ปัจจุบันคนไทยมีปัญหาสายตาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีตัวการร้ายทำลายสายตาอยู่รอบตัว ทั้งจากการทำงานและการเรียนที่ต้องจ้องหน้าจออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เป็นเวลานาน หรือการใช้ชีวิตประจำวันที่เกิดจากรังสียูวีของแสงแดดและดวงไฟ
นายแพทย์นพวุฒิ ตรีพรชัยศักดิ์ จักษุแพทย์จากแว่นท็อปเจริญ ให้คำแนะนำเกี่ยวกับอาการผิดปกติของค่าสายตาที่สังเกตได้ และผู้ที่ควรหมั่นตรวจวัดสายตาหรือตรวจเช็กสุขภาพดวงตาเป็นประจำ ดังนี้
สัญญาณอันตราย ควร “ตรวจสายตา” ด่วน
หากคุณมีปัญหาสายตาในลักษณะนี้ ควรรีบพบจักษุแพทย์ ได้แก่
- ปวดตา
- ภาพโฟกัสเบลอ
- วิงเวียนศีรษะ
- แสบตา ตาแห้ง
- เห็นภาพซ้อน
กลุ่มคนที่ควรตรวจสุขภาพดวงตาเป็นประจำ
- วัยทำงานและวัยเรียน ที่ใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เช่น สมาร์ทโฟน คอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต เป็นประจำ
กลุ่มวัยทำงานและวัยเรียน ควรตรวจเช็คสุขภาพดวงตาและอัพเดทค่าสายตาเป็นประจำทุกปี เนื่องจากปัญหาสายตาของคนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เกิดจากการใช้สายตาจ้องหน้าจออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมีแสงสีฟ้าที่เป็นภัยต่อดวงตาอย่างต่อเนื่องทุกวันเป็นเวลาหลายชั่วโมง โดยเฉพาะผู้ที่ต้องทำงานที่บ้าน (Work from Home) และเรียนออนไลน์ หากดวงตากระทบกับแสงสีฟ้านานเกินไป จะส่งผลเสียต่อเซลล์จุดรับภาพของดวงตา ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคคอมพิวเตอร์วิชั่นซินโดรม โดยจะมีอาการปวดตาและภาพโฟกัสเบลอ
วิธีถนอมสายตาระหว่างเรียน-ทำงานหน้าคอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต
- ควรใช้สายตาตามหลัก 20-20-20 นั่นคือใช้สายตา 20 นาที ควรพักสายตาโดยมองไประยะไกล 20 ฟุต เป็นเวลา 20 วินาที
- ปรับความสว่างหน้าจอให้เหมาะสม
- สวมแว่นตาที่ประกอบเลนส์ป้องกันแสงสีฟ้า (Blue Cut)
- เปลี่ยนอิริยาบถหรือเคลื่อนไหวบ่อยๆ เพื่อลดอาการปวดเมื่อยของร่างกาย
- นั่งทำงานในห้องแอร์เป็นเวลานาน มีโอกาสเกิดภาวะตาแห้งจากฟิล์มน้ำตาระเหย ทำให้แสบตาและตาแดง โดยเฉพาะผู้ที่ใส่คอนแทคเลนส์ แนะนำให้ใช้น้ำตาเทียมหยอดตาเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นที่ผิวตา กะพริบตา 15 ครั้งต่อนาที และสลับสวมแว่นสายตาขนาดใหญ่เพื่อบรรเทาอาการตาแห้ง
- ผู้ที่ใช้สายตากลางแจ้งเป็นเวลานาน
เช่น ผู้ขับขี่ยวดยานพาหนะ นักกีฬากลางแจ้ง หรืออาชีพที่ต้องทำงานกลางแดด หากต้องเผชิญกับแสงแดดที่มีรังสียูวีในปริมาณมากซึ่งเป็นอันตรายต่อดวงตา อาจทำให้เกิดโรคต้อเนื้อ กระจกตาอักเสบ ปวดตา รวมทั้งโรคต้อกระจกและจอตาเสื่อมได้
วิธีถนอมดวงตา เมื่อต้องทำงานกลางแดด
เมื่อต้องออกไปเผชิญกับแสงแดด แนะนำให้สวมแว่นกันแดดเพื่อถนอมดวงตาจากแสงแดดจ้าและรังสียูวี ควรเลือกสวมแว่นกันแดดคุณภาพ เนื่องจากการสวมแว่นกันแดดจะทำให้รูม่านตาขยายขึ้นจากความเข้มของเลนส์ หากสวมแว่นที่ไม่มีคุณสมบัติในการป้องกันรังสียูวี จะยิ่งส่งผลเสียต่อดวงตามากขึ้น
- คนชอบดูซีรีส์หรืออ่านหนังสือในเวลากลางคืน
ใครที่ชอบดูละคร ซีรีส์ หนัง หรืออ่านหนังสือตอนกลางคืน จนเป็นไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตประจำวันที่อาจส่งผลทำให้การนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ โดยเฉพาะคนที่ชอบดูซีรีส์ในที่มืดหรือมีแสงสว่างน้อย นอกจากจะทำให้เกิดภาวะอาการตาล้าแล้ว ยังส่งผลกระทบอื่นๆ ร่วมด้วยได้ เช่น สารสื่อประสาทในระบบสมองไม่สมดุล ทำให้ร่างกายไม่กระปรี้กระเปร่า วิงเวียนศีรษะ สายตาพร่ามัว
วิธีถนอมสายตา หากจำเป็นต้องอ่านหนังสือตอนกลางคืน
สำหรับผู้ที่ชอบอ่านหนังสือเป็นประจำ หากอ่านหนังสือในระยะใกล้เกินไปหรือในที่แสงไม่เพียงพอเป็นเวลานาน สามารถเกิดอาการปวดตา ล้าตา และเห็นภาพซ้อนได้เช่นกัน จึงควรปฏิบัติ ดังนี้
- ควรอ่านหนังสือให้มีระยะห่างจากดวงตาไม่น้อยกว่า 30 เซนติเมตรในที่แสงสว่างเพียงพอ
- พักสายตาเป็นระยะ
- สวมแว่นมองใกล้ที่เป็นเลนส์ลดการล้าตา
- หากใครที่เริ่มมองเห็นภาพไม่ชัด แนะนำให้เข้ารับการตรวจวัดสายตา เลือกตัดเลนส์ที่เหมาะสม เพื่อการมองเห็นที่ชัดเจนขึ้นจะช่วยลดอาการล้าของดวงตาได้
- ผู้ที่ทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม หรืออาชีพงานฝีมือที่ต้องใช้ความละเอียดสูง
ผู้ที่ทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม หรืออาชีพงานฝีมือที่ต้องใช้ความละเอียดสูง เป็นกลุ่มที่มีการใช้สายตามากและขาดการป้องกันในบางครั้ง โดยเฉพาะงานที่เสี่ยงเกิดอุบัติเหตุ ทั้งจากลักษณะงานที่ทำหรือความเสี่ยงจากสภาพแวดล้อม แนะนำให้สวมแว่นเซฟตี้เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุที่ไม่คาดคิด รวมถึงสิ่งแปลกปลอมหรือสารเคมีกระเด็นเข้าตา เพราะหากเกิดความรุนแรงกับดวงตาแล้วแม้จะรักษาหาย แต่ดวงตาก็อาจไม่กลับไปเป็นปกติสมบูรณ์ได้ดังเดิม
ทั้งนี้ผู้ที่มีปัญหาสายตาก็ควรใช้แว่นสายตาที่ทำให้มองเห็นชัดเจนเพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ
- ผู้สูงอายุและผู้ที่มีโรคประจำตัว
เมื่ออายุมากขึ้น ขบวนการเพ่งมองก็จะลดลง ทำให้เกิดภาวะสายตายาวระยะใกล้ โรคต้อกระจก โรคต้อหิน หรือโรคจอตาเสื่อม
ดังนั้นการตรวจสุขภาพดวงตาเป็นประจำจะทำให้คงการมองเห็นอยู่ตลอดจึงเป็นสิ่งสำคัญ โดยเครื่องมือการตรวจวัดสายตาอาจจำเป็นต้องใช้เครื่องวัดความดันตาร่วมด้วย หากตรวจพบอาการผิดปกติก็สามารถเข้าถึงการรักษาได้ทันที และยังเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดการสูญเสียดวงตาในผู้สูงวัย รวมทั้งผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดันสูงและไขมันสูง เป็นต้น
เตรียมตัวก่อนตรวจสายตา
สำหรับการตรวจวัดสายตาและตรวจเช็คสุขภาพดวงตา ผู้เข้ารับบริการควรเตรียมความพร้อมก่อนเข้ารับการตรวจวัดสายตาด้วย เช่น การนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำมากๆ หรือผู้ที่สวมใส่คอนแทคเลนส์ จำเป็นต้องถอดคอนแทคเลนส์ก่อนรับการตรวจอย่างน้อย 20 นาทีโดยเปลี่ยนเป็นการสวมแว่นสายตาแทน