8 อันตราย-ผลข้างเคียงจากการกินใบกระท่อม ที่ควรรู้ก่อนกิน

Home » 8 อันตราย-ผลข้างเคียงจากการกินใบกระท่อม ที่ควรรู้ก่อนกิน
8 อันตราย-ผลข้างเคียงจากการกินใบกระท่อม ที่ควรรู้ก่อนกิน

นายแพทย์สรายุทธ์ บุญชัยพานิชวัฒนา ผู้อำนวยการสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี ระบุว่า  ใน ใบกระท่อม พบว่ามีสารสำคัญ คือ ไมทราไจนีน (Mitragynine) เป็นสารจำพวกอัลคาลอยด์ ออกฤทธิ์กดประสาทส่วนกลาง คล้ายฝิ่น แต่มีฤทธิ์น้อยกว่าประมาณ 10 เท่า และ 7-hydroxymitragynine พบน้อยมากในใบกระท่อมสด แต่มีฤทธิ์รุนแรงกว่ากว่ามอร์ฟีน 100 เท่า 

ใบกระท่อม

ใบกระท่อม (Kratom) หรือ Mitragyna speciosa (Korth.) Havil. เป็นพืชสมุนไพรพื้นถิ่นของภาคใต้ ที่ได้รับการปลดล็อกจากกฎหมายไทยเมื่อปี 2564 มีคุณสมบัติช่วยบำบัดและรักษาโรคต่างๆ เช่น ความเจ็บปวดและอาการเหนื่อยล้า ปัจจุบันกระท่อมมี 3 สายพันธุ์หลัก คือ ก้านเขียว, ก้านแดง, และก้านแดงหางกั้ง ซึ่งสายพันธุ์ก้านแดงและก้านแดงหางกั้งเป็นที่ต้องการในตลาดอุตสาหกรรมแปรรูป เนื่องจากมีสารสำคัญที่เหมาะกับการผลิตเวชภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร

แพทย์เตือน “กระท่อม” กินให้พอดีมีประโยชน์ทางยา กินเกินขนาดระวังผลเสียต่อร่างกาย

กรมการแพทย์โดยสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.)  ให้ความรู้ “กระท่อม” ถึงแม้ออกฤทธิ์ที่มีประโยชน์ทางยา แต่หากใช้ในปริมาณที่มากและติดต่อกันเป็นเวลานาน ย่อมส่งผลเสียต่อสุขภาพ พร้อมแนะการนำกระท่อมไปผสมกับสิ่งเสพติดชนิดอื่น รวมถึงจำหน่ายอาหารที่มีส่วนผสมของใบกระท่อมแก่สตรีมีครรภ์และผู้มีอายุต่ำกว่า 18 ปี มีความผิดตามกฎหมาย

นายแพทย์มานัส โพธาภรณ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า แต่เดิมประเทศไทยจัดให้กระท่อมเป็นยาเสพติดประเภทที่ 5 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 แต่ในปัจจุบันได้มีการพิจารณาผ่านรัฐสภาและมีมติปลดล็อกกระท่อมออกจากบัญชียาเสพติด โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2564 ที่ผ่านมา ทำให้ประชาชนทั่วไปสามารถปลูก หรือซื้อ ขาย ใบสด ที่ไม่ได้ปรุงหรือทำเป็นอาหารได้โดยไม่ผิดกฎหมาย

ทำไมคนถึงรับประทาน ใบกระท่อม

กระท่อมเป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ปานกลางเป็นสมุนไพรท้องถิ่นที่ชาวบ้านใช้กันมาอย่างยาวนาน โดยใช้ใบสดหรือใบแห้งนำมาเคี้ยว สูบ หรือชงเป็นน้ำชา เพื่อให้มีแรงทำงานได้นานขึ้น รู้สึกกระปรี้กระเปร่า ไม่อยากอาหาร ทนแดดมากขึ้น แต่จะเกิดอาการหนาวสั่นเวลาครึ้มฟ้าครึ้มฝน

ใบกระท่อม มีกี่สายพันธุ์

พืชกระท่อมมีอยู่ 3 สายพันธุ์ ที่พบในประเทศไทย ได้แก่

  1. กระท่อมก้านเขียว – นิยมใช้เพื่อบริโภคหรือเป็นสมุนไพรรักษาโรคในครัวเรือน
  2. กระท่อมก้านแดง – เป็นสายพันธุ์ที่ตลาดอุตสาหกรรมแปรรูปมีความต้องการสูง เหมาะสำหรับการปลูกเชิงพาณิชย์
  3. กระท่อมก้านแดงหางกั้ง – มีใบใหญ่และโตไว นิยมปลูกเพื่อส่งโรงงานแปรรูปในอุตสาหกรรมต่างๆ

สรรพคุณและโทษของใบกระท่อม

สรรพคุณ

  • ใบกระท่อมมีฤทธิ์ทางยา ใช้เพื่อบรรเทาอาการปวด แก้ท้องร่วง และช่วยให้มีแรงทำงานท่ามกลางแสงแดดได้
  • ช่วยลดอาการเหนื่อยล้า บางพื้นที่เชื่อว่าสามารถบรรเทาโรคเบาหวานได้
  • ใช้เป็นยาทดแทนฝิ่นในการบำบัดการติดฝิ่นและมอร์ฟีน เพราะไม่มีการกดระบบทางเดินหายใจหรืออาการคลื่นไส้แบบมอร์ฟีน
  • มีสารแอลคาลอยด์ “Mitragynine” ที่ช่วยระงับอาการปวดคล้ายมอร์ฟีน แต่มีฤทธิ์อ่อนกว่า

โทษ

  • การใช้ใบกระท่อมในปริมาณมากหรือใช้เป็นเวลานาน อาจทำให้เกิดอาการเสพติด เช่น เบื่ออาหาร ท้องผูก นอนไม่หลับ ผิวคล้ำ และอาจเกิดปัญหาในระบบลำไส้ (ถุงท่อม)
  • ผู้เสพติดกระท่อมมากๆ จะมีอาการขาดยา เช่น อ่อนเพลีย ปวดเมื่อย และซึมเศร้า
  • มีโทษต่อร่างกายและจิตใจ หากใช้อย่างไม่เหมาะสม โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่นที่นำไปผสมกับสารอื่น เช่น ยาแก้ไอ ซึ่งส่งผลเสียต่อสุขภาพมาก

อาการข้างเคียงจากการกินใบกระท่อม

  1. ในคนที่รับประทานใบกระท่อมเป็นครั้งแรก อาจจะมีอาการมึนงง คอแห้ง คลื่นไส้อาเจียน
  2. หากใช้ในปริมาณมากอาจจะทำให้เกิดอาการเมา เกิดความผิดปกติของกล้ามเนื้อทรงตัว ระบบประสาทรับสัมผัสตอบสนองต่อสิ่งต่างๆ ลดลง เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจ
  3. ในรายที่ใช้มากๆ หรือใช้มาเป็นระยะเวลานาน มักจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของเม็ดสีขึ้นที่บริเวณผิวหนัง ทำให้มีผิวสีคล้ำและเข้มขึ้น
  4. การรับประทานใบกระท่อมไม่ควรรับประทานเกินวันละ 5 ใบโดยรูดก้านใบออกแล้วเคี้ยวเหมือนการเคี้ยวหมาก
  5. เมื่อรับประทานใบกระท่อม บางรายอาจทำให้เกิดพิษเฉียบพลัน โดยทำให้ใจสั่น คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ชัก ระดับความรู้สึกตัวเปลี่ยนแปลง ประสาทหลอน สับสน กระสับกระส่าย ปวดศีรษะ เหงื่อออก ความดันโลหิตสูง
  6. อาจพบอาการซึมมากในผู้ที่รับประทานใบกระท่อมปริมาณมาก (มากกว่า 15 กรัมของใบกระท่อม หรือประมาณใบ 10 ใบ)
  7. ไม่ควรกลืนกากเพราะกากใบเป็นเส้นใยที่ย่อยยาก เมื่อรับประทานบ่อยๆ อาจทำให้เกิด “ถุงท่อม” ซึ่งมีลักษณะเป็นก้อนแข็งอยู่ในท้องและทำให้ปวดท้องได้ 
  8. เมื่อหยุดใช้ใบกระท่อมจะทำให้เกิดอาการอยากรุนแรง (Craving) และมีอาการถอน เช่น ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ นอนไม่หลับ หงุดหงิด อ่อนเพลีย ท้องเสีย น้ำมูกไหล แขนขากระตุก ถึงแม้ว่าในปัจจุบันกระท่อมจะไม่ใช่ยาเสพติด และมีการออกฤทธิ์ที่มีประโยชน์ทางยา แต่หากรับประทานในปริมาณที่มากเกินไปและติดต่อกันเป็นเวลานาน ก็จะส่งผลเสียต่อสุขภาพได้เช่นกัน 

ทั้งนี้ยังมีข้อควรระมัดระวังทางกฎหมายที่ควรคำนึงถึง โดยเฉพาะการนำใบกระท่อมไปใช้ผสมกับสิ่งเสพติดอื่น เช่น “สี่คูณร้อย” การขายน้ำต้มกระท่อมในหอพัก สถานศึกษา รวมถึงจำหน่ายอาหารที่มีส่วนผสมของใบกระท่อมแก่สตรีมีครรภ์และผู้มีอายุต่ำกว่า 18 ปี มีความผิดตามกฎหมาย นอกจากนี้น้ำต้มกระท่อม ชากระท่อม ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพรต้องขออนุญาตผลิตตามพรบ. ผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ.2562

  • ประโยชน์ของใบกระท่อม และวิธีกินที่ถูกต้อง
  • 6 อันตราย หากกิน “ใบกระท่อม” เกินขนาด
  • ใช้ “พืชกระท่อม” ในการรักษาโรคอย่างไรให้ถูกวิธี

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ