กลิ่นผู้สูงวัย (Aging odor) เป็นกลิ่นตัวของผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป จริงๆ กลิ่นที่เกิดขึ้นนั้นเกิดขึ้นได้ทั้งหญิงและชายแต่ดูเหมือนว่าผู้ชายญี่ปุ่นที่มีอายุ 40 ขึ้นไป จะมีโอกาสเกิดกลิ่นผู้สูงวัยได้มากกว่าผู้หญิง คนจำนวนมากจึงเรียกกลิ่นนี้ว่ากลิ่นคุณลุง มาดูสาเหตุการเกิดกลิ่นผู้สูงวัยและวิธีป้องกันไม่ให้เกิดกลิ่นผู้สูงวัยตามที่คนญี่ปุ่นแนะนำกัน
สาเหตุของการเกิดกลิ่นผู้สูงวัย
กลิ่นตัวผู้สูงวัยมีกลิ่นคล้ายการผสมผสานกันของกลิ่นแว็กซ์ หนังสือเก่า กลิ่นเทียนไข และกลิ่นของเชื้อรา กลิ่นนี้เกิดจากที่เมื่ออายุเพิ่มขึ้นความสามารถของร่างกายในการกดปฏิกิริยาออกซิเดชั่น (Oxidation Reaction) จะลดลง ทำให้กรดไขมันไม่อิ่มตัวและลิปิด เปอร์ออกไซด์ (Lipid peroxide) ในร่างกายสูงขึ้น และส่งผลให้เกิดปฏิกิริยาออกซิเดชั่นย่อยสลายกรดไขมันชนิดไม่อิ่มตัวที่ผิวโดยมีลิปิด เปอร์ออกไซด์เป็นตัวเร่ง ทำให้เกิดการสะสมของสาร 2-Nonenal ซึ่งเป็นอัลดีไฮด์ชนิดไม่อิ่มตัว ที่เป็นสาเหตุของกลิ่นผู้สูงวัยขึ้น
วิธีการป้องกันการเกิดกลิ่นผู้สูงวัยตามคำแนะนำของคนญี่ปุ่น
- เช็ดเหงื่อบ่อยๆ
เหงื่อที่หมักหมมก่อให้เกิดการเจริญของแบคทีเรียที่ทำให้เกิดกลิ่นตัว การเช็ดเหงื่อบ่อยๆ จึงเป็นวิธีหนึ่งที่ลดการเจริญของแบคทีเรียในการก่อให้เกิดกลิ่นตัวและกลิ่นผู้สูงอายุได้
- แช่น้ำอุ่น
ในปัจจุบันคนส่วนใหญ่ทำงานในห้องแอร์ซึ่งทำให้เหงื่อไม่ออก หากเหงื่อไม่ออกทำให้ต่อมเหงื่อทำหน้าที่ลดลงและส่งผลให้ของเสียที่เกิดขึ้นในร่างกายถูกสะสมที่ต่อมเหงื่อ การแช่น้ำอุ่นจะทำให้รูขุมขนเปิดและของเสียที่ต่อมเหงื่อจะออกมาจากรูขุมขนและลอยไปกับน้ำ หากไม่ชอบแช่น้ำอุ่น การออกกำลังกายให้เหงื่อออกก็เป็นวิธีการที่ดีในการขับของเสียที่สะสมอยู่ที่ต่อมเหงื่อออกจากร่างกาย
- อาบน้ำหรือล้างทำความสะอาดร่างกายอย่างพิถีพิถัน
การอาบน้ำทำความสะอาดร่างกายด้วยสบู่ที่มีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อแบคทีเรียหรือสบู่ที่มีผลในการขจัดกลิ่นผู้สูงอายุ เช่น สบู่ที่มีส่วนผสมของสารสกัดจากลูกพลับและชาเขียว เป็นต้น เป็นวิธีที่ควรทำทั้งเช้าและเย็นเพื่อป้องกันกลิ่นผู้สูงอายุ โดยบริเวณที่ควรล้างทำความสะอาดอย่างพิถีพิถันคือ บริเวณที่มีต่อมผลิตไขมันมาก เช่น หลังหู หลังคอ หน้าอก และหลัง เพื่อป้องกันการเจริญของแบคทีเรียที่เปลี่ยนกรดไขมันเป็นอัลดีไฮด์ชนิดไม่อิ่มตัว ซึ่งทำให้เกิดกลิ่นผู้สูงอายุดังกล่าวขึ้น
- ไม่สูบบุหรี่
บุหรี่เป็นปัจจัยสำคัญที่เพิ่มสารอนุมูลอิสระให้แก่ร่างกายและไปลดหน้าที่ทางเมแทบอลิซึมของร่างกาย ทำให้การไหลเวียนเลือดไม่ดี และทำให้มีการสะสมของของเสียในร่างกาย ส่งผลในการเพิ่มกลิ่นเหม็นตามต่อมผลิตไขมันและทำให้ตัวเหม็น
- รับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยวิตามิน C วิตามิน E แคโรทีน และเส้นใยอาหาร
สารอนุมูลอิสระที่เพิ่มขึ้นในร่างกายจะทำให้ลิปิด เปอร์ออกไซด์เพิ่มขึ้น ลิปิด เปอร์ออกไซด์จะไปเร่งให้เกิดอัลดีไฮด์ชนิดไม่อิ่มตัว ซึ่งทำให้เกิดกลิ่นผู้สูงอายุตามมา ดังนั้นการรับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยวิตามิน C วิตามิน E และแคโรทีนจะมีฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระ ส่งผลช่วยลดการเกิดลิปิด เปอร์ออกไซด์ได้
- อาหารที่อุดมไปด้วยวิตามิน C ได้แก่ มะเขือเทศ บร็อคโคลี่ พริกหวาน มะนาว กีวี่ ส้ม และฝรั่ง เป็นต้น
- อาหารที่อุดมไปด้วยวิตามิน E ได้แก่ ฟักทอง อะโวคาโด มันเทศ หน่อไม้ฝรั่ง เลมอน กีวี่ องุ่น ถั่วต่างๆ ปลาแซลมอน และปลาไหล เป็นต้น
- อาหารที่อุดมไปด้วยแคโรทีน ได้แก่ แครอท ฟักทอง และมะละกอ เป็นต้น
นอกจากอาหารที่อุดมไปด้วยวิตามิน C วิตามิน E และแคโรทีนแล้ว เส้นใยอาหารและอาหารหมัก ได้แก่ โยเกิร์ต นัตโตะ ผักดอง และกิมจิ เป็นต้น ก็อุดมไปด้วยแลคติกแอซิดแบคทีเรียที่ช่วยลดจำนวนแบคทีเรียไม่ดี และช่วยปรับให้สิ่งแวดล้อมในลำไส้ดีซึ่งนำไปสู่การลดกลิ่นผู้สูงอายุด้วย
- หลีกเลี่ยงการรับประทานเนื้อสัตว์หรือไขมันในปริมาณที่มากเกินไป
ไขมันสัตว์จะกระตุ้นให้ต่อมผลิตไขมันขับความมันส่วนเกินออกมา ซึ่งนอกจากจะยิ่งเสริมการเกิดกลิ่นผู้สูงอายุแล้วยังทำให้กลิ่นตัวเหม็นด้วย นอกจากนี้ก็ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่ทอดหรือใช้น้ำมันในปริมาณมาก เพราะกรดลิโนเลอิกในน้ำมันจะถูกเปลี่ยนเป็นคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอร์ไรด์ ที่จะถูกเปลี่ยนต่อไปเป็นลิปิด เปอร์ออกไซด์ในร่างกายและทำให้เกิดกลิ่นตัวผู้สูงอายุขึ้น
- หลีกเลี่ยงการสะสมความเครียด
ความเครียดที่สะสมในร่างกายก่อให้เกิดอนุมูลอิสระ ซึ่งนำไปสู่การส่งเสริมให้เกิดกลิ่นตัวผู้สูงอายุ
โดยส่วนใหญ่คนที่มีกลิ่นตัวผู้สูงอายุมักจะไม่รู้ตัวว่ามีกลิ่นตัว ดังนั้นคนใกล้ชิดต้องกล้าที่จะบอกเพื่อให้แก้ไขก่อนที่จะเป็นปัญหากลิ่นตัวเรื้อรัง แม้ว่าน้ำยาดับกลิ่นกายจะหาซื้อได้ง่ายแต่ก็เป็นเพียงการดับกลิ่นแค่ชั่วคราว หากไม่อยากให้เกิดกลิ่นผู้สูงอายุขึ้นก็ต้องป้องกันตั้งแต่เนิ่นๆ ดังวิธีข้างต้น