โรคลมแดด ลมร้อน หรือ ฮีทสโตรก ในช่วงฤดูร้อนอันตรายถึงเสียชีวิต เตือนคนทำงานหรือเล่นกีฬากลางแจ้ง หลีกเลี่ยงการอยู่กลางแดดจัดเป็นเวลานาน และดื่มน้ำเปล่าบ่อยๆ หากตัวร้อนจัดแต่เหงื่อไม่ออกให้รีบเข้าที่ร่ม ระบายความร้อนในร่างกายโดยใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัว หากชักหรือหมดสติให้รีบนำส่งโรงพยาบาล หรือโทรสายด่วน 1669
นายแพทย์เจษฎา โชคดำรงสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในปี 2561 กรมอุตุนิยมวิทยาประเมินว่าตั้งแต่มีนาคม ประเทศไทยจะเข้าสู่ฤดูร้อน สภาพอากาศร้อนอบอ้าวและร้อนจัดในบางพื้นที่ โดยอุณหภูมิสูงสุดอาจจะสูงถึง 40-42 องศาเซลเซียส ซึ่งในช่วงอากาศร้อนจัด ประชาชนเสี่ยงมีภาวะเจ็บป่วยจากสภาวะอากาศร้อน ทั้งโรคลมแดด ลมร้อน หรือฮีทสโตรก (Heat Stroke) มีอันตรายอย่างรุนแรง อาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตจากการทำงานผิดปกติของระบบสมอง ข้อมูลจากสำนักระบาดวิทยา มีผู้เสียชีวิตจากโรคลมแดดเฉลี่ยปีละ 32 คน ล่าสุดในปี 2559 พบผู้เสียชีวิต 21 ราย สาเหตุเกิดจากการที่ร่างกายมีอุณหภูมิสูงกว่า 40 องศาเซลเซียส และไม่สามารถปรับตัวได้ ผู้ป่วยจะมีอาการเมื่อยล้า อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน วิตกกังวล สับสน ปวดศีรษะ ความดันโลหิตต่ำ หน้ามืด อาจมีอาการเพิ่มเติมเช่น ภาวะขาดเหงื่อ เพ้อ ชัก ไม่รู้สึกตัว หายใจเร็ว หัวใจเต้นผิดจังหวะ ช็อค หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีอาจเสียชีวิตได้
นายแพทย์เจษฎากล่าวต่อว่า ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) สื่อสารความรู้คำแนะนำในการดูแลและป้องกันโรคที่มาจากอากาศร้อนให้แก่ประชาชน โดยเฉพาะ 6 กลุ่มเสี่ยงได้แก่
กลุ่มเสี่ยง “ฮีทสโตรก” จากอากาศร้อน
- ผู้ที่ทำงานหรือทำกิจกรรมกลางแดด เช่น เล่นกีฬา การฝึกทหาร ที่ไม่ได้เตรียมตัวมาก่อน ผู้ทำงานกลางแดด เช่น กรรมกร ก่อสร้าง เกษตรกร
- เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีและผู้สูงอายุ
- ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคความดันโลหิตสูง
- คนอ้วน
- ผู้ที่นอนพักผ่อนไม่เพียงพอ
- ผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จัด
อ่านเพิ่มเติม
- 4 โรคอันตราย ที่มาพร้อมแดด และอากาศร้อนอบอ้าว