การลดน้ำหนักมีหลายปัจจัยที่จะทำให้เราลดน้ำหนักอย่างได้ผลและส่งผลดีต่อร่างกาย บ้างก็ว่าไม่ใช่เรื่องยากหากมีวินัย แต่หากลองพยายามมีวินัยกับตัวเองสุดๆ แล้ว แต่ยังลดน้ำหนักไม่ได้ผลอยู่ อาจเป็นเพราะมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการลดน้ำหนักที่ยังไม่ถูกต้องอยู่
พญ.ธิดากานต์ รุจิพัฒนกุล หรือ หมอผิง ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวพรรณและเวชศาสตร์ชะลอวัย โรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท พูดถึงประเด็นที่คนมักมองข้ามหรือมักเข้าใจผิดในการลดน้ำหนักใน Single Being Podcast เอาไว้ ดังนี้
6 ข้อผิดพลาดที่ทำให้การ “ลดน้ำหนัก” ไม่ได้ผล
- ออกกำลังกายแล้ว จะกินอะไรก็ได้
ข้อผิดพลาดที่คนออกกำลังกายมักมองข้าม คือการที่คิดว่าตัวเองออกกำลังกายเผาผลาญพลังงานในร่างกายไปเยอะแล้ว สามารถกินอาหารตามใจชอบได้ ไม่ทำให้อ้วน ซึ่งนั่นคือเรื่องที่ไม่ถูกต้อง การออกกำลังกายถึงแม้ว่าจะเป็นการเผาผลาญพลังงานออกไปจากร่างกายได้มากกว่าปกติก็ตาม แต่หากจำนวนพลังงานที่เสียไปไม่ได้มากเท่ากับอาหารที่กินไปหลังออกกำลังกายเสร็จ ก็ทำให้เราได้รับพลังงานจากอาหารมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น การวิ่ง ใช้พลังงานที่ 800-1000 กิโลแคลอรี่/ชั่วโมง หากคุณวิ่งไป 1 ชั่วโมง แต่กินข้าวมันไก่ 600 กิโลแคลอรี่ บวกกับชานมไข่มุกอีก 1 แก้ว 360 กิโลแคลอรี่ นั่นหมายความว่าที่คุณวิ่งไปไม่ได้ช่วยลดพลังงานออกไปจากร่างกายแต่อย่างใด เพราะถูกเติมเต็มด้วยอาหารที่กินหลังจากนั้นหมดเรียบร้อยแล้ว เป็นต้น
- เน้นแต่คาร์ดิโอ ไม่ยอมเวทเทรนนิ่ง
หลายคนเข้าใจว่าหากอยากออกกำลังกายเพื่อลดน้ำหนัก ควรเน้นที่การออกกำลังกายแบบคาร์ดิโอ คือการออกกำลังกายที่ทำให้หัวใจรู้สึกเหนื่อย เช่น วิ่ง ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน เป็นต้น แต่จริงๆ แล้วการออกกำลังกายที่จะช่วยให้ลดน้ำหนักได้ผล และเร็วมากขึ้น คือการออกกำลังกายทั้งแบบคาร์ดิโอ และเวทเทรนนิ่งควบคู่ไปด้วยกัน การเวทเทรนนิ่งจะทำให้ร่างกายมีกล้ามเนื้อที่แข็งแรงเพื่อใช้ในการออกกำลังกายแบบคาร์ดิโอได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ดังนั้นการออกกำลังกายแบบเวทเทรนนิ่งจึงมีความจำเป็นต่อการลดน้ำหนักไม่แพ้กัน
- ลดแต่แป้ง-น้ำตาล แต่ไม่ลดโซเดียม
นอกจากโซเดียมกินแล้วอาจทำให้ร่างกายบวมน้ำได้แล้ว การรับประทานอาหารที่มีปริมาณโซเดียมสูง ยังอาจเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เราลดน้ำหนักไม่ได้ผล เพราะโซเดียมทำให้ความอยากอาหารเพิ่มมากยิ่งขึ้นนั่นเอง ดังนั้นแทนที่จะใส่ใจแต่กับการลดปริมาณแป้งและน้ำตาล หรือคาร์โบไฮเดรตเพียงอย่างเดียว จึงควรลดอาหารโซเดียมสูงด้วย ซึ่งก็คือการพยายามลดการปรุงอาหารรสเค็ม เผ็ด รวมถึงอาหารที่ไขมันสูงด้วยนั่นเอง
- นับแต่แคลอรี่ แต่ไม่ดูควอลิตี้ของอาหาร
ควอลิตี้ (Quality) คือ “คุณภาพ” ของอาหาร หลายคนพุ่งเป้าไปที่จำนวนแคลอรี่ที่เห็นเป็นตัวเลขมากกว่าจะดูคุณภาพของอาหารที่รับประทาน เช่น การรับประทานแป้งที่ดี คือการเลือกแป้งที่เป็นคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน เช่น ขนมปังโฮลวีต ข้าวกล้อง มากกว่าขนมปังขาว หรือข้าวขาว แม้ว่าจำนวนแคลอรี่จะใกล้เคียงกัน แต่ประโยชน์ที่ได้รับต่างกัน รวมถึงโปรตีนที่ดี คือ เนื้อไก่ไม่มีหนัง เนื้อปลาไม่มีหนัง และไขมันที่ดี คือ ไขมันที่มาจากน้ำมันมะกอก มากกว่าไขมันจากสัตว์ เป็นต้น
- ลืมใส่ใจแบคทีเรียในลำไส้
รู้หรือไม่ว่าในลำไสมีแบคทีเรียที่ดีต่อร่างกายของเราอยู่ ในคนผอมหลายคนมีแบคทีเรียที่ “ชวนผอม” หรือพรีไบโอติกส์อยู่มากกว่าคนอ้วน ดังนั้นเราจึงควีใส่ใจในการเลือกรับประทานอาหารที่ช่วยเพิ่มจำนวนแบคทีเรียชวนผอมให้มีจำนวนมากยิ่งขึ้น ได้แก่ อาหารที่มีเส้นใยอาหารสูง ผักกลิ่นฉุนและธัญพืชต่างๆ ที่ไม่ขัดสี รวมถึงแบคทีเรียโพรไบโอติกส์ เช่น โยเกิร์ต กิมจิ เป็นต้น
- IF ผิดเวลา ไม่เหมาะสมกับชีวิตตัวเอง
ช่วงเวลาในการทำ IF (Intermittent Fasting) ที่เหมาะกับวิถีชีวิตของตัวเอง คือช่วงเวลาที่ดีที่สุดของแต่ละคน ซึ่งอาจไม่ใช่ช่วงเวลาที่เหมือนกันเป๊ะๆ กล่าวคือ หากคุณเป็นคนนอนดึกตื่นสาย คุณอาจเลือกงดข้าวเช้า กินแต่ข้าวกลางวันกับเย็นได้ หรือคุณอาจเป็นคนตื่นเช้ามากๆ ก็เลือกกินข้าวเช้ากับกลางวัน แล้วงดเมื้อเย็นแทน อย่างไรก็ตาม เวลาที่เหมาะสมตามนาฬิกาชีวิต คือ การกินมื้อเช้า และกลางวัน และงดมื้อเย็น แต่หากเวลานี้ไม่เหมาะกับชีวิตของตัวเอง ก็ควรปรับเปลี่ยนให้เหมาะสม การเลือกช่วงเวลาที่ไม่เหมาะสมกับตัวเอง ทำให้เกิดความทรมานในการอดอาหาร และนอกจากจะลดน้ำหนักไม่ได้ผลแล้ว ยังอาจส่งผลเสียต่อร่างกาย