9จว.เหนือ ค่าฝุ่นpm2.5พุ่ง แม่ฮ่องสอนสูงสุด เตือนเด็กงดเล่นนอกบ้าน

Home » 9จว.เหนือ ค่าฝุ่นpm2.5พุ่ง แม่ฮ่องสอนสูงสุด เตือนเด็กงดเล่นนอกบ้าน


9จว.เหนือ ค่าฝุ่นpm2.5พุ่ง แม่ฮ่องสอนสูงสุด เตือนเด็กงดเล่นนอกบ้าน

9 จังหวัดภาคเหนือค่าฝุ่น PM2.5 ยังเกินมาตรฐาน “แม่ฮ่องสอน” สูงสุด 140 มคก./ลบ.ม. เกินมาตรฐานสูงสุด 19 วัน ระดับสีแดงวิกฤตสุขภาพถึง 11 วัน หวั่นกระทบสุขภาพเด็ก แนะค่าฝุ่นสูงไม่ควรให้ออกไปเล่นนอกบ้าน เผยปีที่แล้วภาคเหนือเจอเด็กป่วยจากฝุ่น 2.7 หมื่นราย

วันที่ 19 มี.ค.65 นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ขณะนี้สถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ยังพบเกินมาตรฐานใน 9 จังหวัดภาคเหนือตอนบนอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน แม่ฮ่องสอน น่าน แพร่ พะเยา และตาก

เนื่องจากสถานการณ์ไฟป่าในพื้นที่และเผาป่าเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะ ต.จองคำ อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน มีค่าฝุ่นสูงสุดที่ 140 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) โดยมีจำนวนวันที่ค่าฝุ่นอยู่เกินมาตรฐานสูงสุดจำนวน 19 วัน และมีค่าฝุ่นอยู่ในระดับมีผลกระทบต่อสุขภาพ (สีแดง) สูงถึง 11 วัน อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของกลุ่มเสี่ยง โดยเฉพาะเด็กที่เป็นกลุ่มเปราะบาง

“องค์การอนามัยโลกประมาณการณ์ว่า เด็กอายุ 0–5 ปีทั่วโลก เสียชีวิตปีละกว่า 5.7 แสนคน เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันและปอดยังพัฒนาไม่เต็มที่ อีกทั้งเด็กมีอัตราการหายใจมากกว่าผู้ใหญ่ และมักเล่นอยู่กลางแจ้ง หากอยู่ใกล้แหล่งกำเนิด PM2.5 อาจก่อให้เกิดโรคระบบทางเดินหายใจ ระบบหัวใจและหลอดเลือด กระทบต่อพัฒนาการของเด็ก ซี่งการเจ็บป่วยตั้งแต่วัยเด็ก ส่งผลให้เจ็บป่วยเรื้อรังตลอดในช่วงผู้ใหญ่ได้” นพ.สุวรรณชัยกล่าว

นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า จากฐานข้อมูลเฝ้าระวังโรคที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศ (HDC) ของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในปี 2564 รายงานเด็กอายุ 0-9 ปี ป่วยโรคที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศในพื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือ จำนวน 27,550 ราย และ จ.แม่ฮ่องสอนจำนวน 2,688 ราย

ซึ่งช่วงนี้เด็กปิดเทอมทำให้มีเวลาทำกิจกรรมนอกบ้านมากขึ้น ดังนั้น พ่อแม่ผู้ปกครองควรตรวจสภาพอากาศ หากฝุ่น PM2.5 เกินมาตรฐาน ควรเปลี่ยนให้เด็กทำกิจกรรมในบ้าน ลดออกนอกอาคาร สวมหน้ากากป้องกันฝุ่น ปิดประตูหน้าต่าง กินอาหารที่มีประโยชน์ ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ เพื่อป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพ

“หากเด็กมีอาการผิดปกติ เช่น ระคายเคืองผิวหนัง แสบตา แสบจมูก น้ำมูกไหล ไอ คอแห้ง เจ็บคอ หายใจลำบาก อึดอัดแน่นหน้าอก ปวดศีรษะ คลื่นไส้ และอาเจียน ให้รีบพาไปพบแพทย์ หรือสถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้าน สำหรับเด็กที่มีปัญหาเกี่ยวกับปอด หรือโรคหัวใจ ให้พกยาติดตัวเสมอ” นพ.สุวรรณชัยกล่าว

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ