การ Work From Home ส่งผลให้กิจกรรมในชีวิตประจำวันต้องอยู่กับที่หรือนั่งทำงานเป็นเวลานาน ซึ่งอาจส่งผลทำให้เกิดอาการเส้นเลือดอุดตันจากลิ่มเลือด (Deep Vein Thrombosis – DVT) ได้ รวมถึงการนั่งเครื่องบินหรือเดินทางเป็นเวลานาน และกิจกรรมที่ร่างกายไม่ได้เคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นการขยับร่างกายเรื่อยๆ จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ควรละเลย เพราะช่วยให้เลือดไหลเวียน ลดอาการปวดเมื่อยของร่างกาย
สาเหตุของภาวะหลอดเลือดดำอุดตัน
นพ. วสุพงศ์ ศรีเดิมมา ศัลยแพทย์และแพทย์เฉพาะทางด้านศัลยศาสตร์หลอดเลือด ศูนย์หลอดเลือด โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวว่า ภาวะหลอดเลือดดำอุดตัน (Deep Vein Thrombosis หรือ DVT) หรือภาวะลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำ เป็นภาวะที่เลือดไม่สามารถไหลเวียนได้ตามปกติ เกิดจากลิ่มเลือดอุดตันภายในหลอดเลือดดำส่วนลึกที่ขา ทำให้มีอาการปวดขามาก ขาบวมแข็งข้างเดียว มักเป็นบริเวณน่อง ร้อนที่ขา กดเจ็บตามแนวหลอดเลือดดำที่อุดตัน ผิวหนังสีแดงหรือสีผิวที่ขาเปลี่ยนแปลง อาจสัมพันธ์กับการนั่งเครื่องบินหรือนั่งรถเป็นเวลานาน นั่งนิ่งๆ ไม่ขยับขานานเกิน 4-8 ชั่วโมง
ที่อันตรายที่สุดคือ ลิ่มเลือดอาจวิ่งขึ้นไปยังหัวใจแล้วอุดตันเส้นเลือดที่ปอด ถ้าลิ่มเลือดใหญ่มากอาจส่งผลให้เลือดไม่สามารถไปเลี้ยงที่ปอดและเสียชีวิตได้ในที่สุด
8 ท่าออกกำลังป้องกัน “หลอดเลือดดำอุดตัน”
การออกกำลังกายและบริหารกล้ามเนื้อจึงเป็นสิ่งที่ป้องกันการเกิดภาวะหลอดเลือดดำอุดตันได้ดีที่สุด และ 8 ท่าออกกำลังกายห่างไกล DVT เป็นท่าที่สามารถทำเองที่บ้านได้ง่ายๆ ด้วยตัวเอง
ท่าที่ 1 หมุนข้อเท้า ยกเท้าทั้งสองข้างขึ้นจากพื้นเล็กน้อย หมุนข้อเท้าเป็นวงกลมให้ปลายเท้าหมุนเข้าหากัน ทำอย่างช้าๆ 10 ครั้ง จากนั้นหมุนข้อเท้าเป็นวงกลมให้ปลายเท้าหมุนออกจากกัน ทำอย่างช้าๆ 10 ครั้ง
ท่าที่ 2 เขย่งเท้า วางเท้าทั้งสองข้างไว้กับพื้น กระดกปลายเท้าขึ้นโดยให้ส้นเท้าอยู่กับพื้น ค้างไว้ 5 วินาที จากนั้นกระดกปลายเท้าลงนิ้วเท้าให้แตะพื้น ยกส้นเท้าสูงขึ้น ค้างไว้ 5 วินาที ทำแบบเดียวกัน 10 ครั้ง
ท่าที่ 3 ยกเข่า วางเท้าทั้งสองข้างไว้กับพื้น ยกเข่าข้างหนึ่งขึ้นเล็กน้อย ค้างไว้ 5 วินาที จากนั้นสลับไปยกเข่าอีกข้างหนึ่ง ทำข้างละ 10 ครั้ง
ท่าที่ 4 หมุนคอ เอียงคอไปด้านซ้าย หมุนคอทวนเข็มนาฬิกาช้าๆ 10 ครั้ง จากนั้นสลับหมุนคอตามเข็มนาฬิกาช้าๆ อีก 10 ครั้ง
ท่าที่ 5 หมุนไหล่ หมุนไหล่ทั้งสองข้างไปด้านหน้า 10 ครั้ง หมุนไหล่ทั้งสองข้างไปด้านหลัง 10 ครั้ง
ท่าที่ 6 สะบัดมือ สะบัดมือและนิ้วทั้งสองข้าง ข้างละ 10 – 20 วินาที
ท่าที่ 7 เหยียดแขน ยกมือขึ้นมาประสานนิ้ว เหยียดแขน เปิดฝ่ามือไปด้านหน้า ค้างไว้ 5 วินาที เหยียดแขนเปิดฝ่ามือไปด้านบน ค้างไว้ 5 วินาที ทำแบบนี้ซ้ำ 10 ครั้ง
ท่าที่ 8 ลุกเดิน ไม่ควรอยู่กับที่นานเกินไป ควรหาลุกขยับตัว ยืดเส้น เดินไปหยิบของ เข้าห้องน้ำ หรือดื่มน้ำเรื่อยๆ
ภาวะหลอดเลือดดำอุดตันเป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้ามเพราะมีความเสี่ยงและอันตรายถึงชีวิตได้ หากไม่มีการป้องกันรักษาที่ถูกวิธี ดังนั้นควรขยับตัวทำกิจกรรมต่างๆ และออกกำลังอย่างเป็นประจำ เพื่อให้ห่างไกลโรคจากหลอดเลือดดำและมีสุขภาพที่แข็งแรง