5 วิธีสังเกตอาหารบูด เน่าเสีย แม้ว่าจะอยู่ในตู้เย็น

Home » 5 วิธีสังเกตอาหารบูด เน่าเสีย แม้ว่าจะอยู่ในตู้เย็น
5 วิธีสังเกตอาหารบูด เน่าเสีย แม้ว่าจะอยู่ในตู้เย็น

เชื่อว่าคุณจะต้องเคยรู้จัก หรือมีเพื่อนที่มีนิสัยแบบนี้อย่างน้อยๆ หนึ่งคน คือพวกที่ชอบเก็บอาหารเอาไว้ในตู้เย็นนานจนไม่คิดว่าจะยังกินได้อยู่ แต่คนๆ นั้นก็ยังหยิบออกมากินได้อย่างหน้าตาเฉย พร้อมกับบอกว่า “มันยังไม่เสีย ยังกินได้อยู่” ทั้งๆ ที่อาหารเหล่านั้นเก่าเก็บมาหลายสัปดาห์ หรือเผลอๆ อาจจะเป็นเดือน

อาหารที่แช่ในตู้เย็น ไม่ได้แปลว่าจะไม่บูดไม่เน่าเสมอไป หลายคนประสบปัญหา แยกไม่ออกว่าอันนี้บูดหรือยัง เน่าหรือยัง ยังทานได้อยู่หรือเปล่า Sanook! Health มีเคล็ดลับง่ายๆ มาให้ช่วยสังเกตอาหารเหล่านั้นกันค่ะ

 

  1. กลิ่นเปลี่ยนไป

วิธีสังเกตง่ายๆ ที่หลายคนมักจะใช้บ่อยๆ คือการดมกลิ่น วิธีนี้ง่าย และให้ผลที่ชัดเจนในระดับหนึ่ง โดยเฉพาะกับอาหารที่เปียกๆ มีน้ำ ไม่ใช่อาหารแห้ง เช่น นม โยเกิร์ต แกงต่างๆ กลิ่นที่เปลี่ยนไปก็อาจจะเหม็นเปรี้ยว เหม็นหืน เรียกง่ายๆ ว่ากลิ่นเปลี่ยนไปไม่เหมือนเดิมนั่นแหละ ถ้ากลิ่นไม่ผ่านก็อย่าทานเลย

ปล. แกงที่แช่เย็นจัดๆ ในตู้เย็น ดมกลิ่นตอนที่เย็นๆ อาจจะไม่ค่อยชัดเจน ลองเอาออกมาอุ่น หรือทิ้งไว้ให้หายเย็นแล้วค่อยลองดมใหม่ คราวนี้จะได้กลิ่นชัดขึ้น

 

  1. เนื้อสัมผัสเปลี่ยนไป

จากโยเกิร์ตที่เด้งดึ๋ง เนียนนุ่ม ตักง่าย กลายเป็นเนื้อแข็งๆ เป็นก้อนๆ ไม่เนียนละเอียดเหมือนเดิม ก็ให้สันนิษฐานได้เลยว่ามันเสียแล้ว นอกจากโยเกิร์ตก็อาจเป็นอาหารประเภทแกง อย่างแกงกะทิต่างๆ ที่อาจจะเนื้อข้น ติดช้อน มีฟอง รวมไปถึงข้าวที่จากเนื้อร่วนๆ เป็นเม็ดๆ อาจจะกลายเป็นข้าวแฉะๆ เหนียวๆ ไม่น่าทานเหมือนเดิม เป็นต้น

 

  1. พบสิ่งแปลกปลอมในถุง

ขออนุญาตเรียกรวมๆ ว่าสิ่งแปลกปลอม เพราะอันที่จริงแล้วเราหมายถึง “รา” แต่ราที่คุณเห็นในอาหารก็มีหลายชนิด หลายรูปร่าง ขนาด และสี ดังนั้นไม่ว่าสิ่งที่คุณเห็นจะลักษณะเป็นอย่างไร เป็นเยื่อๆ ใยๆ บางๆ เป็นก้อนๆ หรือเป็นสีเขียว สีดำ สีส้ม มีเหลือง ฯลฯ ตราบใดที่เป็นสิ่งแปลกปลอมที่มันไม่เคยอยู่ในหีบห่อนั่นๆ มาก่อน สันนิษฐานได้เลยว่าอาจเป็นเชื้อรา ทิ้งโลด

 

  1. รสชาติเปลี่ยนไป

คราวนี้หากไม่เห็นความผิดปกติของอาหารในมือเราเลย คงต้องถึงขั้นลองชิมแล้วล่ะค่ะ ชิมช้อนเล็กๆ ล่ะ อย่าชิมเยอะ หากสัมผัสได้ถึงรสชาติที่เปลี่ยนไป เนื้อสัมผัสที่ได้จากลิ้นเปลี่ยนไป ไม่ว่าจะเปรี้ยวๆ เหม็นๆ แหยะๆ ลื่นๆ ถ้าไม่ปกติเหมือนเดิมก็ทิ้งโลดเช่นกัน

 

  1. นับวันหมดอายุคร่าวๆ

มาถึงวิธีสุดท้ายสำหรับคนที่ประสาทสัมผัสไม่ได้เรื่องจริงๆ แยกไม่ออกทั้งจากตา จมูก ปาก ลองนึกถึงวันที่ซื้อมาทานวันแรก นับวันดูว่าวันนี้ผ่านไปกี่วันแล้ว อาหารแต่ละอย่างเวลาหมดอายุไม่เท่ากัน แต่หากเป็นอาหารที่มีส่วนผสมของนม เช่น นม โยเกิร์ต รวมถึงแกงกะทิ และอาหารที่มีส่วนผสมของแป้ง และน้ำตาลมากๆ เช่น ข้าวสวย ขนมจีน เค้ก เบเกอรี่ต่างๆ พวกนี้เก็บได้ไม่นาน หากนับวันแล้วเกิน 7 วัน เราแนะนำให้โยนทิ้งไปได้เลย รวมถึงผักผลไม้ที่เหี่ยวๆ ไม่เหมือนเดิม ก็ควรทิ้งเช่นกัน

สำหรับไข่ไก่ที่แช่ในตู้เย็น อาจจะต้องลองกะเทาะออกมาดูข้างใน ดมกลิ่ม และสังเกตสี และเนื้อสัมผัส ไข่สังเกตได้ง่าย หากไข่เน่าเสียกลิ่นจะแรงมาก ทนทานไม่ได้แน่นอน

 

เมืองไทยเป็นประเทศที่มีอากาศร้อนตลอดทั้งปี โดยเฉพาะช่วงหน้าร้อนก็จะยิ่งร้องเป็นพิเศษ สิ่งที่ตามมาช่วงหน้าร้อนมักจะเป็นเรื่องอาหารเน่าเสีย ทานแล้วจะทำให้ท้องเสีย ท้องร่วง หากทานเข้าไปสะสมมากๆ ก็อาจเป็นสาเหตุของมะเร็งกระเพาะอาหารได้เช่นกัน เพราะฉะนั้นระมักระวังกันให้ดีนะคะ

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ