กรมการแพทย์ โดยสถาบันโรคทรวงอก แนะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเกี่ยวกับการรับประทานอาหารและเครื่องดื่มสามารถช่วยลดอาการข้ออักเสบที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคเกาต์ได้
โรคเกาต์ คืออะไร?
นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า โรคเกาต์เป็นโรคข้ออักเสบชนิดหนึ่ง มีผล มาจากการที่มีระดับกรดยูริกในเลือดสูงเป็นเวลานาน ทำให้เกิดการตกผลึกของเกลือยูเรตบริเวณข้อและเนื้อเยื่อต่างๆ ทั่วร่างกาย โดยผลึกดังกล่าวมีผลกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันทำให้เกิดกระบวนการอักเสบตามมา
- ไขข้อข้องใจ กินอะไร? ทำไมถึงเป็น “โรคเกาต์”
- จริงหรือไม่? กินไก่มาก เป็น “โรคเกาต์”
กลุ่มเสี่ยงโรคเกาต์
โดยส่วนมากโรคเกาต์มักจะพบได้มากในเพศชายอายุ 30 ปีขึ้นไป ส่วนเพศหญิงจะพบมากในช่วงวัยหลังหมดประจำเดือน
- รู้หรือไม่? ดื่มนมวันละแก้ว ลดความเสี่ยงเป็นโรค “เกาต์”
อาการของโรคเกาต์
อาการของโรคเกาต์สามารถปรากฏได้หลายรูปแบบ คือ ข้ออักเสบ มักจะมีอาการแบบเฉียบพลัน เริ่มแรกมักเป็นข้อเดียว โดยส่วนใหญ่มักจะเกิดที่โคนข้อนิ้วหัวแม่เท้า ข้อเท้า หรือข้อเข่า โดยมีอาการปวด บวมแดง ร้อน เจ็บเมื่อกด และอาจมีไข้ร่วมด้วย บางรายพบก้อนโทฟัส ซึ่งเกิดจากการสะสมของผลึกเกลือยูเรตในเนื้อเยื่ออ่อน ข้อต่อ กระดูก และกระดูกอ่อน มักพบบริเวณศอก ตาตุ่ม นิ้วมือ นิ้วเท้า ส่วนนิ่วในทางเดินปัสสาวะ พบประมาณร้อยละ 10-25 ของผู้ป่วยโรคเกาต์
วิธีรักษาโรคเกาต์
นายแพทย์เอนก กนกศิลป์ ผู้อำนวยการสถาบันโรคทรวงอก กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า แนวทางการรักษาโรคเกาต์ควรใช้การรักษาโดยวิธีไม่ใช้ยาและใช้ยาร่วมกัน ซึ่งจะมีประสิทธิภาพดีกว่าการใช้วิธีใดวิธีหนึ่ง
6 วิธีรักษาโรคเกาต์ โดยไม่ต้องใช้ยา
การรักษาโดยวิธีไม่ใช้ยาสามารถทำได้โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเกี่ยวกับการรับประทานอาหารและเครื่องดื่มร่วมกับการดูแลโรคร่วม และปัจจัยเสี่ยงของโรคเกาต์
- ขณะมีอาการข้ออักเสบกำเริบควรเลือกรับประทานโปรตีนจาก ไข่ เต้าหู้ นมและผลิตภัณฑ์จากนมที่มีไขมันต่ำ
- ลดการบริโภคเนื้อสัตว์ทุกชนิด รวมถึงอาหารที่มีพิวรีนสูง เช่น เครื่องในสัตว์ ไข่ปลา ยอดผักต่างๆ
- ลดการรับประทานผลไม้ที่มีรสหวานจัด น้ำผลไม้และเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของน้ำตาลฟรุกโตส เช่น ชาเขียวพร้อมดื่ม
- งดการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
- ควรดื่มน้ำ อย่างน้อย 8 แก้วต่อวัน
- หากท่านรับประทานอาหารชนิดใดแล้วมีอาการข้ออักเสบให้หลีกเลี่ยงอาหารชนิดนั้นๆ เพื่อป้องกันข้ออักเสบ
- อาหารที่ควร-ไม่ควรกิน หากเสี่ยงเป็น “โรคเกาต์”