5 นายกรัฐมนตรี ของประเทศไทย กับเส้นทางสู่การเป็น องคมนตรี

Home » 5 นายกรัฐมนตรี ของประเทศไทย กับเส้นทางสู่การเป็น องคมนตรี
5 นายกรัฐมนตรี ของประเทศไทย กับเส้นทางสู่การเป็น องคมนตรี

5 นายกรัฐมนตรี

เปิดทำความรู้จัก 5 นายกรัฐมนตรี ของประเทศไทย กับเส้นทางสู่การเป็น “องคมนตรี” ใครมาจากไหน เคยดำรงตำแหน่งอะไรมาบ้าง ดูเลย!

วันที่ 30 พฤศจิกายน 2566 มีรายงานว่า เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ประกาศแต่งตั้งองคมนตรี ระบุข้อความว่า “พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม” ให้ประกาศว่า ตามที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งองคมนตรีตามประกาศ ลงวันที่ 21 ตุลาคม พุทธศักราช 2565 แล้วนั้น บัดนี้ ทรงพระราชดำริเห็นเป็นการสมควรแต่งตั้งองคมนตรีเพิ่มขึ้น อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 10 และมาตรา 11 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็น องคมนตรี ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ประกาศ ณ วันที่ 29 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2566 เป็นปีที่ 8 ในรัชกาลปัจจุบัน

องคมนตรี (2)

องคมนตรี คืออะไร

คณะองคมนตรี เป็นคณะที่ปรึกษาที่ได้รับการแต่งตั้งขึ้นเพื่อถวายคำแนะนำแก่พระมหากษัตริย์ไทย องคมนตรีตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยกำหนด จะต้องมีสมาชิกจำนวนไม่เกิน 18 คน ประธานองคมนตรีคนปัจจุบันคือ พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ อดีตนายกรัฐมนตรีไทยคนที่ 24 อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุดและอดีตผู้บัญชาการทหารบก ดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 27 พฤษภาคม 2562 ภายหลังการถึงแก่อสัญกรรมของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ โดยพระมหากษัตริย์มีพระราชวินิจฉัยในการแต่งตั้งสมาชิกองคมนตรีทั้งหมด สำนักงานองคมนตรีอยู่ที่ทำเนียบองคมนตรี เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร

โดย ตามพระราชกฤษฎีกา เงินประจำตำแหน่งขององคมนตรีและรัฐบุรุษ พ.ศ.2551 มาตรา 4 ระบุว่า ให้ประธานองคมนตได้รับเงินประจำตำแหน่งเป็นรายเดือน เดือนละ 121,990 บาท ให้องคมนตรีอื่นได้รับเงินประจำตำแหน่งเป็นรายเดือน เดือนละ 112,250 บาท นอกจากนี้ มาตราที่ 5 ระบุว่า ให้ผู้ซึ่งมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ยกย่องไว้ในฐานะรัฐบุรุษ ได้รับเงินประจำตำแหน่งเป็นรายเดือน เดือนละ 121,990 บาท

  • องคมนตรี คืออะไร บทบาทหน้าที่เป็นอย่างไร หลัง ลุงตู่ ได้รับตำแหน่ง
  • สุกรี ทำนายชะตาลุงตู่ เป็น องคมนตรี ตั้งแต่ปี 53 วันนี้เป็นจริงแล้ว
  • ธนกร เผยคำพูด ลุงตู่ หลังถูกแต่งตั้งเป็น องคมนตรี ฝากถึงคนอื่นแบบนี้

ทำความรู้จัก 5 นายกรัฐมนตรี สู่การเป็น “องคมนตรี”

จากการสืบค้นข้อมูล องคมนตรีไทย ที่ผ่านมา พบมี 5 รายชื่อ ที่เคยดำรงตำแหน่งประมุขฝ่ายบริหาร หรือ นายกรัฐมนตรี ของประเทศไทยมาก่อน ซึ่งหลังจากพ้นตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ก็ได้รับการแต่งตั้งเป็น องคมนตรี ในเวลาต่อมา โดยทั้ง 5 รายชื่อ มีรายละเอียดดังนี้

5 นายกรัฐมนตรี (1)

ศาสตราจารย์ สัญญา ธรรมศักดิ์
เป็นนักกฎหมายและนักการเมืองชาวไทย เคยดำรงตำแหน่งประธานศาลฎีกา, คณบดีคณะนิติศาสตร์ และอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กรรมการข้าราชการพลเรือนผู้ทรงคุณวุฒิ, ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ปลัดกระทรวงยุติธรรม รองประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ, ได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีไทยคนที่ 12 และได้รับพระราชทานแต่งตั้งเป็นประธานองคมนตรี
– ปี 2511 ได้รับการแต่งตั้งเป็น “องคมนตรี”
– ปี 2516 ลาออกจาก “องคมนตรี” เพื่อไปดำรงตำแหน่ง “นายกรัฐมนตรี” ต่อจาก จอมพลถนม กิตติขจร
– ปี 2518 พ้นจากตำแหน่ง “นายกรัฐมนตรี”
– ปี 2518 ได้รับการแต่งตั้งเป็น “องคมนตรี” (ครั้งที่ 2)
– ปี 2518 ได้รับการแต่งตั้งเป็น “ประธานองคมนตรี”

5 นายกรัฐมนตรี (5)

ศาสตราจารย์ธานินทร์ กรัยวิเชียร
เกิด 5 เมษายน พ.ศ. 2470 จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาจากโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย รุ่น พ.ศ.2479 ต่อมาในปี พ.ศ. 2491 ได้ไปศึกษาวิชากฎหมายต่อที่ ณ วิทยาลัยเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์แห่งลอนดอน มหาวิทยาลัยลอนดอน สหราชอาณาจักร และ พ.ศ. 2496 เนติบัณฑิตอังกฤษจาก สำนักอบรมศึกษากฎหมายของเนติบัณฑิตยสภา สำนักเกรย์สอินน์ ประเทศอังกฤษ เป็นอดีตองคมนตรีและผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานองคมนตรี อดีตผู้ปฏิบัติหน้าที่ประธานองคมนตรี และนายกรัฐมนตรีไทยคนที่ 14
– ปี 2519 ดำรงตำแหน่ง “นายกรัฐมนตรี” ต่อจาก พลเรือเอก สงัด ชลออยู่
– ปี 2520 พ้นจากตำแหน่ง “นายกรัฐมนตรี”
– ปี 2520 ได้รับการแต่งตั้งเป็น “องคมนตรี”
– ปี 2559 ปฏิบัติหน้าที่แทน “ประธานองคมนตรี” เนื่องจากพลเอกเปรม ไปเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

5 นายกรัฐมนตรี (3)

พลเอกเปรม ติณสูลานนท์
เกิดเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2463 เป็นนักการเมืองและนายทหารชาวไทย เริ่มต้นดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก ก่อนได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และนายกรัฐมนตรีไทยคนที่ 16 (ตั้งแต่ พ.ศ. 2523–2531) หลังจากนั้นเป็นประธานองคมนตรี รัฐบุรุษ และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวช่วงระยะหนึ่งใน พ.ศ. 2559
– ปี 2523 ดำรงตำแหน่ง “นายกรัฐมนตรี” ต่อจาก พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์
– ปี 2531 พ้นจากตำแหน่ง “นายกรัฐมนตรี”
– ปี 2531 ได้รับการแต่งตั้งเป็น “องคมนตรี”
– ปี 2531 ได้รับการแต่งตั้งเป็น “รัฐบุรุษ”
– ปี 2541 ได้รับการแต่งตั้งเป็น “ประธานองคมนตรี”
– ปี 2559 เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

5 นายกรัฐมนตรี (4)

พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์
เกิด 28 สิงหาคม พ.ศ. 2486 เป็นทหารบกและนักการเมืองชาวไทย ประธานองคมนตรีคนปัจจุบัน นายกรัฐมนตรีไทยคนที่ 24 จากการแต่งตั้งโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ภายหลังเหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ. 2549 เเละรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
– ปี 2549 ดำรงตำแหน่ง “นายกรัฐมนตรี” ต่อจาก พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน
– ปี 2551 พ้นจากตำแหน่ง “นายกรัฐมนตรี”
– ปี 2559 ได้รับการแต่งตั้งเป็น “องคมนตรี”
– ปี 2563 ได้รับการแต่งตั้งเป็น “ประธานองคมนตรี”

5 นายกรัฐมนตรี (2)

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา
เกิด 21 มีนาคม พ.ศ. 2497 ชื่อเล่น ตู่ เป็นทหารบกและนักการเมืองชาวไทย องคมนตรี อดีตนายกรัฐมนตรีไทยคนที่ 29 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารบก และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ซึ่งก่อรัฐประหาร พ.ศ. 2557 และเป็นคณะรัฐประหารที่ปกครองประเทศไทย ตั้งแต่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 จนถึง 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2562 เป็นระยะ 5 ปี 1 เดือน 3 สัปดาห์ 3 วัน
– ปี 2557 ดำรงตำแหน่ง หัวหน้า คสช. ทำการรัฐประหาร
– ปี 2557 ดำรงตำแหน่ง “นายกรัฐมนตรี” ต่อจาก “การทำรัฐประหาร”
– ปี 2562 ดำรงตำแหน่ง “นายกรัฐมนตรี” จากการเลือกตั้ง ต่อจาก “การทำรัฐประหาร”
– ปี 2566 พ้นจากตำแหน่ง “นายกรัฐมนตรี”
– ปี 2566 ได้รับการแต่งตั้งเป็น “องคมนตรี”

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ