลดหย่อนอัตโนมัติให้เข้าเว็บไซต์ของกรมสรรพากรที่ https://efiling.rd.go.th/rd-efiling-web/authen/MTA2 หลังจากนั้นเข้าสู่ระบบ โดยระบบจะแสดงหน้าจอรายละเอียดของข้อมูลผู้มีเงินได้ ให้ตรวจสอบข้อมูลให้เป็นปัจจุบัน
จากนั้นกด “ตรวจสอบข้อมูลและยื่นแบบ” ระบบจะแสดงข้อมูลค่าลดหย่อน ทั้งหมดคือ ค่าใช้จ่ายส่วนตัวและครอบครัว การออมและการลงทุน ดอกเบี้ยกู้ยืมที่อยู่อาศัย มาตรการช้อปดีมีคืน และเงินบริจาค จากนั้นกด “ยื่นแบบโดยใช้ข้อมูล” เมื่อกดแล้วระบบจะกลับเข้าหน้า ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภ.ง.ด.90/91
การจ่ายภาษี สามารถผ่อนชำระได้
ไม่ว่าจะเป็นผู้มีรายได้ที่ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 หรือ ภ.ง.ด.91 หากมีภาษีที่ต้องจ่ายเพิ่ม สามารถผ่อนชำระภาษีได้แบบไม่เสียดอกเบี้ย และไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมใดๆ เมื่อเป็นไปตามเงื่อนไขดังนี้
– ภาษีที่ผ่อนชำระได้ต้องมียอดเงินตั้งแต่ 3,000 บาท ขึ้นไป
– สามารถผ่อนชำระภาษีได้ 3 งวดเท่าๆ กัน โดยไม่มีดอกเบี้ย และไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม
– สามารถขอรับสิทธิ์ตอนยื่นภาษีได้ทั้งระบบออนไลน์บนเว็บไซต์สรรพากร www.rd.go.th และยื่นแบบกระดาษได้ที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่
วิธีผ่อนชำระภาษี
หากผู้มีหน้าที่เสียภาษีเลือกผ่อนชำระภาษีแทนการจ่ายเต็มจำนวน ทางสรรพากรได้กำหนดวิธีผ่อนชำระไว้ 2 กรณีคือ
1.ยื่นแบบกระดาษที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา ผู้เสียภาษีสามารถติดต่อสำนักงานสรรพากรพื้นที่ พร้อมยื่นเอกสาร บ.ช.35 จำนวน 1 ชุด 3 แผ่น ข้อความเหมือนกัน โดยขอจากเจ้าหน้าที่ได้ และสามารถผ่อนชำระภาษีเป็นทั้งหมด 3 งวด ดังนี้
– จ่ายภาษีงวดที่ 1 ชำระพร้อมกับการยื่นแบบ
– จ่ายภาษีงวดที่ 2 ชำระภายใน 1 เดือน นับแต่วันที่ต้องชำระงวดที่ 1
– จ่ายภาษีงวดที่ 3 ชำระภายใน 1 เดือน นับแต่วันที่ต้องชำระงวดที่ 2
2.ยื่นแบบออนไลน์ สามารถเลือกผ่อนชำระ ได้โดยระบบจะคำนวณยอดชำระพร้อมกำหนดวันที่ต้องชำระทั้ง 3 งวด ซึ่งงวดที่ 2 และงวดที่ 3 ระบบจะให้พิมพ์เอกสารการชำระเงินได้ภายใน 3 วันทำการหลังจากที่ได้ชำระงวดก่อนแล้ว
ตัวอย่างเช่น
- จ่ายภาษีงวดที่ 1 ภายในวันที่ 9 เมษายน พ.ศ.2567 (วันสุดท้ายที่สรรพากรกำหนดให้ยื่นภาษีออนไลน์)
– จ่ายภาษีงวดที่ 2 ภายในวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ.2567 (1 เดือน นับจากชำระภาษีงวดที่ 1)
– จ่ายภาษีงวดที่ 3 ภายในวันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ.2567 (1 เดือน นับจากชำระภาษีงวดที่ 2)
ทั้งนี้ ผู้มีหน้าที่เสียภาษีไม่ต้องกังวลว่าจะลืมชำระภาษีในแต่ละงวดเนื่องจากทางสรรพากรมีบริการแจ้งเตือนชำระภาษีผ่านทาง SMS เมื่อครบกำหนดวันที่ต้องชำระภาษีด้วย
ยื่นภาษีไม่ทันทำอย่างไร
บุคคลธรรมดาที่มีหน้าที่ในการยื่นแบบภาษีเงินได้ แต่ยื่นไม่ทันตามเวลาที่กำหนด จะต้องไปยื่นด้วยตนเองอีกครั้งที่ สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา โดยจะต้องเตรียมเอกสารประกอบไปด้วย ดังนี้
- แบบฟอร์ม ภ.ง.ด.91 หรือ ภ.ง.ด.90
- หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย (50 ทวิ)
- เอกสารที่เกี่ยวข้องกับการลดหย่อนภาษี เช่น ชงหนังสือรับรองการจ่ายเบี้ยประกันชีวิต หนังสือรับรองการจ่ายกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ฯลฯ
- เอกสารยืนยันสิทธิค่าลดหย่อนบิดามารดา (ใบ ล.ย. 03)
นอกจากเตรียมเอกสารเพื่อยื่นภาษีแล้ว จะต้องเตรียมเงินเพื่อชำระเงินภาษี และเงินเพิ่มอีก 1.5% ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องชำระ รวมทั้งค่าปรับตามกฎหมายสรรพากร ดังนี้
ยื่นเกินกำหนดปรับ 2,000 บาท
กรมสรรพากร ระบุว่า เตือนเรื่องค่าปรับกรณียื่นแบบเมื่อพ้นกำหนดเวลา ดังนี้
บุคคลธรรมดาที่ไม่ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90/91
- ต้องระวางโทษค่าปรับไม่เกิน 2,000 บาท ตามมาตรา 35 แห่งประมวลรัษฎากร แต่สามารถขอลดค่าปรับได้
ทั้งนี้ หากไม่มีเงินภาษีต้องชำระ ให้ชำระเพียงค่าปรับอย่างเดียว
สำหรับผู้ที่ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90/91 เพิ่มเติมภายหลังกำหนดเวลาการยื่นแบบ มีเงื่อนไขการชำระเงินและเสียค่าปรับดังนี้
- กรณีมีเงินภาษีต้องชำระ ให้ชำระเงินภาษี พร้อมเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องชำระ โดยไม่ต้องเสียค่าปรับ
- กรณีไม่มีเงินภาษีต้องชำระ ไม่ต้องเสียเงินเพิ่มและค่าปรับ
จงใจไม่ยื่นแบบ มีโทษปรับ-เสียเงินเพิ่ม
หากตั้งใจละเลยไม่ยื่นแบบภาษีเพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร มีโทษปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ และเสียเบี้ยปรับ 2 เท่าของภาษีที่ต้องชำระ รวมถึงต้องเสียเงินเพิ่ม 1.5% ต่อเดือนของเงินภาษีที่ต้องชำระ ตั้งแต่วันพ้นกำหนดเวลาการยื่นรายการจนถึงวันชำระภาษี โดยเศษของเดือนให้นับเป็น 1 เดือน