ไขมัน ไม่ใช่สิ่งที่น่ากลัวหรือไม่ดีต่อร่างกายเสมอไป เพราะร่างกายก็ต้องการไขมันดี หรือที่เรียกว่า คอเลสเตอรอลชนิดดี หรือไขมันชนิดเอชดีแอล (HDL) ในการลำเลียงกรดไขมันและคอเลสเตอรอลไปที่ตับ เพื่อทำลายและขับออกทางน้ำดี การทราบว่า ไขมันดีมีอะไรบ้าง อาจช่วยให้เลือกรับประทานอาหารได้เหมาะสมจนส่งผลให้ร่างกายได้รับไขมันดีเพิ่มขึ้น และอาจส่งผลดีต่อสุขภาพ เช่น ป้องกันไขมันชนิดเลวสะสมในหลอดเลือดแดงจนทำให้เส้นเลือดอุดตัน ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด
ไขมันดี คืออะไร
ไขมันดี หรือคอเลสเตอรอลชนิดดี หรือไขมันชนิดเอชดีแอล (High Density Lipoprotein หรือ HDL) เป็นไขมันที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เนื่องจากช่วยในการการกำจัดไขมันเลว หรือคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี หรือที่เรียกว่าไขมันแอลดีแอล (Low Density Lipoprotein หรือ LDL) ทั้งยังช่วยลำเลียงคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์จากหลอดเลือดแดงและเนื้อเยื่อไปยังตับ เพื่อทำลายและขับออกทางน้ำดี ป้องกันคอเลสเตอรอลหรือไขมันสะสมก่อให้เกิดโรค
โดยทั่วไป ระดับไขมันดีในผู้ชายอายุ 20 ปีขึ้นไปควรมากกว่า 50 มิลลิกรัม/เดซิลิตร และผู้หญิงอายุ 20 ปีขึ้นไปควรมากกว่า 40 มิลลิกรัม/เดซิลิตร หรือหากมากกว่า 60 มิลลิกรัม/เดซิลิตรนั้นยิ่งเป็นผลดีต่อร่างกาย ทั้งนี้ หากมีไขมันดีในร่างกายต่ำกว่า 40 มิลลิกรัม/เดซิลิตร อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะเส้นเลือดในอวัยวะต่างๆ เช่น สมอง หัวใจ ตีบตัน จนนำไปสู่โรคร้ายแรง เช่น โรคหลอดเลือดสมอง
ประโยชน์ของไขมันดี
ไขมันดีนั้นถูกสร้างขึ้นมาจากตับ และอาจมีประโยชน์ต่อร่างกายหลายด้าน เช่น มีหน้าที่ในการช่วยขจัดคอเลสเตอรอลหรือไขมันเลวที่เกาะอยู่ตามหลอดเลือด จึงอาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคร้ายต่างๆ เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคหลอดเลือดสมอง อย่างไรก็ตาม การใข้ยาบางชนิด เช่น ยาเบต้าบล็อกเกอร์ที่ใช้เพื่อรักษาโรคความดันโลหิตสูง ยาเบนโซไดอะซีปีน (Benzodiazepines) ที่ใช้ในการรักษาโรคนอนไม่หลับและอาการวิตกกังวล รวมถึงการเป็นโรคเบาหวาน ก็อาจส่งผลให้ระดับไขมันดีในเลือดต่ำเกินไป และส่งผลเสียต่อการควบคุมไขมันในเลือดได้
อาหารที่มีไขมันดีมีอะไรบ้าง
อาหารที่อุดมไปด้วยไขมันดีอาจมีดังนี้
- น้ำมันมะกอก อาจช่วยเพิ่มระดับไขมันชนิดดีและลดการอักเสบในร่างกายที่เกิดจากไขมันชนิดไม่ดี เนื่องจากในน้ำมันมะกอกมีโพลีฟีนอล (Polyphenols) ที่อาจช่วยเพิ่มไขมันดีให้กับร่างกาย โดยงานวิจัยชิ้นหนึ่งเกี่ยวกับอิทธิพลของสารโพลีฟีนอลในน้ำมันมะกอกต่อความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจ ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Annals of Internal Medicine ของประเทศสหรัฐอเมริกา พ.ศ. 2549 ซึ่งให้อาสาสมัครผู้ชายสุขภาพดี 200 คน รับประทานน้ำมันมะกอกที่มีสารประกอบฟีนอลิค (Phenolic) ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระในน้ำมันมะกอกในระดับสูง กลาง ต่ำ พบว่าระดับไขมันเลวของผู้เข้าร่วมการทดลองลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
- ธัญพืช ธัญพืชที่ไม่ขัดสี เช่น ข้าวกล้อง ซีเรียล ขนมปังโฮลเกรน อุดมไปด้วยไฟเบอร์ซึ่งอาจช่วยลดไขมันไม่ดีในร่างกายได้
- ปลา เช่น ปลาแซลมอน ปลาทู ปลาซาร์ดีน เป็นปลาทะเลน้ำลึกที่มีโอเมก้า 3 ซึ่งอาจช่วยลดไขมันเลวและเพิ่มไขมันดีให้กับร่างกาย
- อะโวคาโด เป็นผลไม้ที่มีโฟเลต (Folate) กรดโอเลอิก (Oleic Acid) และไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยว ซึ่งอาจเป็นไขมันที่มีประโยชน์ต่อหัวใจ รวมถึงมีเบต้า-ซิโตสเตอรอล (Beta-Sitosterol) ที่อาจช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือดได้
- ถั่วเหลือง มีสารต้านอนุมูลอิสระ เช่น ไอโซฟลาโวน (Isoflavones) เลซิติน (Lecithin) ซาโปนิน (Saponins) ทั้งยังมีไฟเบอร์และโปรตีนจากถั่วเหลืองที่อาจช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือด ลดความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด
นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงไลฟ์สไตล์บางอย่าง เช่น การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมออย่างน้อย 30 นาที/วัน หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ รวมถึงรับประทานอาหารที่มีคุณประโยชน์ต่อร่างกายก็อาจช่วยลดไขมันเลวในร่างกายได้เช่นกัน