“โรคมะเร็ง” มักเป็นที่รู้จักกันดีว่าเป็นโรคที่ไม่แสดงสัญญาณอันตรายชัดเจนให้เราเห็นกันนัก หากเราไม่ได้มีอาการที่แสดงออกชัดเจนว่ากำลังเป็นโรคนี้ในระยะ 3 ระยะ 4 จึงอาจจะยากที่จะทราบได้ว่าเรากำลังเป็นโรคมะเร็งอยู่
แต่เรายังพอจะสามารถสังเกตการเปลี่ยนแปลงในร่างกายของตัวเองได้ว่า กำลังเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งอยู่หรือเปล่า โดยดูจากการอาการในส่วนต่าง ๆ ของร่างกายที่ผิดปกติไปจากเดิม ดังนี้
อาการเริ่มต้นของโรค “มะเร็ง” ที่สังเกตได้ด้วยตัวเอง
ข้อมูลจาก โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ ระบุอาการเริ่มต้นของโรคมะเร็งที่เราสังเกตได้ ดังนี้
- พบก้อนหนาที่ผิวหนัง เต้านม หรือส่วนใด ๆ ของร่างกาย
- มีไฝเกิดขึ้นใหม่ หรือมีการเปลี่ยนแปลงของไฝเดิม เช่น ขยายขนาดโตขึ้น คัน แตกเป็นแผล เลือดออก
- มีอาการเจ็บปวดที่บริเวณต่าง ๆ ของร่างกายที่เรื้อรัง ผ่านไปหลายสัปดาห์ หรือเป็นเดือน ๆ ก็ยังไม่ดีขึ้น
- เสียงแหบ หรือไอเรื้อรัง อย่างไม่ทราบสาเหตุ
- มีความเปลี่ยนแปลงในการขับถ่ายอุจจาระหรือปัสสาวะ เช่น ปัสสาวะลำบาก ปัสสาวะปนเลือด ถ่ายอุจจาระลำเล็กลง อุจจาระลำบาก อุจจาระปนเลือด ปวดหน่วงทวารหนักเวลาขับถ่าย
- มีความเปลี่ยนแปลงในการรับประทานอาหาร เช่น กลืนติด กลืนลำบาก กลืนเจ็บ อิ่มเร็ว คลื่นไส้อาเจียน
- การเปลี่ยนแปลงของน้ำหนัก เช่น น้ำหนักลดมากโดยไม่มีสาเหตุอันควร
- มีสารคัดหลั่งออกผิดปกติหรือเลือดออก เช่น ตกขาวผิดปกติ ตกขาวปนเลือด เลือดออกทางช่องคลอดผิดปกติภายหลังการมีเพศสัมพันธ์
อย่างไรก็ตาม แม้ในบางคนจะมีอาการดังกล่าว แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นโรคมะเร็ง ยังต้องได้รับการตรวจเพิ่มเติมจากแพทย์อีกครั้ง เพียงแต่หากมีอาการเหล่านี้ ไม่ควรนิ่งเฉยแล้วคิดว่าเป็นเรื่องปกติเดี๋ยวก็หายไปเอง ควรรีบหาเวลาไปตรวจกับแพทย์ที่โรงพยาบาล เพื่อเข้ารับการวินิจฉัย หรือรักษาอย่างทันท่วงทีจะดีที่สุด เพราะไม่ว่าจะโรคอะไร หากพบก่อน รักษาได้ทัน และง่ายกว่าเสมอ