หากมีอาการนอนไม่หลับ หรือนอนหลับไม่สนิท ติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน หากปล่อยไว้โดยไม่ทำการรักษา อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายและสุขภาพจิต ควรไปพบแพทย์เฉพาะทางด้านการนอนหลับ เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง
นายแพทย์วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า การนอนหลับเป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญของการดำรงชีวิต หากเรานอนหลับพักผ่อนได้ดีและเพียงพอจะส่งผลให้ร่างกายมีสุขภาพที่สมบูรณ์แข็งแรง สดชื่นแจ่มใส ไม่หงุดหงิดง่าย แต่ในบางคนที่พบว่าตนเองมีปัญหาเกี่ยวกับการนอนไม่หลับ เช่น นอนหลับได้ยาก นอนหลับไม่สนิท ตื่นเร็วกว่าเวลาที่ควรจะตื่น และง่วงนอนในเวลากลางวัน หากมีอาการดังกล่าวควรปรึกษาแพทย์ เพราะหากไม่ได้รับการรักษาอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในอนาคตได้
กลุ่มเสี่ยงโรคนอนไม่หลับ
โรคนอนไม่หลับสามารถเกิดขึ้นได้ทุกช่วงอายุ ส่วนมากมักจะเกิดในผู้หญิงและผู้สูงอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป
สาเหตุของโรคนอนไม่หลับ
นายแพทย์เอนก กนกศิลป์ ผู้อำนวยการสถาบันโรคทรวงอก กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า โรคนอนไม่หลับเกิดขึ้นได้หลายสาเหตุ โดยมีปัจจัยเสี่ยง เช่น
- ลักษณะของบุคคล นอนหลับไม่ลึก หูไว ตื่นง่าย หรือมีความวิตกกังวลง่าย
- ปัจจัยกระตุ้น การเปลี่ยนงาน การเสียชีวิตของคนที่รัก การหย่าร้าง
- พฤติกรรมของผู้ป่วย การนอนอยู่บนเตียงเป็นเวลานานๆ
- การดื่มกาแฟช่วงเวลาเย็นหรือก่อนนอน นอนกลางวันหลังบ่ายสามโมง
เป็นต้น
สัญญาณอันตราย คุณอาจเสี่ยงโรค “นอนไม่หลับ”
เราสามารถสังเกตอาการของการนอนหลับได้ เช่น
- นอนหลับได้ยาก นอนหลับไม่ต่อเนื่อง นอนหลับไม่สนิท
- ตื่นเร็วกว่าเวลาที่ควรจะตื่น
- มีอาการอ่อนเพลีย ไม่มีแรง
- สมาธิลดลง ความสนใจและความจำลดลง
- อารมณ์ไม่ดี หงุดหงิดง่าย
- ง่วงนอนตอนกลางวัน
อันตรายจากโรคนอนไม่หลับ
หากปล่อยให้มีอาการนอนไม่หลับเป็นระยะเวลานาน อาจส่งผลต่อสุขภาพร่างกาย เพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคร้ายอันตรายมากมาย เช่น
- โรคซึมเศร้า (เพิ่มความเสี่ยงมากกว่าคนปกติถึง 2 เท่า
- โรคหัวใจขาดเลือด
- ภาวะหัวใจวาย
- ความดันโลหิตสูง
- โรคไขมันสูง
- โรคเบาหวาน
- โรคอ้วน
- อาจเพิ่มอัตราการเสียชีวิต เพราะเพิ่มโอกาสการเกิดอุบัติเหตุจากการขับรถและอุบัติเหตุจากการทำงานได้
ดังนั้นการนอนหลับจึงมีความสำคัญต่อสุขภาพ หากพบว่ามีอาการนอนไม่หลับหรือสงสัยว่าตนเองอาจเป็นโรคนอนไม่หลับ ควรไปพบแพทย์เฉพาะทางด้านการนอนหลับ เพื่อตรวจหาสาเหตุและทำการรักษาอย่างถูกต้อง