7 อาการผิดปกติหลังเด็ก “ล้มหัวฟาดพื้น” ควรให้หมอตรวจด่วน

Home » 7 อาการผิดปกติหลังเด็ก “ล้มหัวฟาดพื้น” ควรให้หมอตรวจด่วน
7 อาการผิดปกติหลังเด็ก “ล้มหัวฟาดพื้น” ควรให้หมอตรวจด่วน

ลูกล้มหัวฟาดพื้น เด็กเกิดอุบัติเหตุศีรษะกระแทก อาจเกิดขึ้นได้ทั้งในเวลาที่เด็กๆ อยู่ในสายตาผู้ใหญ่และเวลาที่ไม่มีใครเห็น ทําให้เป็นการยากที่ผู้ปกครองจะบอกความรุนแรงของการบาดเจ็บได้ โดยส่วนใหญ่การบาดเจ็บมักไม่รุนแรง อาจพบแค่ รอยเขียวช้ำเล็กๆ น้อยๆ แต่บางครั้งการบาดเจ็บก็รุนแรงอาจถึงแก่ชีวิตได้ ดังนั้นหากเด็กๆ มีอุบัติเหตุที่ศีรษะผู้ปกครองควรพามาพบแพทย์

เมื่อไรที่ควรพาเด็กไปโรงพยาบาลทันที

  • เด็กประสบอุบัติเหตุค่อนข้างรุนแรง เช่น ตกจากที่สูง หรือประสบอุบัติเหตุจราจร
  • หลังเกิดเหตุเด็กสลบ (หมดสติ) ปลุกไม่ตื่น หรือมีอาการชัก
  • เด็กมีอาการป่วยมากหลังจากประสบเหตุ เช่น ซึมมาก ลูกอาเจียนมากกว่า 5 ครั้ง หรือมีอาการทางระบบประสาท เช่น ตามัว พูดไม่ชัด หน้าเบี้ยว หรือแขนขาอ่อนแรง
  • หากเด็กมีอาการรุนแรง หรือแย่ลงอย่างรวดเร็ว โทร 1669 หรือ ไปโรงพยาบาลใกล้บ้านทันที

อาการบาดเจ็บที่ศีรษะ “Concussion Syndrome” เมื่อศีรษะกระแทก คืออะไร

พญ. นันทาศิริ วิทยนคร กุมารศัลยแพทย์โรคสมองและระบบประสาท รพ.สมิติเวช ศรีนครินทร์ ระบุว่า Concussion Syndrome คือกลุ่มอาการของสมองที่ถูกกระทบกระเทือน ซึ่งทําให้เกิดการทํางานผิดปกติ โดยทั่วไปอาการเหล่านี้จะเป็นแค่ชั่วคราว และส่วนใหญ่จะหายเป็นปกติภายใน 6 สัปดาห์ แต่ถ้ามีอาการ ยาวนานกว่านั้นจะต้องกลับมาพบแพทย์

ลูกล้มหัวฟาดพื้น ควรสังเกตอาการ Concussion Syndrome เพราะสมองอาจได้รับการกระทบกระเทือน

กลุ่มอาการนี้ประกอบด้วย

  1. อารมณ์เปลี่ยนแปลง สับสน หงุดหงิดง่าย งอแง หรือเรียกร้องมากผิดปกติ
  2. ไม่เป็นตัวของตัวเอง ไม่สามารถทนต่อสิ่งเร้าต่างๆได้ เช่น ที่ที่มีคนพลุกพล่าน หรือเสียงดัง
  3. นอนหลับไม่สนิท มีผวาตื่น หรือฝันร้าย
  4. มีปัญหาเกี่ยวกับความจํา การเรียน คิดช้าทําช้าและไม่มีสมาธิ
  5. ปวดศีรษะไม่รุนแรง นอนพักหรือกินยาพาราเซตามอลก็หายได้เอง
  6. การมองเห็นไม่เป็นปกติ พูดไม่ชัดหรือติดขัดในการคิดคําพูด
  7. อาเจียนเล็กน้อย เช่น 1-2 ครั้งต่อวัน มักเป็นเวลาเหนื่อย หรือปวดศีรษะ

ผู้ป่วยเด็กได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะ อาจมีอาการ Cognitive Fatigue ตามมา

Cognitive Fatigue คืออาการที่เกิดตามหลังการบาดเจ็บทางศีรษะ เกิดจากสมองยังไม่กลับสู่ภาวะปกติ ทําให้ต้องทํางานหนักมาก เพื่อที่จะสามารถทําหน้าที่ได้ตามปกติ ทําให้เกิดความเหนื่อยล้า อย่างรวดเร็วและไม่สามารถใช้ชีวิตประจําวันได้อย่างที่เคยทํา หรือมีปัญหากับการทํากิจกรรมหลายอย่าง เช่น การเรียนหนังสือ การเล่นเกมคอมพิวเตอร์ หรือดูทีวี การพบปะพูดคุยเป็นเวลานาน ปัญหานี้ถ้าได้รับการพักผ่อนที่เพียงพอก็สามารถหายเองได้ มีส่วนน้อย ที่ต้องกลับมารับการรักษาในภายหลัง

อาการที่ควรพาเด็กกลับมาโรงพยาบาลอีกครั้ง หลังเฝ้าระวังอาการ 72 ชั่วโมง

หากเด็กๆ มาพบแพทย์และได้รับอนุญาตให้กลับบ้าน ผู้ปกครองยังคงต้องสังเกตอาการของลูกต่อที่บ้านอย่างใกล้ชิด ตามระยะเวลาที่แพทย์แนะนํา ซึ่งส่วนใหญ่จะไม่เกิน 72 ชม. หลังประสบเหตุ แต่หากเด็กๆ แย่ลง หรือมีอาการดังต่อไปนี้ ควรพากลับมาโรงพยาบาลทันที

  • ปวดศีรษะมากขึ้นมาก
  • ซึมลง ปลุกตื่นยาก
  • อาเจียนมากขึ้น หรืออาเจียนติดกันมากกว่า 5 ครั้ง
  • มีอาการชัก
  • ตามัว หรือมองเห็นภาพซ้อน
  • เดินเซ แขนขาอ่อนแรง เดินชนข้าวของหรือซุ่มซ่ามผิดปกติ
  • อารมณ์เปลี่ยนแปลง ก้าวร้าว หรือเศร้าสับสน ไม่เป็นตัวของตัวเอง
  • ไม่สามารถทนต่อสิ่งเร้าต่างๆ ได้ เช่น ที่มีคนพลุกพล่าน หรือเสียงดัง
  • มีปัญหาเกี่ยวกับความจํา การเรียน และไม่มีสมาธิ
  • มีอาการของ Cognitive fatigue ที่รุนแรงจนไม่สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ โดยอาการ Cognitive fatigue คืออาการที่เกิดตามหลังการบาดเจ็บทางศีรษะ เกิดจากสมองยังไม่กลับสู่ภาวะปกติ

เมื่อไหร่ที่ควรให้เด็กๆ กลับไปเรียนหรือเล่นกีฬา

การรักษาที่ดีที่สุดของการบาดเจ็บที่ศีรษะ คือการพักผ่อนให้เพียงพอ แนะนําให้

  • งดไปเรียนจนกว่าอาการจะดีขึ้น แพทย์มักแนะนําให้พักไม่เกิน 1-2 สัปดาห์ การกลับไปเรียนในช่วงแรกแนะนําให้ไปแค่ครึ่งวันก่อน ขอให้คุณครูสังเกตอาการ หากเด็กไม่ไหวแนะนําให้พักที่ห้องพยาบาล หรือรับกลับมาพักที่บ้าน หากไม่มีปัญหาก็สามารถกลับไปเรียน เต็มวันได้ แต่ให้งดคาบพละหรือกิจกรรมกลางแจ้งไปจนกว่าจะครบ 6 สัปดาห์
  • งดเล่นกีฬาที่มีการปะทะหรือทํากิจกรรมที่มีความเสี่ยงที่จะบาดเจ็บซ้ำ เช่น ปีนป่ายที่สูง การเล่นแทรมโพลีน ขี่จักรยาน หรือจักรยานยนต์ หรือการทิ้งเด็กไว้ลําพังบนที่สูง เป็นต้น โดยงดเป็นเวลาอย่างน้อย 6 สัปดาห์ หากเด็กสบายดีหรือกลับเป็นปกติได้เร็วอาจให้ ออกกําลังกายเบาๆที่ไม่มีการปะทะ เช่น วิ่งเหยาะๆ เดินเล่นในสวน เต้นรํา ได้ตั้งแต่ 4 สัปดาห์หลังการบาดเจ็บ
  • การทํากิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับความเร็ว เช่น ขี่จักรยาน ซ้อนมอเตอร์ไซด์ เซิร์ฟสเก็ต ควรใส่หมวกกันน็อค หรือเครื่องป้องกัน ที่เหมาะสมทุกครั้ง
  • การใช้หรือเล่นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ควรจํากัดเวลาไม่เกิน 30 นาทีต่อครั้ง และไม่เกิน 2 ชม.ต่อวัน เพื่อช่วยพักสมองประมาณ 1-2 สัปดาห์หลังจากอุบัติเหตุ
  • กิจกรรมที่แนะนําช่วงพักฟื้นคือ อ่านหนังสือ ฟังเพลงบรรเลงเบาๆ และนอนหลับให้เพียงพอ
  • หากเด็กมีนัดให้กลับมาพบแพทย์ ถึงแม้ว่าเด็กหายดีแล้ว ก็ควรมาตามนัด

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ