การแพร่ระบาดของโรคดควิด-19 ระลอกใหม่ในประเทศ สร้างความวิตกกังวลและความหวาดกลัวให้กับคนในประเทศอีกครั้ง และดูเหมือนจะมากขึ้นมากกว่าครั้งก่อน ๆ เพราะแพทย์ยืนยันแล้วว่า เชื้อไวรัสโคโรนาที่กำลังระบาดหนักในขณะนี้ คือ “เชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่จากอังกฤษ” ซึ่งสามารถแพร่กระจายได้เร็วกว่าเชื้อไวรัสเดิมกว่า 1.7 เท่า โดยนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า เชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ดังกล่าว มีสไปก์โปรตีนที่มีชีวิตนานกว่าเชื้อสายพันธุ์เดิม ส่งผลให้มันสามารถเข้าไปในเซลล์ร่างกายของมนุษย์ และทำให้ติดโรคได้มากกว่าเดิม
- หมอมนูญ แนะไทยใช้แผนฉีดวัคซีนโควิดแบบอังกฤษ ให้เข็มแรกทุกคน-ชะลอเข็มสองไปก่อน
- “พาสปอร์ตวัคซีน” วันนี้ที่รอคอยของนักเดินทาง
- เทียบคุณสมบัติ “วัคซีนโควิด-19” ตัวไหนปัง เช็กเลย!
แต่ในขณะที่สังคมให้ความสนใจกับตัวเลขผู้ติดเชื้อในแต่ละวัน สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือ “การป้องกันตัวเอง” เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด-19 และนี่คือ 8 วิธีดูแลตัวเอง ในช่วงเวลาที่โรคโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ กำลังระบาดหนักในประเทศไทยอีกครั้ง
ใช้กฎการป้องกันตัว ABC
Jason Tetro นักจุลชีววิทยา จากบทความของเว็บไซต์ Healthline ชี้ว่า มาตรการป้องกันตัวเองที่ดีที่สุด คือการปฏิบัติตัวตามกฎ ABC หรือแนวทางการป้องกันโรคหัดก่อนจะเกิดการพัฒนาวัคซีน ซึ่งการใช้กฎการป้องกันตัวดังกล่าวจะช่วยลดการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ก่อนที่ประชาชนจะได้รับการฉีดวัคซีน
กฎการป้องกันตัว ABC มีดังนี้
A = Airway (ทางเดินหายใจ) ป้องกันตัวเองด้วยการใช้อุปกรณ์ป้องกันทางเดินหายใจ
B = Bubble (ฟองอากาศ) พบปะกับคนที่ไว้ใจเท่านั้น
C = Contact (การติดตาม) หากคนในฟองอากาศเกิดติดเชื้อ การติดตามผู้ติดเชื้อจะสามารถทำได้ง่าย โดย Tetro แนะนำให้ใช้แอปพลิเคชันติดตาม
AFP
สร้าง “ฟองอากาศทางสังคม”
ยิ่งเราเราพบเจอและใช้เวลาร่วมกับคนมากเท่าไรในพื้นที่ปิด ก็จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 และยังทำให้การติดตามผู้ติดเชื้อทำได้ยากขึ้นอีกด้วย นั่นเป็นเหตุผลที่แพทย์ต่างแนะนำให้สร้าง “ฟองอากาศทางสังคม” เพื่อจำกัดจำนวนคนที่จะพบปะสังสรรค์ด้วยในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19
ปฏิเสธไม่ได้ว่ามนุษย์เป็นสัตว์สังคม การแยกตัวไม่พบใครจึงเป็นเรื่องยาก ดังนั้น การสร้างฟองอากาศทางสังคมโดยมีแต่คนที่ไว้ใจได้ก็จะเป็นอีกวิธีการที่จะช่วยให้ผ่านพ้นวิกฤตโควิด-19 ไปได้ ทั้งนี้ Tetro แนะนำว่า จำนวนคนในฟองอากาศทางสังคมไม่ควรมากกว่า 10 คน เพราะขนาดที่ใหญ่เกินไปจะทำให้จัดการได้ยาก
จำกัดการซื้อของที่ร้าน
แม้การเว้นระยะห่างทางสังคมจะช่วยลดโอกาสการติดเชื้อโควิด-19 แต่กับเชื้อสายพันธุ์ใหม่ที่กำลังแพร่ระบาดก็มีแนวโน้มว่าจะทำให้เกิดโรคได้ง่ายขึ้น ดังนั้น กิจกรรมที่รู้กันดีว่ามีความเสี่ยงจะติดโรค เช่น การไปกินข้าวในร้านอาหาร การไปดื่มที่บาร์ หรือสังสรรค์กับเพื่อน ๆ ในบ้าน จะยิ่งมีความเสี่ยงมากขึ้นกว่าเดิม ขณะที่การไปซื้อของในร้านค้าที่คนแน่นก็จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงในการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส
“ทุกนาทีที่อยู่ในร้านค้าในร่มจะเพิ่มความเสี่ยงในการติดโรค ดังนั้น ใช้ตัวเลือกอื่น ๆ ให้มากขึ้น เช่น สั่งของแล้วค่อยไปรับ หรือบริการส่งของถึงบ้าน เพื่อลดความเสี่ยงให้กับตัวเอง” นายแพทย์ Scott Braunstein ผู้อำนวยการ Sollis Health กล่าวในบทความของเว็บไซต์ Healthline
บูชาอย่างชาญฉลาด
จากการสำรวจระบาดวิทยาของ CivicMeter ศูนย์สื่อสารมวลชนไม่แสวงหากำไร ระบุว่า ศาสนสถานติดอันดับสถานที่เสี่ยงที่จะเกิดการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส เช่นเดียวกับบาร์ เรือนจำ บ้านพักคนชรา และร้านอาหารในร่ม
“เราเห็นฝูงชนที่มารวมตัวกันเพื่อร้องเพลงและกิจกรรมใช้เสียงอื่น ๆ ซึ่งสามารถนำไปสู่การแพร่ระบาดใหญ่ได้” Tetro ชี้ “การสวดมนต์ที่บ้านอาจจะแตกต่างจากการสวดมนต์ร่วมกับคนอื่น แต่จะช่วยให่ปลอดภัยได้มากกว่า”
AFP
สวมหน้ากากอนามัย
ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐ (Centers for Disease Control and Prevention หรือ CDC) รายงานผลการทดลองและข้อมูลทางระบาดวิทยา ชี้ว่า การสวมหน้ากากอนามัยในที่ชุมชนสามารถลดการแพร่กระจายของโรคโควิด-19 ได้ อย่างไรก็ตาม “หน้ากากอนามัยผ้า” อาจไม่ช่วยป้องกันเชื้อไวรัสได้ดีที่สุด แต่ความสามารถของหน้ากากอนามัยในการป้องกันจะขึ้นอยู่กับชนิดของเนื้อผ้า จำนวนชั้นของเนื้อผ้า และความพอดีกับรูปหน้าของหน้ากากอนามัย
ถึงแม้ว่าหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ หรือหน้ากาก N95 จะยังเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุด แต่หากไม่สามารถเข้าถึงได้ การสวมหน้ากากอนามัยสองชั้นก็จะช่วยป้องกันได้มากกว่าการสวมเพียงชั้นเดียว
ล้างมือด้วยน้ำสะอาดหรือเจลแอลกอฮอล์
การล้างมือด้วยสบู่เป็นเวลา 20 วินาที หรือใช้เจลล้างมือที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์อย่างน้อย 60 เปอร์เซ็นต์ ยังเป็นวิธีการป้องกันตัวเองจากโรคโควิด-19 ที่ได้ผลดีเช่นเดิม
จัดพื้นที่ทำงาน
หากสามารถทำงานจากบ้าน (Work From Home) ได้ ก็จะช่วยลดการเคลื่อนย้ายและลดการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ได้ แต่หากต้องเข้าไปในทำงานในออฟฟิศ การสร้างระยะห่างทางสังคมและลดโอกาสการพบพูดคุยต่อหน้าก็เป็นอีกหนึ่งวิธีการในการลดความเสี่ยงติดเชื้อ
อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถทำงานจากบ้าน หรือสร้างระยะห่างทางสังคมขณะทำงานได้ โดยเฉพาะกับกลุ่มที่ทำงานบริการ เช่น พนักงานขับรถเมล์ พยาบาล หรือพนักงานโรงงาน ดังนั้น บริษัทต่าง ๆ จึงควรมีนโยบายช่วยเหลือกลุ่มผู้ทำงานเหล่านี้ด้วยเช่นกัน
AFP
ฉีดวัคซีน
แม้การสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่างทางสังคม และการล้างมือจะช่วยป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ได้ แต่วิธีที่ดีที่สุดคงหนีไม่พ้น “การฉีดวัคซีน” แน่นอนว่ายังไม่มีวัคซีนชนิดใดที่ช่วยป้องกันโรคโควิด-19 ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่วัคซีนจะช่วยลดความรุนแรงของโรคลงได้ โดยตอนนี้ทั่วโลกได้เริ่มฉีดวัคซีนให้กับประชาชนในประเทศแล้ว ขณะที่ประเทศไทยได้ฉีดวัคซีนให้กับประชาชนไปแล้วทั้งหมด 618,583 โดส