7 สัญญาณอันตราย "แอลกอฮอล์เป็นพิษ" สายดื่มควรระวัง

Home » 7 สัญญาณอันตราย "แอลกอฮอล์เป็นพิษ" สายดื่มควรระวัง
7 สัญญาณอันตราย "แอลกอฮอล์เป็นพิษ" สายดื่มควรระวัง

ฤทธิ์ของแอลกอฮอล์ ในแต่ละคนอาจมีอาการแตกต่างกันออกไป บางคนอาจจะดื่มแล้วมีอาการมึนเมา บางคนดื่มแล้วคึกคัก หรือบางคนดื่มแล้วอาจจะง่วงนอน แต่หากดื่มแอลกอฮอล์แล้วมีอาการที่ผิดปกติ อาจเสี่ยงแอลกอฮอล์เป็นพิษ

แอลกอฮอล์เป็นพิษ คืออะไร

อ. พญ.วิจิตรา เลี้ยงสว่างวงศ์ ภาควิชาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณที่มากและเร็วเกินไป อาจทำให้เกิดภาวะ แอลกอฮอล์เป็นพิษ ซึ่งมีความรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ เพราะตับซึ่งทำหน้าที่ขับแอลกอฮอล์ออกจากกระแสเลือด ไม่สามารถขับแอลกอฮอล์ที่อยู่ในร่างกายออกได้ทัน

อาการแอลกอฮอล์เป็นพิษ ไม่สามารถระบุระยะเวลาในการแสดงอาการที่ชัดเจนได้ และหากดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากกว่า 12 ดื่มมาตรฐานในระยะเวลาอันสั้น หรือมีระดับแอลกอฮอล์ในเลือด 400 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ขึ้นไป จะมีโอกาสเกิดภาวะแอลกอฮอล์เป็นพิษสูงมาก

นอกจากนี้ยังขึ้นอยู่กับความสามารถในการดูดซึมสารของร่างกายแต่ละบุคคล และชนิดของเครื่องดื่มนั้นๆ ว่ามีดีกรีหรือปริมาณแอลกอฮอล์เข้มข้นมากแค่ไหน เช่น

  • เบียร์ มีความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ประมาณ 5% จะมี 1 ดื่มมาตรฐานเท่ากับ 1 กระป๋อง หรือ 1 ขวดเล็ก 330 มิลลิลิตร
  • ไวน์ มีความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ประมาณ 12% จะมี 1 ดื่มมาตรฐานเท่ากับ 1 แก้ว หรือ 100 มิลลิลิตร
  • สุรากลั่น มีความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ประมาณ 40% จะมี 1 ดื่มมาตรฐานเท่ากับ 3 ฝา หรือ 30 มิลลิลิตร

อาการของภาวะแอลกอฮอล์เป็นพิษ

  1. มีอาการกระวนกระวาย สับสน พูดจาไม่รู้เรื่อง
  2. ไม่สามารถทรงตัวได้
  3. ง่วงซึม นอนหลับเยอะกว่าปกติ
  4. มีอาการกึ่งโคม่า รู้สึกตัวแต่ไม่สามารถตอบสนองได้
  5. อาเจียนออกมาเป็นจำนวนมาก หรืออาเจียนเป็นเลือด
  6. หายใจช้าลง หัวใจเต้นเร็วกว่าปกติ
  7. น้ำตาลในเลือดต่ำจนทำให้เกิดอาการชัก หรือเสียชีวิต

วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น เมื่อมีอาการแอลกอฮอล์เป็นพิษ

เพื่อช่วยลดความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตในภาวะแอลกอฮอล์เป็นพิษ การเข้าช่วยเหลือและปฐมพยาบาลผู้ป่วยเบื้องต้นอย่างถูกต้องจึงสำคัญมาก สามารถช่วยเหลือผู้ป่วยได้ ดังนี้

  1. โทรเรียก 1669 หรือเรียกรถพยาบาลอย่างเร่งด่วน
  2. ไม่ควรปล่อยให้ผู้ป่วยอยู่ตามลำพัง เฝ้าสังเกตอาการของผู้ป่วยตลอดเวลา
  3. พยายามปลุกให้ผู้ป่วยมีสติ ไม่หลับ และพยุงให้อยู่ในท่านั่ง
  4. หากผู้ป่วยรู้สึกตัวให้ดื่มน้ำเปล่าเข้าไปเยอะๆ
  5. ไม่พยายามให้ผู้ป่วยอาเจียนออกมา เพราะอาจระคายเคืองทางเดินอาหารจนทำให้อาเจียนเป็นเลือดได้
  6. หากผู้ป่วยหมดสติ ไม่รู้สึกตัว ให้จับนอนตะแคง เฝ้าสังเกตการหายใจจนกว่าทีมกู้ชีพจะมาถึง

อ่านเพิ่มเติม

  • แพทย์เตือน “สายปาร์ตี้” อย่าสนุกจนลืมระวัง “แอลกอฮอล์เป็นพิษ”
  • แพทย์แนะเทคนิค แก้ “เมาค้าง” (Hang Over) ที่ถูกต้อง

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ