เป็นที่รู้กันดีว่าหน้าร้อนของประเทศไทยนั้น ร้อนปรอทแตกขนาดไหน ซึ่งการที่เราต้องใช้ชีวิตในสภาพแวดล้อมที่อุณหภูมิสูงแบบนี้ ก็ทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกายได้เหมือนกัน ด้วยเหตุนี้ Tonkit360 จึงมีวิธีดูแลสุขภาพในช่วงหน้าร้อนมาฝากทุกคน
6 วิธีดูแลสุขภาพในช่วงที่อากาศร้อน
-
ดื่มน้ำเปล่าเพื่อดับกระหาย
ช่วงอากาศร้อนระอุ สิ่งที่สามารถดับกระหายได้ดีที่สุดคือ น้ำเปล่า ซึ่งหาดื่มได้ง่ายและเป็นสิ่งที่ร่างกายต้องการ สำหรับการดื่มน้ำในช่วงหน้าร้อนนั้น ไม่ควรดื่มทีละมากๆ แต่ให้จิบไปเรื่อยๆ ระหว่างวัน ซึ่งปริมาณที่เหมาะสมขึ้นอยู่กับกิจกรรมในวันนั้นๆ และไม่ควรกินน้ำแข็งหรือดื่มน้ำเย็นจัด เพราะน้ำเย็นปริมาณมากจะไปเจือจางน้ำย่อย ส่งผลให้เลือดที่มาหล่อเลี้ยงกระเพาะอาหารทำการย่อยได้น้อยลง และก่อให้เกิดโรคกระเพาะลำไส้อักเสบได้ง่าย นอกจากนั้นน้ำแข็งที่ไม่สะอาด ก็มีส่วนทำให้เกิดท้องร่วงท้องเสียอีกด้วย
-
หาผลไม้กินแก้ร้อน
กินผลไม้ที่มีคุณสมบัติเย็น ขับร้อน และเพิ่มน้ำในร่างกาย เช่น แตงโม ส้ม สับปะรด เป็นต้น เพราะผลไม้เหล่านี้ช่วยดับกระหายและทำให้สดชื่นได้ แถมยังมีส่วนช่วยต้านอนุมูลอิสระ แต่แนะนำว่าผลไม้ไม่ควรแช่เย็นจัด หรือกินในตอนกลางคืน รวมถึงกินในขณะที่ท้องว่างและเวลาหิวจัด
-
หลีกเลี่ยงการออกแดดจัด และทาครีมกันแดดป้องกันผิว
อีกหนึ่งสิ่งที่ต้องระวังในช่วงฤดูร้อนก็คือรังสียูวี เพราะความเข้มข้นของรังสียูวีในประเทศไทย ช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม นับว่าร้อนมาก ฉะนั้นควรงดทำงานหนักกลางแจ้ง และเลี่ยงที่ต้องเจอกับแดดจัด เพราะอากาศร้อนจะทำให้อุณหภูมิของร่างกายสูงขึ้น อาจมีผลทำให้เป็นลมแดดและถึงขั้นเสียชีวิตได้เลยทีเดียว นอกจากนี้ก่อนออกจากบ้านทุกครั้ง ควรทาครีมกันแดดเพื่อปกป้องผิวจากรังสียูวีด้วย
-
หลีกเลี่ยงการกินอาหารที่เสี่ยง ทำให้เกิดอาการท้องร่วงท้องเสีย
หน้าร้อนอาหารจะบูดเสียง่าย เนื่องจากเชื้อโรคเจริญเติบโตได้ดีในอากาศร้อนชื้น ดังนั้นจึงควรจะระมัดระวังเรื่องการกิน เช่น กินอาหารที่ทำสุกใหม่ๆ ไม่กินอาหารที่ค้างคืน หลีกเลี่ยงอาหารประเภทกะทิ ยำ ส้มตำ และของหมักดอง เพราะเสี่ยงทำให้เกิดอาการท้องเสียท้องร่วงได้
-
เลือกใส่เสื้อผ้าที่ดูดซับเหงื่อและระบายความร้อนได้ดี
แน่นอนว่าในช่วงหน้าร้อนจะต้องใส่เสื้อผ้าให้เหมาะสมตามสภาพอากาศ ดังนั้นควรเลือกเสื้อผ้าที่สามารถดูดซับเหงื่อและระบายความร้อนได้ดีมาใส่ แต่ในผู้หญิงตั้งครรภ์การสวมใส่เสื้อผ้าจะต้องมิดชิด และเพื่อป้องกันการกระทบความเย็น จึงควรหลีกเลี่ยงการเปิดพัดลมใส่โดยตรง ขณะเดียวกันต้องป้องกันความร้อนอบอ้าวด้วย การระบายอากาศในห้องจึงต้องดี
-
อย่าลืมพักผ่อนให้เพียงพอ
โดยธรรมชาติของฤดูร้อน กลางวันจะยาวกลางคืนจะสั้น (คนทั่วไปที่ไม่ได้นอนในห้องปรับอากาศ กว่าอากาศจะเย็นแล้วนอนหลับได้ก็มักจะดึก) จึงเป็นสาเหตุทำให้ได้นอนน้อยกว่าปกติ ดังนั้นการได้พักผ่อนนอนหลับในช่วงกลางวันบ้าง ก็ถือเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพอยู่ไม่น้อย แต่สำหรับผู้ที่ทำงานในที่ทำงาน คงจะนอนหลับกลางวันไม่สะดวก อาจใช้วิธีนั่งพิงพนักตัวตรง หลับตา สงบนิ่งๆ ในช่วงกลางวันก็ได้