“พ่อแม่อาจไม่คาดหวังอะไรกับเรามาก แต่ป้าข้างบ้านคาดหวังกับเราเสมอ” ถือเป็นประโยคฮิตที่ใครหลายคนน่าจะเคยได้ยินกัน และเชื่อว่าหลายคนเองก็คงมี ป้าข้างบ้านคนนั้น อยู่ในใจแน่ ๆ ป้าที่คอยแอบสอดแนมชีวิตเราตลอด ป้าที่รู้ทุกเรื่องในบ้านของเราดีเสียยิ่งกว่าเราที่เป็นเจ้าของบ้าน ดีไม่ดีรู้ด้วยซ้ำว่าวันนี้เราก้าวเท้าซ้ายหรือเท้าขวาออกจากบ้าน ซึ่งก็อาจทำให้เรารู้สึกรำคาญใจ ว่า ทำไมป้าถึงต้องใส่ใจกับชีวิตเราขนาดนี้ด้วย
วันนี้ Sanook มีคำตอบให้ทุกคนแล้วว่า จริงๆ แล้ว ทำไมป้าข้างบ้านถึงชอบยุ่งเรื่องของเรา โดยเป็นคำอธิบายจากนักจิตวิทยาเกี่ยวกับพฤติกรรมการชอบยุ่งเรื่องคนอื่นของมนุษย์
ความอยากรู้อยากเห็นเป็นธรรมชาติของมนุษย์
นักจิตวิทยาได้อธิบายว่าโดยธรรมชาติ มนุษย์มักมีความอยากรู้อยากเห็นอยู่แล้ว เพราะความอยากรู้อยากเห็นเป็นตัวกุญแจสำคัญที่นำไปสู่การเรียนรู้ อย่างไรก็ตามความอยากรู้อยากเห็นนี้จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ซึ่งการที่มนุษย์ป้าข้างบ้านจะมีความอยากยุ่งเรื่องของคนอื่นมากกว่าปกติ อาจเกิดจากปัจจัยดังต่อไปนี้
1.ป้ามีความรู้สึกไม่มั่นคง ไม่ปลอดภัย (Insecurity)
คนที่มีความรู้สึกไม่มั่นคงหรือไม่มั่นใจในตัวเอง มักจะมองหาความสบายใจผ่านการสอดส่องชีวิตคนอื่น โดยคนประเภทนี้มักเก็บข้อมูลเกี่ยวกับชีวิตคนอื่น และนำไปเปรียบเทียบชีวิตของตัวเอง เพื่อสร้างความมั่นใจ และให้ตัวเองรู้สึกสบายใจมากยิ่งขึ้น
2.ป้าชอบเม้าท์ (Gossip)
การนินทาเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้มนุษย์เราชอบยุ่งเรื่องของคนอื่น เนื่องจากมนุษย์บางคนมีความชื่นชอบเรื่องราวดราม่าและรู้สึกตื่นเต้นกับความลับของคนอื่น โดยคนประเภทนี้มักชอบที่จะได้รับความสนใจ จึงมักจะแอบฟังเรื่องของคนอื่น เพื่อนำไปเล่าต่อ
3.ป้าแค่สนใจในตัวเรา (Genuine Interest)
ความอยากรู้อยากเห็นของป้าข้างบ้านอาจไม่ได้มาจากปัจจัยด้านลบเพียงอย่างเดียว แต่จริงๆ แล้วป้าอาจสนใจในตัวเราจริงๆ โดยคนประเภทนี้พื้นฐานมีนิสัยอยากรู้อยากเห็น และชอบเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อยู่แล้ว เขาจึงเลือกใช้เรื่องของเราในการศึกษาและค้นหามุมมองและประสบการณ์ใหม่ๆ
ตัวอย่างเช่น เมื่อวันเสาร์เราเพิ่งไปเที่ยวญี่ปุ่น ป้าข้างบ้านก็อาจตั้งคำถามเซาะแซะว่า “ญี่ปุ่นเป็นอย่างไร ไปเที่ยวที่ไหนมาบ้าง” ซึ่งป้าอาจถามเพราะตนไม่เคยไปเลยเกิดความสงสัยถึงสภาพแวดล้อมบ้านเมืองก็ได้
4.ป้าไม่รู้ขอบเขต (Lack of boundaries)
สำหรับบางคนก็ไม่เข้าใจและไม่ทราบจริง ๆ ว่าเรื่องที่ถามไปมันเป็นการยุ่งเรื่องของเราและรุกล้ำพื้นที่ส่วนตัวของเรามากเกินไป
5.ป้าชอบความรู้สึกมีอำนาจ (Control and Power)
บางคนชอบความรู้สึกที่ตัวเองมีอำนาจ หรือเหนือกว่าคนอื่น ตัวอย่างที่เข้าใจง่าย ๆ เช่น ประโยค “ลูกป้าเรียนหมอ แล้วเราล่ะเรียนอะไร” ในประโยคนี้ป้าเองก็มีความมั่นใจว่าอาชีพของลูกตัวเองดีที่สุด จึงใช้ประโยคนี้มากดอีกฝ่าย
6.ป้ากลัวจะตกเทรนด์ (Fear of Missing Out)
ปัจจุบันโลกของเราเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว เนื่องจากมีอินเทอร์เน็ตเข้ามาด้วย จึงทำให้คนมักจะชินกับการที่ต้องรู้เรื่องนู้นเรื่องนี้ จึงมักถามเรื่องต่างๆ เพื่อให้ทันตามเทรนด์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว
7.ป้ามีวัฒนธรรมหรืออยู่ในสังคมที่แตกต่างจากเรา
วัฒนธรรมและสังคมที่เติบโตมาเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่หล่อหลอมให้นิสัยของมนุษย์ต่างกันออกไป ซึ่งในกรณีนี้ป้าอาจเกิดและเติบโตมาในสังคมที่การยุ่งหรืออยากรู้เรื่องของคนอื่นเป็นสิ่งสำคัญก็ได้
สรุปได้ว่าการอยากรู้อยากเห็นเรื่องของคนอื่น เป็นธรรมชาติของมนุษย์ อย่างไรก็ตามจะมีมากหรือมีน้อยขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ ของบุคคลนั้นๆ